15 July 2021

สู่ยุคใหม่ด้วย Logistics and Supply Chain ที่ทันสมัย

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

เราจะมีวิธีการจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management) อย่างไรที่ไม่ใช่แค่ Standard แต่ต้อง Smart ให้ได้ในยุค New Normal นี้ ยิ่งการค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตมากขึ้นเท่าใด การส่งมอบยิ่งต้องพัฒนาเติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น เพราะหนึ่งในความต้องการที่เหมือนกันของลูกค้าคือ การจัดส่งที่รวดเร็ว จากเดิมที่เป็น 7 วัน 14 วัน หรือยาวนานเป็นเดือน ปัจจุบันตัวชี้วัดเหล่านี้สั้นลง เราจึงมักได้ยินคำว่า next day คือสั่งวันนี้ พรุ่งนี้ได้รับของ หรือ same day คือสั่งวันนี้ ได้รับของวันนี้ นี่ยังไม่นับรวมถึง Food Delivery ที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากในยุคไวรัส Covid-19 แพร่ระบาด นับตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ที่ร้านอาหารแทบทุกประเภทและทุกขนาด (ตั้งแต่ร้านอาหารดัง ร้านอาหารสาขา จนถึงร้านรถเข็น) ที่มีบริการส่งอาหารแบบรวดเร็วในเวลาไม่เกิน 30 นาที (สำหรับระยะใกล้ ไม่เกิน 10 กิโลเมตร) หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง (สำหรับระยะไกล เกิน 10 กิโลเมตร)

การแข่งขันในการส่งมอบอย่างรวดเร็วถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลานี้ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างมากจากพลังความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจุดพิกัดสถานที่จัดส่ง การสืบค้นตำแหน่งที่แสดงออกมาในรูปของแผนที่เพื่อระบุจุดพิกัดของสถานที่จัดส่ง การคำนวณเส้นทางการขนส่งไปในหลายๆจุดของรถขนส่งแต่ละคันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ตลอดจนการตรวจติดตามการเคลื่อนที่ของยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งแต่ละคันทั้งที่ผ่านเครือข่ายสัญญาณดาวเทียมและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Truck) รถบรรทุกขนาดเล็ก (One-Ton pickup) จนถึงการส่งด้วยจักรยานยนต์ ​(Auto-Bike) เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ตำแหน่งตามเส้นทาง เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือพัฒนาการของระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานแบบใหม่ ที่ทลายกรอบความคิดแบบเดิมที่มองแบบแยกส่วน สู่มุมมองใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น (Paradigm shift) จากการมุ่งเน้น Function (แผนกใครแผนกมันแยกการทำงานจากกัน) เป็น Process (เน้นการบูรณาการส่งต่องานกันเป็นทอด ๆ จากต้นจนถึงปลาย) จาก Profit (ที่เน้นกำไรจากสินค้าและบริการ โดยให้มีต้นทุนต่ำสุด) เป็น Performance (ให้ความสำคัญกับสมรรถนะโดยรวม และถือว่าผลประกอบการจะต้องมาจากทุกส่วนช่วยกัน) จาก Product (มุ่งเน้นที่ตัวสินค้า) เป็น Customer (ตอบสนองทุกความต้องการ และพยายามจะเติมเต็มความคาดหวังใหม่ๆให้ได้มากที่สุด) จาก Inventory (ต่างฝ่ายต่างจัดเก็บสินค้า โดยไม่รู้สถานะซึ่งกันและกัน) เป็น Information (การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างกัน) และจาก Transaction (เน้นที่รายการสั่งซื้อแต่ละครั้ง) เป็น Relationship (มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างผู้ส่งมอบและผู้รับมอบเป็นทอดๆ)

จากคำอธิบายที่ว่า

Supply Chain Management is a set of approaches utilized to efficiently integrate suppliers, manufacturers, warehouses, and stores , so that merchandise is produced and distributed at the right quantities, right locations, and at the right time, in order to minimize systemwide costs while satisfying service level requirements.

ทำให้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีความสำคัญและต้องมีวิธีปฏิบัติที่นอกจากเป็นมาตรฐานสากลแล้ว ยังต้องพัฒนาให้เป็นเลิศ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถเรียนรู้โมเดลต่างๆได้ อาทิ ตัวแบบ SCOR (Supply Chain Operations Reference Model) ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และได้รับการยอมรับโดยสภาซัพพลายเชน (Supply-Chain Council) ให้เป็นโมเดลที่ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ส่วนคือ การวางแผน (Plan) การจัดหาวัตถุดิบ (Source) การผลิต (Make) การส่งมอบ (Deliver) การส่งคืน (Return) และการสนับสนุนแผนงานและการดำเนินงาน (Enable) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ต้นทุน (cost) การส่งมอบ (delivery) ความน่าเชื่อถือ (reliability) และความยืดหยุ่น (flexibility)

นอกจากเหตุผลดังกล่าวที่ว่ามาแล้ว ยังมีการนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการผลิตและการจัดส่งซึ่งพัฒนาต่อมาจาก Toyota Production System ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการประยุกต์ใช้งานกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมยานยนต์ และแพร่กระจายความรู้ดังกล่าวไปในอุตสาหกรรมอื่นๆในชื่อ Lean ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) การพัฒนาปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ (Lean Manufacturing) และการยกระดับบริการให้มีประสิทธิผล (Lean in Service) จนถึงการสร้างสมดุลในระบบการจัดส่งทั้งฝั่ง Suppliers และ Customer ที่เรียกว่า Lean Supply Chain

สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย สามารถเรียนรู้แนวคิด วิธีปฏิบัติ และตัวชี้วัด ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่โดยกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้นำกรอบการจัดการดังกล่าวมาใช้ในการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครเพื่อขอเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งผมได้พัฒนากรอบการทำงานขึ้นมาให้เห็นเป็นภาพเชิงระบบที่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ รวมไปถึงองค์กรที่ต้องการสมัครรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

จากแผนภาพดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถบริหารจัดการโซ่อุปทานได้ดี โดยในยุคสมัยปัจจุบันควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้

1. ความยืดหยุ่นในระบบ

ได้แก่ ความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการปรับปรุง การใช้พนักงานชั่วคราว การใช้อุปกรณ์ที่ทำงานได้หลากหลาย การจ้างหน่วยงานภายนอกทำงานให้ และการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดรอบเวลาซึ่งจะส่งผลต่อการลดเวลานำ (Lead time) ในที่สุด

2. การออกแบบระบบให้เหมาะสม 

ได้แก่ คุณสมบัติของตัวสินค้า ช่องทาง หรือตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

3. การจัดแบ่งลูกค้าและสินค้า 

ได้แก่ การปฏิบัติต่อลูกค้าแต่ละรายตามระดับประโยชน์ที่ได้รับจากลูกค้า และการแยกประเภทลูกค้าอย่างเหมาะสม

4. การมองภาพรวมทั้งโลก (ทั้งประเทศ หรือทั้งภูมิภาค)

ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานกระบวนการ ข้อมูล วัตถุดิบ และปัจจัยพื้นฐาน และการใช้ระบบงานร่วมกันทั่วโลก
อาทิ การใช้แหล่งผลิตร่วมกัน การใช้ชิ้นส่วนร่วมกัน

5. การบริหารการพัฒนาสินค้า

ได้แก่ การบริหารต้นทุนเป้าหมายของสินค้า และการบริหารต้นทุนของสินค้าตลอดช่วงอายุ (Life Cycle Cost)

6. การผลิตสินค้า/บริการเฉพาะลูกค้า

ได้แก่ การสร้างความแตกต่างของสินค้า/บริการใกล้จุดส่งมอบมากที่สุด การผลักภาระให้ลูกค้าทำให้สินค้า/บริการเหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด และการออกแบบให้สินค้า/บริการใช้วัสดุหรือชิ้นส่วนร่วมกัน

7. การใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม

ได้แก่ การปรับระบบให้ส่งเสริมการลดต้นทุน การสร้างความยืดหยุ่น การเชื่อมโยงกับระบบคู่ค้า การลดรอบเวลาในการจัดหาข้อมูลจนถึงการใช้ประโยชน์ การปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้เน้นที่ลูกค้า การใช้ข้อมูลลดปริมาณสินค้าคงคลัง การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการและการตอบสนองโดยหลีกเลี่ยงการพยากรณ์ และการใช้ระบบหน่วยชี้วัดที่ครบวงจร

8. การลดความสูญเสีย

ได้แก่ การใช้มาตรฐานข้อมูลหรือรหัสสากล การลดความซับซ้อนของสินค้า กระบวนการผลิต และการส่งมอบ การลดจำนวนผู้ส่งมอบ การบริหารความต้องการและการตอบสนองสินค้าให้เกิดการหมุนเวียนสินค้าคงคลังมากที่สุด

9. การสร้างพันธมิตร

ได้แก่ การใช้หน่วยงานอื่นทำงานแทนบางอย่าง การประสานงานระหว่างคู่ค้า ผู้ส่งมอบ ผู้ให้บริการและลูกค้า
และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

10. การใช้ประโยชน์จาก E-Commerce

ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายผู้ส่งมอบ เพื่อร่วมจัดทำแผนการผลิตและส่งมอบอย่างทันเวลา

11. การพัฒนาบุคลากร

ได้แก่ การมีมุมมองหลากหลายบนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การทำงานหลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจในงานทุกระบบ การพัฒนาให้มีความสามารถหลากหลายถึงระดับปฏิบัติการ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

….

นี่เป็นเพียงกรอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่จะทำให้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีมาตรฐานสากล และชาญฉลาดมากขึ้นด้วยการนำแนวคิดใหม่และเทคโนโลยีทันสมัย ขอให้องค์กรต่างๆ เรียนรู้และลองปรับใช้ เพื่อยกระดับไปสู่การจัดการโซ่อุปทานในยุค 4.0 ต่อไป

….

หลักสูตรแนะนำ

Toyota manufacturing development




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร