20 June 2016

donation

แต่ละประเทศในโลกมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของกฎหมาย เว็บไซต์ theguardian.com ได้เล่าถึงประเทศฝรั่งเศสที่ออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารเหลือ… เรื่องราวเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ แล้วชาวฝรั่งเศสจะมีทางออกสำหรับเรื่องนี้อย่างไร…

ฝรั่งเศสนับเป็นชาติแรกในโลกที่มีกฎหมายสั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งหรือทำลายอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย แต่ให้นำอาหารเหล่านั้นไปบริจาคองค์กรการกุศลและธนาคารอาหาร โดยกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านมติอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส ในการกำหนดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตห้ามทิ้งอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายและยังมีคุณภาพดี โดยอาหารเหล่านี้ องค์กรการกุศลสามารถนำไปแจกจ่ายให้แก่คนที่เดือดร้อนประทังชีวิตได้อีกมาก โดยกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังจากการรณรงค์เพื่อผู้มีรายได้น้อยในฝรั่งเศส โดยบรรดาเจ้าของร้านค้า กลุ่มนักรณรงค์ต่อต้านความยากจน รวมถึงผู้ไม่เห็นด้วยกับการทิ้งอาหาร และจากการผลักดันของ นายอาราช เดเรมบาร์ช สมาชิกเทศมนตรีเมืองคูร์เบอวัว นำไปสู่การยื่นคำร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร โดย นายกีโยม แกโรต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอาหาร จนผ่านการพิจารณาเป็นกฎหมายในที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือน นักศึกษา คนว่างงาน และ คนไร้บ้าน ในฝรั่งเศส ที่ต้องหาอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตในยามค่ำคืนเพื่อประทังชีวิต ในขณะที่อาหารที่ยังกินได้ กลับถูกทิ้งขว้างมากมาย เพียงเพราะว่ามันใกล้หมดอายุแล้ว โดยในแต่ละปีนั้น จะมีอาหารที่ถูกทิ้งมากถึง 1.3 พันล้านตันทั่วโลก เฉพาะในประเทศฝรั่งเศส มีขยะอาหารราว  7.1 ล้านตัน โดย 67% เป็นอาหารเหลือจากผู้บริโภค 15% จากร้านอาหาร และ 11% จากร้านค้า

ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง จะใช้วิธีการราดน้ำยาฟอกขาวลงบนอาหารเหลือที่ทิ้งลงในถังขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้คนนำไปกิน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ และผู้ทิ้งจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย  ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง จงใจเก็บอาหารที่เหลือเก็บไว้ในโกดัง เพื่อรอให้รถขนขยะมาเก็บไป แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว จะมีผลบังคับให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดพื้นที่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องลงนามในสัญญาบริจาคอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายและยังมีคุณภาพดี ให้แก่ธนาคารอาหารและองค์กรการกุศล มิฉะนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยเจ้าของสถานประกอบการจะต้องรับโทษปรับเป็นเงินสูงสุด 75,000 ยูโร (ราว 3 ล้านบาท) หรือจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 2 ปี  ในส่วนของ คาร์ฟูร์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ระบุว่า ยินดีที่จะทำตามกฎหมายใหม่นี้ ที่จะทำให้เกิดการบริจาคอาหาร อันเป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตของตนดำเนินการอยู่แล้ว

กฎหมายนี้ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากธนาคารอาหาร โดยธนาคารอาหารและองค์กรการกุศล ถือเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งขององค์กร ที่จะรวบรวมและจัดเก็บอาหารในสภาพที่ถูกสุขอนามัย และมีขั้นตอนปฏิบัติในการแจกจ่ายให้ผู้มารับบริจาคอย่างคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยขณะนี้ ธนาคารอาหารได้เริ่มต้นภารกิจในการหาอาสาสมัครพิเศษ รถบรรทุก โกดังเก็บสินค้า รวมถึงตู้แช่เย็นอาหาร ในการบริหารจัดการอาหารที่ร้านค้าและบริษัทอาหารจะบริจาคให้  โดย นายฌาค เบลเยต์ จาก บังค์ อาลีมองแตร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของธนาคารอาหารฝรั่งเศสได้กล่าวถึงกฎหมายนี้ว่า เป็นสิ่งที่ดีมากที่จะทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่เหลือมาบริจาคเพิ่มขึ้น เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตมีภาระผูกพันจากการลงนามข้อตกลงกับองค์กรการกุศลที่จะบริจาคอาหารที่เหลือจำหน่าย ซึ่งจะทำให้ธนาคารอาหารได้รับอาหารที่มีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดความสมดุลทางโภชนาการ ซึ่งปกติอาหารที่ธนาคารอาหารได้รับบริจาคส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ แต่ขาดแคลนพวกผักและผลไม้

กฎหมายฉบับนี้ ยังช่วยลดขั้นตอนในการบริจาคอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ส่วนเกินบางส่วนให้แก่ธนาคารอาหาร ซึ่งก่อนมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา ถ้าโรงงานนมที่ใช้ในการทำโยเกิร์ตที่เป็นแบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ต ประสงค์จะบริจาคผลิตภัณฑ์ จะต้องใช้เวลานานและมีกระบวนการที่ซับซ้อน แต่ในตอนนี้ กระบวนการต่างๆรวดเร็วและง่ายขึ้น ทำให้ผู้รับบริจาคได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง

ปัจจุบันธนาคารอาหารฝรั่งเศสได้รับอาหารบริจาคแล้ว 100,000 ตัน โดย 35,000 ตัน ได้มาจากการบริจาคของซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ผู้รณรงค์ยังหวังผลในวงกว้างว่าจะสามารถโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปบังคับใช้กฎหมายเดียวกันนี้กับทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น

ผู้รณรงค์ยังจะขยายผลไปยังการจัดการอาหารที่เหลือจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และ โรงอาหาร อีกด้วย




Writer

โดย ณัฐพร สิริลัพธ์

รักษาการ หัวหน้าแผนกบริการกลาง แผนกบริการกลาง
สำนักผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ