23 March 2015

เมื่อเดือนที่แล้วผมได้รับเชิญไปร่วมเสวนางานวิชาการที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ว่าด้วย หัวข้อที่เกี่ยวกับ “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” มีผู้สนใจเข้าฟังคับคั่งเต็มห้องประชุมเลย ผมเห็นว่าเนื้อหาสาระที่นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันนั้นน่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านคอลัมน์นี้ จึงขอสรุปสาระสำคัญ ๆ  มาเล่า สู่กันฟังดังนี้ครับ

เนื่องจากผู้ฟังส่วนใหญ่บอกว่าที่สนใจมาฟังหัวข้อนี้ เพราะอยากได้แนวทางและวิธีการในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวเอง เพื่อนำไปใช้ในงานและชีวิตส่วนตัว ผมเลยเริ่มต้นด้วยประเด็นคำถามว่า…ComfortZone

“ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดจากอะไร ? ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม”

แน่นอนคำตอบจากผู้ฟังมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม และกลุ่มที่ 2 เชื่อว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม จริง ๆ แล้วความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนเราก็คงจะมีที่มาจากทั้งสองปัจจัย ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เพียงแต่บังเอิญว่าวันนั้นจำนวนผู้ฟังที่เชื่อว่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดจากสิ่งแวดล้อมมีมากกว่ากลุ่มแรก แต่เนื่องจากเวลาในการเสวนาหัวข้อนี้มีเพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ผมจึงขอโฟกัสที่เรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ก่อน แล้วในอนาคตมีเวลาค่อยมาว่ากันด้วยเรื่อง “พันธุกรรม” จากนั้นเราก็พูดคุยกันต่อว่า ปกติคนเรามักจะคุ้นเคยและรู้สึกดีมีความสุขเมื่ออยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เราชอบ เช่น คนที่เราคุ้นเคย สถานที่ที่เราชอบ สิ่งของเครื่องใช้ งานหลัก และงานอดิเรกที่เราชอบ

แต่ถ้าต้องการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เราต้องหาความรู้ หาประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยพาตัวเองไปเรียนรู้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากเดิม จึงเป็นที่มาของชื่อข้อเขียนครั้งนี้ของผม เรียนรู้จากสิ่งที่ “ไม่ใช่”
เพื่อสิ่งที่ “ใช่” เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้แนวคิดใหม่ไปใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตโดยการอยู่กับสิ่งเดิม ๆ  สิ่งแวดล้อมเก่า ๆ

แล้วสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหรือสิ่งที่ “ไม่ใช่” ที่เราควรจะเรียนรู้มีอะไรบ้าง? ผมขอยกตัวอย่างไว้ 9 ประการ ดังนี้

1. คนที่ไม่ใช่ หมายถึง คนที่มีแนวคิดและพฤติกรรมแตกต่างจากเรา รวมทั้งคนที่เรียนหรือทำงานในสาขาอาชีพแตกต่างจากเรา การได้เรียนรู้กับคนที่แตกต่างจะช่วยให้เราได้แง่คิด ความรู้ และประสบการณ์ใหม่ ๆ
แน่นอน

2. สัตว์ที่ไม่ใช่ หมายถึง สัตว์เลี้ยงที่เราไม่คุ้นเคย หรือบางคนที่ไม่เคยเลี้ยงสัตว์เลย ก็น่าจะได้มีโอกาสมีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว ปลาสวยงาม นก เป็นต้น

3. สิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่ใช่ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราไม่เคยใช้มาก่อน เช่น ลูกคิด เครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป จักรยาน รถยนต์ เป็นต้น

อย่าเผลอทำอะไรเดิม ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ

ลองออกจากโซนสบาย หรือ Comfort Zone เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

4. อาหารที่ไม่ใช่ หมายถึง อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เคยกินมาก่อน เช่น บางคนไม่เคยกินผัก ไม่ชอบแกงเผ็ด ไม่กินผลไม้ ถ้าต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็เพียงแค่ลองกินของที่ไม่เคยกิน แล้วจะได้เรียนรู้ด้วย
ตัวเองครับ

5. สถานที่ที่ไม่ใช่ หมายถึง สถานที่ที่เราไม่เคยไป ไม่ชอบไป ไม่คิดจะไป เช่น บางคนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากการไปเที่ยวทะเลครั้งแรก บางคนได้ไอเดียดี ๆ จากพิพิธภัณฑ์ หลายคนไม่เคยไปเดินซื้อของ
ในตลาดสด บางคนไม่เคยเข้าวัดฟังธรรมเลย ถ้าอยากได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ก็ลองไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปบ้างนะครับ

6. หนังสือที่ไม่ใช่ หมายถึง หนังสือที่เราไม่เคยอ่าน ไม่ชอบ ไม่ใช่หนังสือในสาขาอาชีพของเรา ผมเองได้ใช้เทคนิคนี้ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการอ่านหนังสือประเภทที่ไม่เคยอ่าน เช่น หนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยี
การเมือง นิยาย หนังสือพิมพ์ที่มีความคิดทางการเมืองคนละขั้ว

7. วิชาที่ไม่ใช่ ได้แก่ วิชาที่เราไม่เคยเรียน วิชาที่ไม่ตรงกับสาขาอาชีพของเรา เช่น เราเรียนคณะบัญชีแต่ลองไปลงทะเบียนเรียนวิชาดนตรีและเต้นรำของต่างคณะ บางคนไปลงเรียนวิชาการพูดต่อหน้าชุมชน
เรียนวิชาการแสดง ซึ่งพอเรียนแล้วทำให้เป็นคนกล้าแสดงออก และมีมนุษยสัมพันธ์มากขึ้น

8. ภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ หมายถึง ลองดูหนังดูละครที่เราไม่เคยดู หรือไม่คิดจะดูมาก่อน เช่น ล่าสุดผมไปดูหนังวัยรุ่นเรื่อง “ฝากไว้ในกายเธอ” ทำให้ได้เห็นการใช้ชีวิตและความรักของวัยรุ่นยุคใหม่ รวมทั้งมุมมอง
การแก้ปัญหาของเด็กวัยรุ่นหญิงที่มีปัญหาท้องก่อนวัยอันควร จนกระทั่งต้องไปทำแท้งและจบชีวิต แต่สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอในหนังเรื่องนี้คือ ประเด็นผู้ชายตั้งท้องแทนผู้หญิง ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็กระตุ้นความคิดนอกกรอบได้ดีทีเดียว

9. งานที่ไม่ใช่ ได้แก่ งานต่าง ๆ ที่เราไม่เคยทำ ทั้งงานอาชีพ งานอดิเรก และงานบ้านทั่วไป เช่น บางคนทำงานเป็นพนักงานขาย ไม่เคยทำงานบัญชี ลองดูนะครับ บางคนไม่เคยหุงข้าวก็ลองดู บางคนมีงานอดิเรกอย่างเดียว คือสะสมแสตมป์ ก็ลองหางานอดิเรกใหม่ ๆ  ทำดูบ้าง เป็นการเปิดกว้างให้ตัวเรามีประสบการณ์ใหม่ ๆ  ที่แตกต่างจากเดิม

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง 9 แบบ และเป็นเพียงแนวทางในการเรียนรู้จากสิ่งที่ “ไม่ใช่” เพื่อสิ่งที่ “ใช่” ท่านผู้อ่านอาจจะลองค้นหาวิธีการของตัวเองเพิ่มเติมก็ได้ ขอเพียงแต่อย่าเผลอทำอะไรเดิม ๆ
อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ  ลองออกจากโซนสบาย หรือ Comfort Zone เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  ท่านอาจจะได้ไอเดียดีๆ ไปใช้ในงานหรือชีวิตส่วนตัวก็ได้นะครับ




Writer

โดย ไชยยศ ปั้นสกุลไชย

• จบการศึกษาปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาบริหารงานบุคคล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
• เคยร่วมงานกับบริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) และบริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ CC&B Consultant Ltd., Part. และที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ