31 August 2016

pokemon

“อาจารย์ครับ เกมส์โปเกมอนโก ทำให้โรงแรมของผมเป็นที่รู้จัก เพราะมีคนจำนวนมากไปตามจับบริเวณหน้าโรงแรม” ลูกชายเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย เล่าให้ผมฟังในระหว่างสัมมนา หัวข้อ Business Model Canvas ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ผมรู้สึกชื่นชมในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่เห็น “โอกาส” จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย มากกว่าการเล่นเพื่อสร้างความบันเทิงไปตามกระแส หรือมองเป็นกิจกรรมไม่ให้สาระกับชีวิตของคนจำนวนหนึ่งที่โตมาในช่วงโปเกมอนถือกำเนิด จึงไม่พยายามที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์หลากหลาย

นับตั้งแต่ เกมส์โปเกมอนโก เข้ามาในเมืองไทย มักจะได้ยินคำเตือนมากมายถึงอันตราย รวมถึงข้อแนะนำในการเล่นจากสื่อทุกประเภท แต่แทบจะไม่ได้ยินสื่อพูดถึงแนวคิดและเทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้พัฒนาเกมส์นี้จนคนทั่วโลกติดกันงอมแงม ทั้งๆที่เป็นโอกาสดีในการได้เรียนรู้วิธีคิดสร้างสรรค์คุณค่าแปลกใหม่จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ และรับรู้ถึงคุณประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความกระหายที่จะคิดค้นนำเสนอนวัตกรรม เช่น การผสมผสานข้อมูลแผนที่เข้ากับระบบนำทาง GPS ที่รู้จักกันดี แต่อาจไม่เคยคิดว่าจะสามารถนำมาใช้สร้างความแปลกใหม่ในการเล่นเกมส์ ทำให้เกิดประสบการณ์ที่แตกต่างจากการเล่นเกมส์อยู่ในจอ นั่งอยู่กับที่ ไปสู่การค้นหาในสถานที่จริง ซึ่งต้องสร้างภาพกราฟิกซ้อนบนภาพจริงจากกล้องมือถือด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพเสมือนจริง Augmented Reality (AR) ตัวอย่างภาพของโปเกมอนที่ลอยอยู่ในบนหน้าจอมือถือ ซ้อนทับด้วยภาพสถานที่จริง และมีการเคลื่อนไหวไปมาเหมือนมีชีวิต ทำให้เห็นว่าโลกดิจิตอลและโลกแห่งความจริงเริ่มแยกออกจากกันได้ยาก คล้ายๆกับที่บางคนแยกโลกของจินตนาการหรือความฝัน ออกจากโลกของความจริงไม่ได้

นอกจากนี้การสร้างสถานที่พิเศษลงในแผนที่จริง ที่เรียกว่า PokéStops สำหรับให้ผู้เล่นได้แวะพัก และ PokéGyms ที่เปิดเป็นสถานที่ต่อสู้ของโปเกมอนที่จับได้ ก็เป็นรูปแบบการสร้างจินตนาการลงบนโลกแห่งความจริงที่ผู้คนคุ้นเคย ทำให้แผนที่ในเกมส์โปเกมอน มีความแตกต่างจาก Google map ที่ถูกจำกัดด้วยอาคาร สถานที่ ถนนหนทาง รวมถึงการจราจร ที่ล้วนเป็นข้อมูลจริง ซึ่งตอบความต้องการลึกๆของผู้คนที่อาจอยากเห็น สถานที่แปลกๆ อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือเปลี่ยนสถานที่จริงบางแห่งให้เป็นรูปแบบในจินตนาการ เรียกได้ว่า เป็นการผสมผสานสมองทั้งซ้ายและขวาเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 15 ปีที่เทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้น ตั้งแต่เริ่มใช้ในด้านการทหารทั้งสร้างแบบจำลองการรบ หรือการซ่อมบำรุงอากาศยาน จนกระทั่งนำมาพัฒนาเกมส์ Chromaroma เล่นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนำไปใช้ในอีกหลากหลายรูปแบบการใช้งาน แต่เทคโนโลยีนี้ก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ และได้รับความสนใจไม่มากนัก เนื่องจากขาดการบอกล่าวถึง คุณประโยชน์ที่จำเป็นต่อลูกค้า โดยเฉพาะสื่อสารให้เห็นการเชื่อมโยงของโลกแห่งความเป็นจริงและจินตนาการ ที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้สนใจ กระหายที่จะเรียนรู้ เช่น การนำเสนอฉากที่เกิดขึ้นในภาพยนต์เรื่องต่างๆ ซ้อนทับบนสถานที่จริง ทำให้เกิดความตื่นเต้น เพิ่มความน่าสนใจให้กับสถานที่ท่องเที่ยวยิ่งขึ้น หรือการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้ชมขบวนพาเหรดผ่านรูปแบบเสมือนจริง ในขณะเที่ยวเล่นในสวนสนุกของดีสนีย์ทำให้ลูกค้าอยากเข้าชมของจริง จึงยอมจ่ายค่าเข้าชมเพิ่มขึ้น รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ควบคุมการทานยาของผู้สูงอายุ ให้ปรากฏภาพเสมือนวิธีการทานขณะเปิดขวดยาก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ยา เป็นต้น

ด้วยความโด่งดังของ เกมส์โปเกมอนโก จะช่วยให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้น จากการให้ความรู้และความเข้าใจ รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ตอบความต้องการเห็นสิ่งที่คิดฝันเกิดขึ้นในโลกความจริงผ่านการเล่นเกมส์ ที่สามารถเชื่อมระหว่างโลกสองใบได้เป็นหนึ่งเดียว และสื่อสารประเด็นเหล่านี้ต่อผู้ใช้ให้เกิดการรับรู้ว่าเทคโนโลยีมีความจำเป็นและเกิดคุณค่ากับการใช้ชีวิตอย่างไร นอกจากแสดงความล้ำสมัย ก็จะทำให้เทคโนโลยีนั้นได้รับการเชื่อมั่นจากผู้ใช้ จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ

ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ใช้เทคโนโลยีมองเห็น “โอกาส” ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบธุรกิจ STARTUP ที่ผู้ริเริ่มต้องสามารถมองเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีอย่างชัดเจน ในมุมมองที่หลากหลาย และต้องสามารถนำจุดเด่นของเทคโนโลยีนั้นมาสื่อสารให้ผู้ใช้งานเกิดการยอมรับถึงความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็จะทำให้ “โอกาส” ที่มองเห็นนั้นเกิดขึ้นได้จริง โปเกมอนโกจึงเป็นมากกว่าเกมส์ ที่แค่เล่นสนุกไปวันๆ แต่ให้ “โอกาส” ที่เรามองเห็น หรือ มองข้าม

ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ