20 February 2015

Strategic-6

ในปีนี้ คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกหัวข้อ“การเกิดอย่างไร ประเทศไทยจึงมั่นคง? เป็นการส่งสัญญาณสำคัญให้ประเทศไทยทราบถึงแรงกระเพื่อมที่เกิดจากลักษณะการเกิดของประชากร ที่จะมีต่อความมั่นคงของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง และในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังสะท้อนภาวะการเกิดของประชากรไทยที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างของประชากรกำลังผิดรูปผิดร่างไ ป สัญญาณจากนักประชากรผ่านการแสดงผลงานการค้นคว้าวิจัยในครั้งนี้    มีความหมายอย่างมากต่อการปรับมโนทัศน์ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และขององค์กรทั้งหลาย เนื่องด้วยเกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณ และคุณภาพของแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต          จำนวนประชากรได้ตกเป็นประเด็นสำคัญของนโยบายการพัฒนาประเทศในหลายยุคสมัย ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล[1] นักประชากรคนสำคัญของประเทศไทย ได้เล่าไว้ในการแสดงปาฐกถานำในการประชุมครั้งนี้ว่า เมื่อ 70 ปีก่อน ในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายเร่งเพิ่มจำนวนประชากร (Pro-natalist policy) ด้วยการส่งเสริมการแต่งงาน ส่งเสริมให้แม่มีลูกมาก มีการจัดพิธีสมรสหมู่ เริ่มจัดงานวันแม่ จัดประกวดแม่ลูกดก และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก  แนวคิด “ท่านผู้นำ” ในการพาไทยสู่ “มหาอำนาจ” นอกจากการ “ปฏิรูป” ในเชิงสังคม วัฒนธรรม และการเมืองแล้ว ท่านผู้นำยังเล็งเห็นว่าการที่ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมาก จะทำให้ประเทศไทยมีแรงงานมากพอที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้า รวมทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่ในอนาคต

ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพราะชาวไทยเชื่อฟังท่านผู้นำ หรือมีเหตุผลอื่นใดประกอบ อัตราการเกิดของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีเด็กที่เกิดระหว่างปี 2506 – 2526 ขณะนี้มีอายุ 31 – 51 ปี จำนวนเกินกว่าล้านคน จัดเป็น “เบบี้บูม” ของเมืองไทย ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ เรียกว่าเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” และกำลังจะเป็น “สึนามิประชากร” อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2512 มีจำนวนเด็กเกิดมากถึง 1.2 ล้านคน และในปีก่อนหน้านั้นก็มีเด็กเกิดปีละล้านกว่าคน ประกอบกับอัตราการตายที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการสาธารณสุขที่ดีขึ้น สร้างความวิตกระลอกใหม่ว่า จำนวนประชากรที่มากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ประกาศใช้นโยบายชะลออัตราการเพิ่มประชากร (Anti-natalist policy) ในปี 2513 สนับสนุนให้คู่สมรสมีการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ รณรงค์การคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย และวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์    สโลแกนการรณรงค์ “ลูกมาก ยากจน” ยังเป็นคำพูดที่คนในยุคนั้นยังจำได้มาจนถึงปัจจุบัน

และขณะนี้ ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่ยุคที่มีอัตราการเกิดต่ำสมใจนโยบายชะลอการเกิดที่ได้ผลอย่างชะงักงัน ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียงปีละประมาณ ไม่ถึง 8 แสนคน และหากวัดด้วย อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate: TFR) ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีบุตรได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ ขณะนี้พบว่าเหลือเพียง 1.6 คน ลดลงจาก 5 คน ในปี 2517 ซึ่งจะเห็นว่า อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.6 นี้ จะไม่พอเพียงกับการทดแทนประชากรรุ่นพ่อแม่ ที่จะต้องตายไปในอนาคต

แนวคิดคนรุ่นใหม่ต่อการมีลูก    จาก “คุณค่า” เป็น “ภาระ”

เมื่อฉายภาพเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นว่าประชากรคลื่นใหญ่ที่เคยสร้างไว้ในสมัยจอมพล ป. กำลังจะลดตัวลงอย่างรวดเร็ว และทำท่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดและทัศนคติต่อการมีลูกของคนรุ่นใหม่ ในการวิจัยเกี่ยวกับ ไลฟสไตล์ แผนการดำเนินชีวิต ของคนรุ่นใหม่กับแนวคิดการมีบุตรของคนเจเนเรชันวาย[2] ซึ่งศึกษาแนวคิดการมีบุตรของคนเจเนอเรชันวาย กลุ่มที่ 3[3] ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2533 – 2540 ขณะนี้เป็นผู้มีอายุระหว่าง 17 – 24 ปี จัดเป็นทั้งประชากรวัยเจริญพันธ์ และวัยแรงงาน เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างเรียงลำดับกิจกรรมต่างๆ ในการวางแผนดำเนินชีวิต พบว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะประวิงการมีบุตรไปจนเลยอายุ 35 ปี โดยจะให้ความสำคัญกับการเรียนต่อในระดับปริญญาโท การซื้อรถ และการซื้อบ้าน ก่อนที่จะตัดสินใจมีลูก สะท้อนให้เห็นว่าความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และการสะสมทรัพย์สินต่าง ๆ   มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ และเร่งด่วนกว่าการมีลูก การให้ความสำคัญต่อการซื้อรถ ก่อนการซื้อบ้าน ซึ่งผิดไปจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่จะสนับสนุนให้มีบ้านก่อนที่จะมีรถ เนื่องจากบ้านเป็นสินทรัพย์ที่จะเพิ่มมูลค่าไปเรื่อยๆ  คงทนยาวนานกว่า แต่คนรุ่นใหม่กลับเห็นว่า การมีรถสำคัญทั้งในแง่ที่ทำให้การไปทำงานสะดวก และเครื่องแสดงฐานะ ความมีหน้ามีตาทัดเทียมคนอื่น ส่วนบ้านนั้นสามารถลดขนาดลง หรือเปลี่ยนเป็นการเช่า หรือซื้ออพาร์ตเม้นท์อยู่ ในช่วงแรกของการสร้างรากฐานให้แก่ชีวิต

อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทำให้น่าวิตกว่า จะทำให้อัตราการลดลง

ในรุ่นถัด ๆ ไปเร็วขึ้น

แม้คนกลุ่มนี้จะเห็นว่า การประวิงเวลาการมีลูกก็เพื่อสร้างความความพร้อม และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับลูกที่จะเกิดมา แต่ในการดำเนินชีวิตจริงกิจกรรมการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งเวลาที่ใช้ไปเป็นช่วงเวลาแห่งการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในสตรีซึ่งเป็นเพศที่รับภาระในการตั้งครรภ์ เมื่อล่วงเข้าอายุ 30 กว่าแล้ว และมีความพร้อมที่จะมีลูก   กลับพบว่าการตั้งครรภ์เริ่มยากขึ้น  หลายคนบอกว่าเมื่อพร้อมแล้วก็ปล่อยให้มีลูก แต่ไม่มีมา และทำให้สามีภรรยาเหล่านี้ต้องหันไปพึ่งคลินิคสำหรับคนมีบุตรยากเพื่อทำ “กิ๊ฟท์” รวมทั้งขอคำปรึกษาต่างๆ เพื่อให้มีบุตร จะเห็นได้ว่าจำนวนคลินิค และแพทย์เฉพาะทางที่จะให้คำปรึกษาเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งในเจเนอเรชันนี้ ที่ตั้งใจที่จะไม่อยากมีลูก ส่วนหนึ่งเห็นว่าการเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนลูกเป็นภาระที่หนักเกินไป ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่เพิ่มรายการและมูลค่าขึ้นทุกวัน  รวมทั้งเวลาที่จะต้องทุ่มเทให้ จะทำให้ความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตคู่    การทุ่มเทให้กับอาชีพการงานลดน้อยลง  ซึ่งความสำคัญต่อการมีชีวิตที่อิสระและมีความยืดหยุ่น รวมทั้งการมีเวลาให้ตัวเอง เป็นลักษณะเฉพาะสำคัญของคนเจเนอเรชั่นวาย นอกจากนี้  ยังพบว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะประวิงการมีลูก มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการตั้งครรภ์ การคลอดลูก และการเลี้ยงดู เป็นภาระที่จะตกอยู่กับฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย ในขณะที่ผู้หญิงในเจเนอเรชันนี้มีความสามารถในการประกอบอาชีพ  และอยากก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น        การมีลูก ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเหมือนกันมีทรัพย์สินอันมีค่า (Value of children) หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ของสามีภรรยา จึงกลายมาเป็นภาระอันหนักอึ้ง (Burden of children) ที่คนกลุ่มนี้ไม่อยากแบกไว้ และอีกส่วนหนึ่งมีความคิดว่า สังคมปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเสี่ยงภัยไม่เหมือนกับสังคมในอดีต ทำให้คนกลุ่มนี้ระแวงระวัง   และวิตกกังวลจนไม่อยากมีลูก  ทั้งนี้ยังไม่นับความสัมพันธ์ของเพศทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเกย์ หรือ       เลสเบี้ยน ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีลูก

เกิดน้อย    แรงงานลด    ความสามารถในการผลิตลด

ธรรมชาติการลดลงของอัตราการเกิดมีลักษณะเฉพาะตัว เนื่องจากจำนวนประชากรรุ่นถัดไปเกิดขึ้นจากประชากรรุ่นก่อนหน้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชากรเกิดจากประชากร การเพิ่มขึ้นของคนรุ่นหนึ่งจะทำให้คนรุ่นถัดไปยิ่งเพิ่มเร็วขึ้น และในทำนองเดียวกัน การลดลงของประชากรรุ่นหนึ่ง จะทำให้ประชากรรุ่นถัดไปลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้น่าวิตกว่าจะทำให้อัตราการลดลงในรุ่นถัดๆ ไปเร็วขึ้น     หากพิจารณาโครงสร้างอายุประชากรโดยหยาบ จะเห็นได้ว่าประชากรประกอบด้วยสามส่วนสำคัญคือ วัยเด็กอยู่ด้านล่าง วัยทำแรงงานงานอยู่ช่วงกลาง และวัยชราอยู่บนสุด ทั้งนี้ วัยเด็กและวัยชรา จัดเป็นวัยพึ่งพิง กล่าวคือไม่สามารถสร้างผลผลิตใดๆ ให้แก่สังคม   หรือหากมีก็จะน้อยมาก การผลิตใดๆ เพื่อเลี้ยงดู และค้ำจุนสังคมจึงตกเป็นหน้าที่ของวัยแรงงาน และจะเกิดอะไรขึ้น  หากคนกลุ่มนี้กำลังมีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การที่โรงเรียนสามัญหลายแห่ง เริ่มมีการปิดจำนวนห้องเรียนในแต่ละชั้นเรียนลง รวมไปจนถึงการมีแนวคิดที่จะยุบโรงเรียนมารวมกันเพื่อให้มีนักเรียนในปริมาณที่โรงเรียนสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสัญญาณที่ส่งออกมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างชัดเจน และคาดว่าปริมาณผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มที่ลดลงในอนาคต แม้จะมีการทดแทนบ้างจากแรงงานต่างด้าวที่ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 2-3 ล้านคน เมื่อเทียบกับปริมาณแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานทั้งระบบของไทยที่สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 จำนวนประมาณ 40 ล้านคน ก็ยังจัดว่าแรงงานต่างด้าวนั้นเป็นส่วนน้อย และเป็นแรงงานด้อยฝีมือ (Unskilled labor) แทบทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังได้มีการพบปัญหาการเกิดที่ “ไม่พร้อม” ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดูบุตรที่เกิดมา อย่างเช่นปัญหา “แม่วัยใส”  หรือการท้องไม่พร้อมในลักษณะต่างๆ โดยมักจะพบในกลุ่มประชากรวัยเยาว์ ที่อยู่ในเขตชนบท อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างต่ำ ซึ่งน่าคิดว่าเด็กเหล่านี้จะเติบโตกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในระดับใด

ความสามารถในการผลิตของประเทศ  ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญสองประการคือ ปริมาณแรงงาน  (Labor) และ ผลิตภาพของแรงงาน (Productivity)  ซึ่งผลิตภาพของแรงงานนี้จะสะท้อนถึงคุณภาพ และขีดความสามารถของแรงงาน ประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย  หรืออินโดนีเซีย    มีความสามารถในการผลิตสูง แม้แรงงานอาจจะไม่มีคุณภาพเท่าไรนัก   ก็เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีแรงงานปริมาณมาก และในกรณีประเทศที่มีประชากรไม่มาก   เช่น ประเทศพัฒนาแล้วในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็น สวิสเซอร์แลนด์ หรือ ฟินแลนด์ แต่กลับมีความสามารถในการผลิตสูง ก็เนื่องจากแรงงานของเขามีคุณภาพ  หรือไม่ก็มีผลิตภาพสูงนั่นเอง

การรักษาความสามารถในการผลิตของประเทศ ในสภาวะที่ปริมาณแรงงานกำลังหดตัวนั้น หากไม่หาทางเพิ่มหรือชะลออัตราการลดลงของจำนวนประชากร ก็จะต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพของแรงงาน หรือต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน ซึ่งจะเห็นว่าทางออกทั้งสองทางนี้ ต้องการนโยบายระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์  การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ฯลฯ ให้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

ปัญหาการเกิดที่ลดลงนี้จึงเป็น “แรงกระเพื่อม” ในระดับหลายริกเตอร์ และกินบริเวณหลายพื้นที่ ที่นักนโยบายจะต้องคิดและวางแผนอย่างรอบคอบ การประสานงานทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักของปัญหา และปรากฏการณ์นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเอาจริงเอาจัง

 

[1] ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ดำรงตำแหน่งราชบัณฑิต แห่งราชบัณฑิตยสภาไทย และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้วางรากฐานเกี่ยวกับการคาดประมาณจำนวนประชากร

[2] ภูเบศร์ สมุทรจักร และ นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์ (2557). ไลฟสไตล์ แผนการดำเนินชีวิต กับแนวคิดการมีบุตรของคนเจเนอเรชันวาย. ใน ยุพิน วรสิริอมร จงจิตต์ ฤทธิรงค์ ศุทธิดา ชวนวัน พจนา หันจางสิทธิ์ (บรรณาธิการ). การเกิดกับความมั่นคงในประชากรและสังคม (หน้า 214-231 ) นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

[3] William Strauss และ Neil Howe ซึ่งเป็นนักประชากรศาสตร์ จัดแบ่งประชากรเจเนอเรชันวาย ไว้ 4 กลุ่ม ในหนังสือ Millenials Rising: The Next Great Generation




Writer

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล