ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้ชนะการแข่งขัน หรือสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนสูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่การจะยืนหยัดและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกนั้น องค์กรจะต้องสามารถท้าทายตัวเองโดยมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถสร้างสมดุลที่ดีได้ทั้งสามเสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในองค์กรที่มีความโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวและได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างสูงว่ามีวิสัยทัศน์ไกลในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีผลการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวเป็นรูปธรรมและเห็นผลเลิศอย่างแท้จริง คือ บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปูนอินทรีที่มีคุณภาพซึ่งคนไทยรู้จักมายาวนานกว่า 45 ปี และคอลัมน์ interview ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณยงยุทธ สง่างาม ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) มาบอกกล่าวเล่าถึงแนวคิด วิถีปฏิบัติสู่ความสำเร็จซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายตลอดเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนี้
Green Heart พัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากคน
ในการเริ่มต้นเดินทางสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมีความเชื่อมั่นในเรื่องการพัฒนาคนให้แข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก คุณยงยุทธ เล่าให้ฟังว่า “เราเป็นองค์กรที่มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคมโดยรวมมาตลอดกว่า 45 ปี จะเห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมงานด้านการอนุรักษ์ และการพัฒนาชุมชน สังคมมากมายอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม องค์กรของเราตระหนักดี ถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของสภาวะสิ่งแวดล้อมของโลก ปัญหาโลกร้อน ปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดมากขึ้น รุนแรงขึ้น รวมถึง ความคาดหวังของผู้คนในสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ที่มีต่อองค์กรธุรกิจโดยอยู่บนพื้นฐานที่เราเชื่อว่า “องค์กรของเราจะเติบโต ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอยู่คู่ไปกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี และเติบโตไปด้วยกันทุกฝ่าย”
คำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Development เป็นคำที่มีการศึกษา และนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้กันในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นพบว่าเป็นงานที่องค์กรให้ความสำคัญ และ ทำกันอยู่แล้ว แต่ต้องบูรณาการกันมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายขององค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเติบโตหรือผลกำไรสูงสุดอีกต่อไป แต่จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนซึ่งสำคัญกว่าโดยเป็นความยั่งยืนที่องค์กรมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มพูน และเสริมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย (create shared value to stakeholder) โดยมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม วิสัยทัศน์ของปูนอินทรี คือ เพื่อวางรากฐานของอนาคตให้กับสังคม (To provide foundations for society’s future) ซึ่งเราจะมีการวิเคราะห์กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นเราจะกำหนดพันธกิจต่าง ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการ ช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสำคัญเหล่านั้น ซึ่งเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่เราตระหนักดีว่าเป็นความคาดหวังที่นับวันจะมากขึ้นที่มีต่อธุรกิจของเรา เราจึงได้นำปัจจัยด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปเชื่อมโยง (integration) กับกระบวนการทำธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเสี่ยง การทำแผนกลยุทธ์ การริเริ่มโครงการใหม่ การประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เป็นต้น และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา มีความเด่นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปูนอินทรี จึงได้มีการกำหนดแผนงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD Roadmap) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554-2563 โดยกำหนดเป้าหมายใน 6 ด้านสำคัญ คือ 1.การลดปริมาณ CO2 สู่อากาศ 2.การส่งเสริมจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.การมีส่วนร่วม และการพัฒนาชุมชน 4.การลดของเสียจากการผลิตที่ไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2558 (Zero Waste to Landfill) และ การใช้เชื้อเพลิงทดแทน 25% ภายในปี พ.ศ. 2563 5.การพัฒนาสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6.การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ภายใต้แนวคิดหรือยุทธศาสตร์ “Green Heart” หรือ “โลกน่าอยู่คู่หัวใจสีเขียว”
Group SCCC SD Roadmap 2554-2563
ซึ่งที่มาของ “Green Heart” คือเรามีความเชื่อว่า ทุกอย่างต้องเริ่มจาก “ใจ” เริ่มจาก “คน” เริ่มจากภายในครอบครัวอินทรีก่อน เราจึงรณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคมภายใต้แนวคิด “Green Heart” ให้แก่พนักงาน ลูกค้า ชุมชนและSupplier ของเรา รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่น ๆ ให้เข้าใจ ให้ใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้พวกเขามีค่านิยม มีการประพฤติปฏิบัติงานด้วยความใส่ใจในสมดุล 3 ด้านของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งเมื่อคนของเรามีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจที่ดีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ เรียกได้ว่า เรามี “SD Culture” ที่ดีแล้ว ขั้นตอนต่อมา ก็คือเรื่องของ “Green Innovation and Green Network” ซึ่งเราจะส่งเสริม
ให้คนของเราคิดใหม่ ทำใหม่ในงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม (CSR) ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ให้มากขึ้น ให้เป็นผลดีต่อการอนุรักษ์ต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อสังคมมากขึ้น
วิถีสู่ความยั่งยืน สามเสาหลักต้องสมดุลกันจึงจะอยู่รอด
การที่องค์กรจะเติบโตและสามารถดำรงอยู่ในวิถีของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เสาหลักทั้งสาม หรือมิติของการพัฒนาทั้งสามด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรจะต้องสามารถบริหารจัดการทั้งสามมิตินี้ให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริงซึ่งในเรื่องนี้ คุณยงยุทธ ขยายความให้ฟังว่า
“ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องมองทั้ง 3 ด้านให้ Balance ซึ่งอาจจะยากในบางครั้ง เพราะมันมีทั้ง Balance ระยะสั้นและระยะยาว บางทีระยะสั้นเราอาจจะมองไม่เห็น เช่น ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ในระยะยาว Economic Value ที่เคยได้รับก็จะไม่คุ้มกันเลย
นี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ แต่เป็นหนทางสู่ความยั่งยืน คือ บางเรื่องนั้นคุณค่าทางเศรษฐกิจระยะสั้นดูเหมือนจะดี แต่ถ้าระยะยาวเกิดความเสี่ยง ถือว่าไม่คุ้ม ซึ่งการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องของความสมดุลทุกด้านและต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว และการ Return ด้าน Economic Value บางทีก็ไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว แต่จะหมายถึง Compliance ความเสี่ยง ความผูกพันกับ Stakeholder ต่าง ๆ รวมถึงภาพลักษณ์ด้วย
ยกตัวอย่าง บริษัทของเรามีเหมืองทรายเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตคอนกรีต โดยบริษัทไปซื้อที่ดินไว้ 700 ไร่เมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อทำเหมืองทราย ปัจจุบันเหมืองนี้อยู่ใจกลางชุมชน มีหมู่บ้านขึ้นล้อมรอบ แล้วเส้นที่จะขนทรายออกมาจะต้องผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเป็นถนนเล็ก ๆ บริษัทต้องขนส่งทรายโดยใช้รถสิบล้อวิ่งเข้าออกเป็นประจำ วันละหลาย ๆ เที่ยว เส้นทางสำหรับการขนส่งมีทางเลือก 2 เส้นทางด้วยกัน คือ ถ้าเลี้ยวซ้ายจะต้องผ่านหมู่บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนต่าง ๆ แต่ย่นระยะทางให้สั้นลง 15 กิโลเมตร หากเลี้ยวขวาจะผ่านชุมชนน้อยลง ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยหรือผลกระทบกับชุมชนน้อยลงแต่ต้องใช้ระยะทางไกลขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 450 บาท/เที่ยว ถ้าเราเลือกเลี้ยวซ้ายก็มีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะมีกระทบกับเด็กนักเรียน ชุมชน และสร้างความเดือดร้อนให้เขาเหล่านั้นได้ นั่นคือ ความเสี่ยงที่เรามองไม่เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร ยังรวมถึงความเสี่ยงกับภาพลักษณ์ของบริษัทอีก ถ้าเราปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุรถสิบล้อชนเด็ก ชนชาวบ้าน หรือชนจักรยานยนต์ที่เขามองไม่เห็น ซึ่งมีโอกาสเกิดได้เสมอ แล้วสุดท้ายชาวบ้านก็อาจจะปิดถนนไม่ให้รถของเราวิ่งผ่านทางอีก บริษัทก็จะไม่สามารถขนส่งได้ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรเสี่ยง ต้องมองในระยะยาวและให้ความสำคัญกับด้านสังคม บริษัทจึงเลือกเลี้ยวขวาดีกว่า คือ เราไม่ควรเอาเปรียบสังคม ซึ่งนี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ แต่เป็นหนทางสู่ความยั่งยืน คือ บางเรื่องนั้นคุณค่าทางเศรษฐกิจระยะสั้นดูเหมือนจะดี แต่ถ้าระยะยาวเกิดความเสี่ยง ถือว่าไม่คุ้ม ซึ่งการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องของความสมดุลทุกด้านและต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว และการ Return ด้าน Economic Value บางทีก็ไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียวแต่จะหมายถึง Compliance ความเสี่ยง ความผูกพันกับ Stakeholder ต่าง ๆ รวมถึงภาพลักษณ์ ด้วย
คุณยงยุทธ ยกตัวอย่างให้ฟังอีกว่า “เรามีตัวอย่าง คือ เราทำโครงการ Zero Waste to Land Fill คือทุกบริษัทในกลุ่มของเราจะต้องเป็น Zero Waste to Land Fill ไม่นำ Waste ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไปฝังกลบซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งก็มีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างของเราแห่งหนึ่ง เกิดแรงต่อต้าน บอกว่า รับนโยบายนี้ไม่ได้ เพราะทำให้ต้นทุนในการกำจัด wastes สูงขึ้น ซึ่งแต่ก่อน wastes ที่เกิดจากการผลิตจะมีชาวบ้านและทาง อบต. มาขอเอาไปถมที่บ้าง หรือเอาไปทำอะไรต่าง ๆ พอมีนโยบายนี้บริษัทก็ต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ wastes คือ ต้องเอาไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ไม่ให้ใครก็ได้มาขนไปใช้ประโยชน์ของเขาอีกต่อไป ซึ่งการจะเอาไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ในเบื้องต้นจะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และค่าบริการ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเขาไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้เลย จึงไม่เต็มใจทำเท่าไรเพราะนโยบายนี้ทำให้ต้นทุนของเขาเพิ่ม แต่ด้วยความที่เขากังวลเรื่องต้นทุน ทำให้ Wastes ที่แต่ก่อนเขาไม่ค่อยสนใจสามารถลดลงจากเดิมจาก 4-5 % ลงไปเกือบเป็นศูนย์ด้วยการนำ wastes ต่าง ๆ ไป Reuse Reduce Recycle บางทีเขาก็เอา wastes บดแล้วไปผสมกับวัตถุดิบอื่น เอาไปทำบล็อคแจกเป็นกิจกรรม CSR ให้ชาวบ้านรอบโรงงานได้อีก เหลือเท่าไรถึงจะขนไปเผากำจัด ปรากฎว่ากระบวนการกำจัด wastes ที่เขาเคยกังวลเรื่องต้นทุนกลับกลายเป็นทำให้เขาสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เกิด Productivity เกิดนวัตกรรมปรับเปลี่ยนวิธีการต่าง ๆ ในการทำงานใหม่ ทำให้มี Wastes น้อยลงกลายเป็น Case Study ที่เกิดจากแรงต่อต้านกลายเป็นประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งจากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าการปฏิบัติในเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนี้ สุดท้ายจะให้ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมทั้งตัวเงิน ภาพลักษณ์ ความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพียงแต่เราต้องมองให้ออกว่า Value ของมันอยู่ตรงไหน
ก่อนจบ คุณยงยุทธได้ฝากถึงองค์กรต่าง ๆ ที่กำลังก้าวสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ว่า…
“อยากจะฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ทุกคนมีศรัทธาในแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น และไม่ใช่การลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน สำหรับองค์กรเล็ก ๆ อาจจะกังวลเรื่องเงินลงทุนต่าง ๆ แต่จริง ๆ หัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่อยู่ที่ “เงิน” แต่อยู่ที่ “วิธีคิด” ซึ่งถ้าเรามองเห็นโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เช่น พลังงาน Wastes หรือการผลิต Product ใหม่ ๆ ว่าจะไปตอบโจทย์หรือจะไปสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งได้