8 February 2016

productivity1

กระแสข่าวการทบทวนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเดินหน้าของเมกกะโปรเจ็ครถไฟฟ้าหลายสาย สภาพเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในบรรยากาศซึมเซาจนรัฐบาลต้องออกมากระตุ้นด้วยมาตรการคืนภาษีให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงปีใหม่

สถานการณ์ดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนว่าภาครัฐต้องหันมาทบทวนการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การปฏิบัติงานในทุกองคาพยพนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย แต่รัฐมีภารกิจหลายประการที่ต้องทำในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข การพัฒนาปัจจัยด้านสาธารณูปโภครองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ

ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

เชื่อว่าความท้าทายดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะบ้านเรา แต่เกือบทุกประเทศตกในสภาพไม่ต่างกัน ประเทศที่มีไหวตัวทัน มีพื้นฐานในการบริหารจัดการที่ดี ก็ย่อมจะรอดจากสภาวะล้มละลายเหมือนที่หลายประเทศเผชิญอยู่

ทางรอดทางหนึ่งที่นำมาใช้กันก็คือการนำแนวคิด Productivity เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ โดยการเริ่มต้นที่การวัด Productivity ของการทำงานหน่วยงานภาครัฐ

การวัด Productivity ก็คือ การวัดประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการนำเอาผลที่ได้รับ (Output)  หารด้วยปัจจัยที่ป้อนเข้าหรือทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินการ (Input) ไม่ว่าจะเป็นคน งบประมาณ อุปกรณ์ต่างๆ ถ้าผลที่ได้มากกว่าทรัพยากรที่ใช้ไปก็แสดงว่าการทำงานนั้นมีผลิตภาพหรือProductivity ในระดับสูง

ความยากของการวัด Productivity ในภาครัฐอยู่ตรงที่ว่าเป้าหมายหรือภารกิจนั้นจับต้องและวัดได้ยาก มักจะเป็นผลเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรม เช่น ความผาสุก คุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาวะของประชาชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ภารกิจของแต่ละหน่วยงานก็หลากหลายและแตกต่างกัน จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแนวคิดในการวัด Productivity ภาครัฐ ซึ่งหลายประเทศมีการนำไปใช้อย่างได้ผล นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยประเทศที่มีการนำไปใช้แล้วก็คือ อังกฤษ ฟินแลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย และล่าสุดมาเลเซียก็ได้เอารูปแบบนี้มาทดลองใช้แล้ว

ที่ผ่านมาการวัดผลในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จะวัดในกระบวนการทำงานเท่านั้น เช่น ความรวดเร็วในการให้บริการ ความพึงพอใจของผู้รับบริการ เป็นต้น การวัดในลักษณะนี้อาจสามารถวัดประสิทธิภาพได้ แต่ยังไม่ได้สะท้อน Productivity ในการทำงานแต่อย่างใด เพราะการวัด Productivity นั้น ให้ความสำคัญกับต้นทุนหรือ Input ที่ใช้ในกระบวนการ ดังนั้นแม้ว่าหน่วยงานนั้นวัดผลความพึงพอใจของผู้รับบริการได้ในระดับสูงก็ตาม แต่เมื่อเอา Input มาหารด้วย Output แล้วผลปรากฏว่ามีการใช้ทรัพยากรสูงกว่าผลที่ได้รับ หรือไม่คุ้มค่า ก็ควรต้องมีการทบทวนแล้วออกแบบกระบวนการใหม่ เพื่อให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ให้ได้ผลมากขึ้น และเนื่องจากในแนวคิดนี้ มีหลักการสำคัญคือ การทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน และทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ การวัด Productivity จึงต้องทำทุกครั้งที่จบกระบวนการเพื่อหาวิธีการทำงานใหม่ที่จะทำให้ Productivity สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การสร้าง Productivity จึงต้องมีนวัตกรรมในกระบวนการทำงานด้วย

ตัวอย่างง่ายๆ ในการวัด Productivity ในหน่วยงานภาครัฐที่ประเทศต่างๆ ทำอยู่ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะวัดผลผลิต (Output) จากจำนวนนักเรียนที่อยู่ในระบบในแต่ละปี แล้วหารด้วยทรัพยากรที่ป้อนเข้าไป (Input) ซึ่งก็คือ ครู บุคลากร และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

จากการวัดดังกล่าว ผลที่คาดว่าจะได้รับก็คือ การบรรลุเป้าหมายที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการในอนาคตของภาครัฐได้ดี เพราะหลายหน่วยงานมีแนวโน้มในการลดอัตราในตำแหน่งข้าราชการอยู่แล้ว โดยหาทางเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาศักยภาพของคน การใช้เทคโนโลยี

ในงานบางงานเมื่อวัดได้แล้ว อาจจะพบว่าสามารถลดจำนวนคน และงบประมาณลงไป แล้วนำไปสร้างงานใหม่ที่มีคุณค่ามากขึ้น ก่อนอื่นจึงต้องปรับทัศนคติในการนำเครื่องมือนี้ไปใช้ ว่าไม่ใช่การวัดเพื่อจับผิด หรือเพื่อตัดทอนกำลังคนหรืองบประมาณของหน่วยงานนั้น แต่ทำให้เกิดการใช้คนและงบประมาณอย่างมีคุณค่ามากกว่าเดิม

ในการตั้งโจทย์เพื่อวัด Productivity นี้จึงต้องทำความเข้าใจกับบริบทของงานก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อเลือกผลที่จะวัดให้มีความชัดเจน มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรที่ใส่เข้าไป การใช้ข้อมูลที่เป็นจริงจึงมีความสำคัญ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ต้องมีการปรับทัศนคติผู้บริหารภาครัฐที่มักจะมีข้อมูลลับอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพในการทำงานได้ตรงตามความเป็นจริง

เมื่อวัดไม่ได้ก็ปรับปรุงไม่ได้ เหมือนเป็นโรคร้ายที่ไม่มีการรักษาอย่างถูกต้อง นับวันก็ยิ่งเกิดอาการเรื้อรังยากจะเยียวยา

จึงนับว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องลงมือวัด Productivity อย่างจริงจัง ก่อนจะปลูกฝังแนวคิดนี้เป็น DNA ของชาติเพื่อความยั่งยืนในอนาคตต่อไป

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น