การจัดการด้านบุคลากร

 
PeopleConsultการค้าเสรี ความคาดหวังของลูกค้าที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจน ความคาดหวังของบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไป … สิ่งสำคัญเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบาย แผนงาน กลยุทธ์ ในการบริหารจัดการองค์กรที่ต้องมีการปรับปรุง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ความสำคัญกับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีในองค์กร เสมือนเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของการดำเนินงานอย่างยั่งยืน

องค์กรของท่านมีความมั่นใจเพียงใด กับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลปัจจุบัน ในการเพิ่มขีดความสามารถด้าน สรรหา จูงใจผู้ร่วมงานที่มีคุณภาพ ธำรงรักษาให้พนักงาน ที่มีทั้งความสามารถ และศักยภาพสูงอยู่ร่วมทำงานให้กับองค์กรต่อไป ตลอดจนมีความมั่นใจเพียงใดต่อการส่งเสริม การเรียนรู้ การศึกษา การพัฒนาพนักงาน ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนต่อความสำเร็จขององค์กรตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนบริหารทรัพยากรบุคคล สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้บริการด้านการฝึกอบรมพัฒนาพนักงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร ในด้านพัฒนาทักษะการบริหารจัดการ ตลอดจนการบริการปรึกษาแนะนำการพัฒนาระบบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยรวม ในด้านต่างๆ ตามความเหมาะสม กับสภาพปัญหา และความต้องการของแต่ละองค์กร โดยมุ่งเน้นที่จะให้บริการอย่างมีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ

การให้บริการปรึกษาแนะนำ ด้านการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล (Consulting)

1. การสำรวจความคิดเห็น/ความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Opinion Survey) และจัดทำแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Master Plan) การสำรวจด้านปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจในการทำงานมีความสำคัญต่อการวางแผนการบริหารทรัพยากรบุคคล องค์กรจะทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงาน การพัฒนาตนเอง และการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการบริหารทรัพยากรบุคคล แผนแม่บทการบริหารทรัพยากรบุคคล ถือเป็นแนวทางหลักที่จะพัฒนากระบวนการบริหารจัดการบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจ และเป้าหมายขององค์กร

2. Competency Model และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ เพื่อสำรวจและกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน/พัฒนาบุคลากรขององค์กร ได้แก่ สมรรถนะหลัก ( Core Competency) สมรรถนะด้านบริหาร (Management Competency) และสมรรถนะตามสายงาน ( Functional Competency) ของตำแหน่งงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน เช่น การสรรหาพนักงาน การกำหนดค่าตำแหน่งงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การวางแผนความก้าวหน้าในวิชาชีพ ตลอดจนการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงาน ผู้บริหาร และหัวหน้างานขององค์กรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Competency และแนวคิด วิธีการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการบริหารงานบุคคล ขององค์กร

3. การจัดทำใบพรรณนาลักษณะงาน ( Job Description ) ที่เป็นมาตรฐาน และตัวชี้วัดประจำตำแหน่งงาน เพื่อให้องค์กรมีใบพรรณนาลักษณะงาน ของตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กรที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบงานบริหารบุคคลขององค์กร เช่น การสรรหาคัดเลือกพนักงาน การมอบหมายงาน การประเมินค่างาน การบริหารค่าตอบแทน ฯลฯ เป็นต้น ผู้บริหาร หัวหน้างาน พนักงานได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการ ในการจัดทำใบกำหนดหน้าที่งานที่ถูกต้อง ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานประจำวัน อาจเพิ่มเติมตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน (KPI) ของตำแหน่งงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในเรื่องเป้าหมาย ความคาดหวัง ในการทำงาน ต่างๆของพนักงาน ตลอดจนการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความคาดหวังขององค์กร

4. การพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ( Performance Management System) ออกแบบระบบเพื่อวัดผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจและแนวคิดการบริหารผลงานสมัยใหม่ จัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ตลอดจนจัดทำคู่มือการประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับเป็นแนวทางการบริหารจัดการระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ในแนวคิด ความสำคัญของการประเมินผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานให้กับพนักงาน

5. การสำรวจหาความจำเป็น และจัดทำแผนฝึกอบรม พัฒนาพนักงาน ( Training Roadmap & Plan ) เพื่อกำหนดแผนการฝึกอบรมระยะสั้นและระยะยาว ( Training Roadmap) ที่สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจ และตรงกับความต้องการของพนักงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารในการที่ต้องการได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทั้งในปัจจุบัน และพร้อมต่อการแข่งขันในอนาคต

6. การประเมินค่าตำแหน่งงาน ( Job Evaluation ) และการจัดระดับตำแหน่งงาน( Job Grading ) เพื่อให้ทราบถึงค่าความสำคัญของตำแหน่งงานต่างๆ ภายในองค์กร ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดระดับตำแหน่งงาน การบริหารค่าจ้าง สวัสดิการ

7. การจัดทำ ปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนพนักงาน ( Salary Structure ) เพื่อให้องค์กรมีโครงสร้างเงินเดือนที่เหมาะสมกับรูปแบบการบริหารจัดการ และ สอดคล้องกับตลาดแรงงานในอุตสาหกรรม/ธุรกิจประเภทเดียวกัน สามารถบริหารค่าตอบแทน เงินเดือน สวัสดิการพนักงานในระดับต่างๆได้อย่างเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และความสำคัญของแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อช่วยให้องค์กรมีนโยบาย แนวทาง ระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนในการที่จะ บริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานในกรณีต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างเริ่มต้น การปรับค่าจ้างประจำปี การปรับค่าจ้างกรณีเลื่อนตำแหน่งงาน การปรับค่าจ้างเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น

8. การจัดทำ ปรับปรุง ระเบียบข้อบังคับการทำงานฯ หรือ คู่มือพนักงาน เพื่อให้องค์กรมีระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯ ที่เหมาะสมกับประเภท ลักษณะการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ ของกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ของผู้บริหาร และหัวหน้างานทุกระดับในองค์กรในการที่จะดูแลพนักงานตามแนวทางปฏิบัติที่ระเบียบข้อบังคับฯ กำหนด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และอย่างมีประสิทธิภาพ

9. การวางแผนสื่อสารภายในองค์กร (Communication Plan) แผนการสื่อสารภายในองค์กรเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแผนบริหารความเปลี่ยนแปลง ( Change Management) การสร้างวัฒนธรรมองค์กร แผนการสือสารจึงต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กร ส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี และมีตัวชี้วัดประสิทธิผลที่ชัดเจน

10. การสร้างค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร ( Core Value , Organization Culture ) การกำหนดค่านิยมองค์กรเพื่อใช้ในการกำหนดพฤติกรรมบุคลากรที่ส่งเสริมความสำเร็จขององค์กร สร้างสัมพันธภาพต่อผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรมีแนวทางการสร้างวัฒนธรรมตามค่านิยมที่กำหนดเป็นพื้นฐานในการกำหนดและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรต่อไป

11. การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และวิทยากรภายในบริษัท องค์กรมีวิทยากรภายในที่มีทักษะในการถ่ายทอดที่ดี มีคู่มือผู้สอนสำหรับหลักสูตรภายใน บริษัทได้หลักสูตรมาตรฐานของบริษัท ประมาณ 5 – 6 หลักสูตร และวิทยากรภายในประจำแต่ละหลักสูตร

 



สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือหลักสูตรอื่นๆ ที่สนใจ 
ได้ที่คุณขนิษฐา คงประเสริฐลาภ 
ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โทรศัพท์  (02) 619-5500 ต่อ 586
โทรสาร   (02) 619-8090 

mailto: [email protected]