วิถี Lean และ ความสูญเสีย 8 ประการ
โดยคุณกฤชชัย อนรรฆมณี Lean and Productivity Consultant / Trainer
➡️ ในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน การรักษาคุณภาพ ลดต้นทุน และ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อเวลา คือการทำให้ธุรกิจยังอยู่รอดต่อไปได้ ด้วยการ ลดความสูญเสีย (Waste) และ เพิ่มคุณค่า (Value) ในทุกกระบวนการทำงาน ซึ่งเป็นฐานแนวคิดของ Lean Manufacturing
ความสูญเสีย
กิจกรรมใดไม่นำไปสู่คุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ นับเป็นความสูญเสียตามแนวคิด Lean มีการขยายความที่แพร่หลาย ระบุไว้ด้วยคำย่อ DOWNTIME คือ
🟡 Defects (ของเสียหรือข้อบกพร่อง) การผลิตที่ผิดพลาดไม่ได้มาตรฐาน เกิดการแก้ไข (Rework) ทำซ้ำ (Reprocess) เป็นสินค้าเกรด B หรือ ต้องทำลายทิ้ง เสียเวลาและต้นทุนเพิ่ม
ปัญหานี้พบได้ในกระบวนการโดยตรง หรือที่ตัวสินค้า เช่น ส่วนผสมที่ไม่สม่ำเสมอมีการปนเปื้อน การประกอบผิดชิ้นส่วน ขนาด/ความแข็งแรงไม่ได้ตามกำหนด คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด บรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานเสียรูป
Defect มิได้หมายถึงสินค้าที่จับต้องได้เท่านั้น ยังรวมถึงข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกด้วย เช่น รายงานที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์/ไม่ถูกต้อง การเก็บข้อมูลคลาดเคลื่อน การสื่อสารผิดพลาด
🟡 Overproduction (ผลิตเกินความต้องการ) การผลิตสินค้าที่ลูกค้าไม่ต้องการ หรือ จำนวนเกินกว่าที่ลูกค้าต้องการ ทำให้เกิดปัญหาสินค้าหมดอายุ และ สินค้าคงคลังที่ไม่จำเป็น
การผลิตเกิน ส่งผลกับความสูญเสียอื่นๆตามมา เช่น ต้นทุนเพิ่มในการจัดเก็บและดูแลสินค้า ทั้งส่วนของวัสดุเครื่องมือ อุปกรณ์ แรงงาน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายที่ยุ่งยากขึ้น และ เชื่อมโยงไปยังปัญหาคุณภาพทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เพราะรับรู้ล่าช้าเมื่อเกิดของเสีย
🟡 Waiting (การรอคอย) ขั้นตอนที่ทำไม่ได้เนื่องจากขาดทรัพยากร หรือ ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน ‘รอยต่อ’ ของกระบวนการที่ไม่เชื่อมโยงประสานกัน มีกระบวนการ เร็ว-ช้า ทำให้กระบวนการอื่นๆ ต้องรอขั้นตอนที่เป็นคอขวด
การรอคอยระหว่างกระบวนการ ทำให้เวลาผลิต (Lead Time) ตั้งแต่ต้นจนจบยืดยาวโดยไม่จำเป็น ทั้งๆที่เวลาในกระบวนการจริงๆเป็นสัดส่วนที่น้อยนิด ตัวอย่างเช่น การรอวัตถุดิบ การรอคำสั่งผลิต การรอเครื่องจักรที่ขัดข้อง การรอความพร้อมของพนักงาน การรอจากการผลิตเป็น Lot/Batch ใหญ่
🟡 Non-utilized Talent (ใช้ศักยภาพบุคลากรไม่เต็มที่) หากลองตั้งคำถามกับพนักงานที่ทำงานว่า ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอย่างเต็มที่หรือไม่ คงมีทีมงานจำนวนมากที่กล่าวปฏิเสธ
ความสูญเสียนี้ นอกจากเป็นการเสียโอกาสขององค์กรแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นการเจริญเติบโตของพนักงาน สิ่งที่เกิดขึ้นเช่น การขาดโอกาสเสนอแนวคิดปรับปรุงงาน ขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะและเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ขาดแรงจูงในการทำงาน
🟡 Transportation (การขนส่ง) การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าคลังและกระบวนการผลิต การขนส่งผลิตภัณฑ์ การขนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือ แม่พิมพ์ Pallet ภาชนะบรรจุ
ทุกการเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้น เป็นความสูญเสีย เพราะไม่ได้มีการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จึงต้องบริหารจัดการเพื่อลดความสูญเสียให้มีน้อยที่สุด
ความสูญเสียคือ การจัดผังพื้นที่และกระบวนการไม่ดี เก็บวัตถุดิบไกลเกินไป การเคลื่อนที่หลายครั้งซ้ำซ้อนจากจุด A ไป B ไป C โดยไม่มีการแปรรูป สินค้าแตกหักบุบเสียหายระหว่างการขนส่ง การดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์เคลื่อนย้ายไม่เหมาะสม
🟡 Inventory (สินค้าคงคลัง) กินความได้ตั้งแต่วัตถุดิบที่รับเข้า, งานระหว่างผลิต และ สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว ความสูญเสีย เช่น การเก็บไว้นานจนเสื่อมสภาพ หมดอายุ สิ้นเปลืองพื้นที่จัดเก็บ เกิดต้นทุนเพิ่มด้านการจัดการ และ เงินทุนหมุนเวียนจมไปกับสินค้าคงคลัง
แนวคิด Lean คือการมี Stock ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เชื่อมโยงต่อไปกับหลักการของ JIT-Just In Time เพราะทุกกิจกรรมทั้งการรับเข้า จัดเก็บ และ จ่ายออก มีต้นทุนแฝงอยู่ซึ่งนับเป็นความสูญเสียทั้งสิ้น
🟡 Motion (การเคลื่อนไหว) แม้ว่าหลายโรงงานเป็นระบบอัตโนมัติ แต่ขั้นตอนจำนวนมากยังทำด้วยคน ทุกๆการเคลื่อนไหวของพนักงาน ที่ไม่นำไปสู่การสร้างคุณค่าในกระบวนการ เป็นความสูญเสีย เช่น การหาวัสดุหรือเครื่องมือที่จัดเก็บไม่เป็นระเบียบ ไม่สะดวก เสียเวลาหยิบ/เก็บ การทำงานไม่ถูกวิธึ
รวมถึงงานที่ทำแล้วเกิดปัญหาสุขภาพ ความเหนื่อยล้าโดยไม่จำเป็น ที่มาจากตัวขั้นตอนงานเองที่ไม่เหมาะสม หรือ สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่ดี เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น ศาสตร์ที่กล่าวถึงการจัดการในเรื่องนี้คือ การยศาสตร์ (Ergonomics)
🟡 Extra Processing (กระบวนการเกินจำเป็น/ไม่มีประสิทธิภาพ) กระบวนการเกินจำเป็น คือ ขั้นตอนงานที่ไร้คุณค่า ทำเกินกว่าลูกค้าต้องการ เช่น การออกแบบและใช้วัตถุดิบ/บรรจุภัณฑ์ ที่มีคุณสมบัติสูงเกินกว่าลูกค้าต้องการ การปรับแต่งรูปทรงวัตถุดิบที่ลูกค้าไม่ได้ให้ความสำคัญ
ขั้นตอนงานที่ไม่มีประสิทธิภาพคือ การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไม่เหมาะสม เช่น การใช้น้ำ ใช้พลังงาน ใช้ส่วนผสมวัตถุดิบ รวมถึงการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะกับงานด้วย
วิถี Lean
เพื่อลดความสูญเสีย หลักการสำคัญทั้ง 2 เรื่อง ที่ต้องจัดการให้ดีคือ ‘ปริมาณ’ และ ‘คุณภาพ’
มีเครื่องมือหลายอย่างในแนวคิด Lean เช่น 5ส กับกายภาพพื้นที่ทำงาน, การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM), กระบวนการที่ต่อเนื่องเพื่อลด Stock, การผลิตจำนวนน้อย (Small Lot), การสร้างมาตรฐานงาน (Standardized Work), ความผิดพลาดที่มองเห็นง่าย (Visual Management) เป็นต้น
‘คน’ คือหัวใจของการนำ Lean ไปใช้ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เครื่องจักรหรือเทคโนโลยี การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ
Lean เป็นกระบวนการที่ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง การนำไปปฏิบัติต้องมีความมุ่งมั่น สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อลดความสูญเปล่า เพิ่มคุณค่า และสร้างความยั่งยืนในธุรกิจครับ