26 July 2017

เมื่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต ดังเช่น AI IoT หรือ Big Data กำลังกลายเป็นประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า ในเวลานี้ เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาด้านศีลธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อมุ่งสู่อนาคตอย่างยั่งยืนกันได้หรือยัง?

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ได้นำพาสังคมเข้าสู่ความล้ำสมัย มีการคิดค้นนวัตกรรมและ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรับใช้และตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ แต่ถ้ามองในด้านกฏหมายและศีลธรรมแล้ว อาจมีคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องเหมาะสมเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น เราควรจะให้คุณค่าของยานยนต์ไร้คนขับมากกว่าชีวิตของผู้คนท้องบนถนน ? หรือ เราควรจะปล่อยให้โดรนกลายเป็นช่องทางหาข่าวแบบใหม่ของปาปารัสซี่ ? และ ไม่ว่าใคร ก็สามารถที่จะจดสิทธิบัตรพันธุกรรมมนุษย์ได้ ?

ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของระบบเครื่องจักร เราจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบศีลธรรมกันใหม่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในระดับสากล และ ควรให้ความสำคัญกับจริยธรรมให้มาก เมื่อเราได้นำพายุคสมัยใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลงเข้ามา

นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะต่อสู้กับวิกฤติด้านศีลธรรมดังกล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีแถลงการณ์ตั้งศูนย์ศึกษาจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี ซึ่งทำเนียบขาวได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อเดียวกันนี้ และ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Facebook และ Google ได้ประกาศความร่วมมือในการกำหนดกรอบจริยธรรมสำหรับ AI ที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากมาย นอกจากนี้ สตีเฟ่น ฮอว์คิง อีลอน มัสก์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ได้ลงนามร่วมกันในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีความพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่า AI เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ด้วยประโยชน์ที่ได้รับอันมหาศาล จากทุกสิ่งที่เรานำเสนอว่าเป็นความเจริญนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลที่มาจากสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเราไม่สามารถจะคาดการณ์ได้เลยว่าจุดหมายปลายทางที่เราจะไปถึงนั้นจะเป็นเช่นไร เมื่อสติปัญญาถูกขยายออกไป โดยเครื่องมือที่ได้จาก AI

แม้ว่าปัจจุบันเรายังไม่สามารถนำ AI มาช่วยขจัดปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่น การกำจัดโรคร้ายและความยากจนให้หมดสิ้นไปได้ แต่ศักยภาพด้านดีของ AI เป็นสิ่งควรค่าในการศึกษาวิจัย เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น   แนวคิดนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ยังส่งผลกระทบด้านศีลธรรมอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของ อินเทอร์เน็ต และ AI โดย ศาสตราจารย์ คลอส ชวาบ ผู้ก่อตั้งสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เชื่อว่า การกำหนดกรอบจริยธรรมใหม่ ควรจะจัดทำขึ้น ควบคู่ไปกับ การพัฒนาการใช้งานระบบไซเบอร์ทางกายภาพ ซึ่งยังไม่ชัดเจนทั้งทางด้านกายภาพ ดิจิตอล และ ชีวภาพ ในฐานะที่เราเป็นผู้นำโลกเข้าสู่ยุคเครื่องจักร เราจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางจริยธรรม และ การเรียกร้องให้มีกฎหมายใหม่ และ ในบางกรณี อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คุณธรรมทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นปกติวิสัยของความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี และ เชื่อว่าอีกไม่นานมนุษย์จะคำนึงถึงศีลธรรมอันดีงามเป็นสำคัญ และนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม 2.0 (Ethic 2.0)

จริยธรรมที่มีรากเหง้ามาจากปรัชญาหรือศาสนา อาจไม่เหมาะสมสำหรับโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดของอริสโตเติล หรือ บัญญัติ 10 ประการ ที่เคยเป็นหลักนำทางด้านศีลธรรมให้แก่เรา กลับมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งในอนาคต

ในโลกของวิทยาศาสตร์ มีความพยายามที่จะแชร์ กฎหมาย 3 ข้อ ของอซิมอฟ (Asimov’s Three Laws for Robots) เพื่อใช้กับหุ่นยนต์ และ จริยธรรมในการทำงานของนิค บอสตรอม (Nick Bostrom’s work on ethics) แต่สำหรับมนุษย์แล้ว พบว่ามันเป็นการยากที่จะพัฒนาคุณธรรมสำหรับควบคุมตัวเอง เป็นเสมือนความพยายามที่โดดเดี่ยวในโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่

ขอบเขตนิยามของจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ ต้องครอบคลุมเหตุการณ์ในปัจจุบัน (เช่น การทำงานของระบบประมวลผลของ Facebook และ Google ส่งผลต่ออารมณ์ หรือ การตัดสินใจของเรา อย่างไร) จนถึงเหตุการณ์ในอนาคต (เช่น การมาถึงของ ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึง การตกงานมากขึ้นของคนขับรถบรรทุก)

โดยตัวอย่างต่อไปนี้ จะกล่าวถึงการตัดสินใจทางจริยธรรมที่เราอาจจะต้องเผชิญ :

วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อสร้างทารกที่ออกแบบได้ เป็นมนุษย์ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ควรเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่? สิทธัตถะ มุกเคอร์จี นักวิจัยโรคมะเร็ง และ ผู้เขียนหนังสือ “The Gene” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในหนังสือของเขาว่า “เมื่อพูดถึงประเด็นคำถามด้านจริยธรรมที่ลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์พันธุกรรม จะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการทดสอบเชาวน์ปัญญาบุตรหลานของคุณก่อนคลอด แล้วพบว่าเด็กมีไอคิว 80 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ? และ จะเป็นเช่นไร ถ้าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย?

AI และ ระบบข้อมูลและการเรียนรู้

เมื่อเวลาผ่านไป AI จะช่วยในการตัดสินใจในทุกเรื่องของเรา แต่จะทำอย่างไร ให้เกิดความมั่นใจว่า ระบบดังกล่าวได้มีการออกแบบอย่างเป็นธรรม? ทำอย่างไรเราจึงจะขจัดอคติออกจากระบบ เพื่อสามารถนำระบบดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่งในการทำงาน การรับสมัครนักศึกษา และแม้กระทั่งการเลือกคู่ครอง

ตำรวจควรนำซอฟต์แวร์ในการจดจำใบหน้ามาใช้หรือไม่? การคาดการณ์ของตำรวจที่อาศัยข้อมูลจากการประมวลผลของระบบ ควรนำมาใช้ในทางกฎหมายหรือไม่? สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบความเป็นส่วนตัวของเราหรือไม่? และ การที่รัฐนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาบังคับใช้นี้ จะนำไปสู่ยุคของการละเมิดสิทธิพลเมืองหรือไม่?

สื่อสังคมออนไลน์ และ สิ่งประดิษฐ์

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของเรา ถูกฝังด้วยซอฟต์แวร์การจดจำใบหน้า และ ระบบตรวจจับทางกายภาพ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ จะสามารถบอกได้ว่า ทุกประโยคคำพูด จะส่งผลต่ออัตราการเต้นหัวใจ และ ความดันโลหิตของเราอย่างไร?

หุ่นยนต์ และ เครื่องจักร

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ยานยนต์ไร้คนขับ และ หุ่นยนตร์สามารถตัดสินใจได้เอง หุ่นยนต์จำเป็นต้องมีสิทธิพื้นฐานเทียบเท่ามนุษย์หรือไม่? สิทธิของมนุษย์ที่จะแต่งงานกับหุ่นยนต์ และ สิทธิของหุ่นยนต์ที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะเป็นเช่นไร และ หุ่นยนต์ชั้นสูงควรได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ในงานทางการเมือง?

ในอดีตที่ผ่านมา ตลาดเสรี และ เวลา จะเป็นสิ่งที่ตัดสินชะตากรรมของนวัตกรรมใหม่ โดยมีรัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้เข้ามาแทรกแซง (เช่น การให้บริการของอูเบอร์ (Uber) เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศญี่ปุ่น แต่ดำเนินการได้ในประเทศอินเดีย)

การสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดระบบศีลธรรมบนเส้นทางของนวัตกรรมนี้ ยังมีไม่มากนัก จึงทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเจรจาระดับโลกเกี่ยวกับจริยธรรมในศตวรรษที่ 21 เป็นการเจรจา ที่หวังผลมากกว่า การตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ และ บทความแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการเจรจาที่ได้รับความสนใจในระดับคณะกรรมการภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เช่นสหประชาชาติ  เป็นต้น

การดำเนินนโยบายควบคุมการใช้เทคโนโลยี ของแต่ละภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน ยังเป็นการดำเนินงานแบบแยกส่วน จากข้อห้ามการโคลนนิ่งมนุษย์ จนถึงข้อบังคับในการดัดแปลงพันธุกรรมอาหาร จะพบว่า ในแต่ละภูมิภาค มีมุมมองและการตอบสนองที่ต่างกัน รวมถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายด้วย การดำเนินนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) ในการจัดการผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา และ จีน

ในทางกลับกันแล้ว ทุกภูมิภาคควรดำเนินนโยบาย โดยมองภาพในระยะยาว เพราะเทคโนโลยี เป็นเหมือนน้ำ มันจะหาช่องว่างที่จะไหลไปเสมอ และ ในโลกสมัยใหม่ที่มีการเชื่อมต่อกันนี้ การตัดสินใจดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศ จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ ได้รับฉันทามติระหว่างประเทศแล้ว

ในเวทีระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีการสร้างรูปแบบรายการของเทคโนโลยีที่ต้องมีการประเมินและกำกับดูแล รวมถึงมีการจัดทำแบบแผนจรรยาบรรณร่วมกัน ตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ ได้แก่ พิธีสารมอนทรีออล ปี 1987 (เพื่อรับมือกับปัญหาการลดลงของชั้นบรรยากาศโอโซน) และ การประชุมที่เมืองอะซิโลมาร์ ปี 1975 (เพื่อควบคุมเทคโนโลยีพันธุกรรม)

มนุษยชาติจะเผชิญกับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ แต่เราจำเป็นต้องหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาหารือกันในขณะนี้ ถ้าเราไม่ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า เราจะเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้กับเครื่องจักร ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีทางของมนุษยชาติโดยปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลที่จะตามมา ความเสี่ยงที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่าง กลุ่มคนที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และ กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยังล้าหลัง

หากคุณได้มีโอกาสชมซีรีส์เรื่อง Black Mirror ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของอังกฤษ แม้เพียงตอนเดียว ก็อาจทำให้คุณเกิดความกังวลต่อโลกในอนาคตได้ เพราะเนื้อหาของซีรีส์ดังกล่าวจะสะท้อนด้านมืดของเทคโนโลยี และ โลกในอนาคตที่เต็มไปด้วยความเลวร้าย ที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราไม่จัดการกับคำถามทางกฎหมาย และ ปรัชญา อย่างจริงจังในขณะนี้

การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ความวิตกกังวลต่างๆถึงสิ่งที่จะตามมา จากการปฏิวัติ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นสิ่งที่ดำเนินมาแล้วกว่า 200 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาอย่าง ยูวัล โนอาห์ ฮารารี มองว่ามันเป็นเหมือนเรื่องโกหกของเด็กเลี้ยงแกะ ที่กลายเป็นเรื่องจริงในท้ายที่สุด

นับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน สังคมมีการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี จากยุคของเครื่องจักรไอน้ำ ถึงยุคของ iPhone และเข้าสู่ยุคของการเพิ่มอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งว่ากันตาม

จริงแล้ว ในทุกวันนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ล้ำหน้ากระบวนการทางการเมืองไปแล้ว

บิล เกตส์ ได้กล่าวไว้ว่า “เทคโนโลยีไม่ได้รู้ผิดชอบชั่วดี” จะให้คุณหรือโทษ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตัดสินใจใช้มันอย่างไร ในอดีต เราเคยทำผิดพลาดในการร่างกฎบัตรคุณธรรมสำหรับการใช้อินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ทุกวันนี้ เราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ดังนั้น ในปัจจุบัน เราจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ AI

ที่มา : https://www.weforum.org/agenda/2017/02/ethics-2-0-how-the-brave-new-world-needs-a-moral-compass

 

 




Writer

โดย ณัฐพร สิริลัพธ์

รักษาการ หัวหน้าแผนกบริการกลาง แผนกบริการกลาง
สำนักผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ