30 December 2016

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจและสังคมจึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ภาคธุรกิจการเงินเองก็นำเอาเทคโนโลยีอย่าง “Blockchain” เข้ามาพัฒนาระบบการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเช่นกัน

 

เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร?

ระบบในการเก็บธุรกรรมออนไลน์ มีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม โดยไม่มีสถาบันการเงินหรือสำนักหักบัญชี ดังนั้น Blockchain จะไม่มีตัวกลางอย่างที่เป็นในปัจจุบัน เช่น การทำธุรกรรมด้วย Bitcoin จะมีรหัส Token สร้างขึ้น เพื่อสื่อสารกับ Blockchain และตรวจสอบว่า Bitcoin นั้น มีความน่าเชื่อถือก่อนที่จะทำธุรกรรมให้สำเร็จ การมี Blockchain จึงตัดตัวกลางทางการเงินออกไป ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลง ซึ่งในอนาคต หากเทคโนโลยีนี้เข้ามาแทนได้เต็มรูปแบบอาจจะไม่ต้องมีสถาบันการเงินหรือสำนักหักบัญชีอีกต่อไปในอนาคต

นอกจาก Blockchain จะถูกใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินแล้ว ยังอาจถูกนำไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่นการเก็บสถิติการเลือกตั้ง การให้ยืม Cloud Storage ระหว่างกัน ระบบ Peer to Peer Lending และอื่น ๆ  ปัจจุบันธนาคารมีการลงทุนในการทำ Blockchain มากขึ้น เช่น ธนาคาร Citibank ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ รวมไปถึงบริษัท VISA เข้าลงทุนในบริษัท Blockchain เช่น Chain.com

ผลกระทบของเทคโนโลยี Blockchain ต่อระบบเศรษฐกิจ

รายงาน WEF ได้ศึกษาเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในอนาคตเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ที่รัฐนิวยอร์ค สหรัฐฯ ว่า Blockchain จะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของสถาบันการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ดี ผลกระทบของ Blockchain ที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานใหม่ ๆ และโครงสร้างทางการเงินที่เปลี่ยนไป จะมีมากกว่านวัตกรรมทางการเงิน Fintech หรือสกุลเงินใหม่ ๆ เช่น Bitcoin เสียอีก

ในรายงานยังสำรวจคนที่ใช้บริการทางการเงินในแต่ละธุรกรรมของ Blockchain ประกอบด้วย – การประกันภัย , การชำระเงิน , การทำการตลาด , การจัดการการลงทุน , การระดมทุน , การฝากเงินและการให้กู้ยืมเงิน – ด้านล่างเป็นภาพแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี Blockchain ทำให้กระบวนการทำงานของแต่ละธุรกรรมอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ไบโอเมตริกซ์ Cloud Computing, Cognitive Computing Machine Learning, Quantum Computing เข้ามาร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain ในการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคต

bc1

นอกจากนี้ รายงานยังกล่าวว่า ธุรกรรมหลายอย่างจะถูกแทนที่ด้วย Blockchain ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกรรม พื้นฐาน หรือธุรกรรมหลักของธนาคาร เช่น

–         การชำระเงิน และการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จำนวนมากที่ปัจจุบันยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ

–         Rehypothecation หรือ Repackaging Mortgage ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา

–         การรายงานการดำเนินการของธนาคารให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและเสียเวลา

ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยให้ธนาคารลดกระบวนการทำงานในส่วนสนับสนุนที่มีความซับซ้อนได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย มีความปลอดภัยสูงขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมระหว่างธนาคารด้วยกัน เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain เป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่ใช้ Fiat Currency ในการโอนเงินซึ่งทำให้เกิดความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพกว่ากระบวนการโอนเงินแบบเดิมที่ยุ่งยาก ดังแสดงด้านล่าง

bc2

Giancarlo Bruno หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการเงิน WEF กล่าวว่า “เทคโนโลยี Blockchain จะถูกใช้แพร่หลายทั่วโลกเพราะมีขอบเขตการดำเนินงานที่กว้างกว่าระบบการเงินในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สร้างโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมด้านการเงินแบบบูรณาการมากขึ้นคล้ายกับที่เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ บริการส่งข้อความ และการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ในอดีต”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า Blockchain ทำให้โครงสร้างการให้บริการของสถาบันการเงินรวมถึงงานสนับสนุนการให้บริการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ Blockchain จะทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทถูกลง ตั้งแต่การชำระเงินซื้อขายหุ้นและพันธบัตรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน สามารถหยุดการละเมิดกฎระเบียบก่อนที่จะมีการทำผิด รวมถึงดูแลสถาบันการเงินได้อย่างใกล้ชิดในการส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินได้

อย่างไรก็ดี Bob Contri หัวหน้าหน่วยฝ่ายการเงินของ Deloitte Global และเป็นผู้ร่วมให้ทุนในการศึกษานี้ กล่าวว่า สถาบันการเงินจะต้องเกิดการแข่งขันจึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นก่อนที่จะมีการนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบที่ไม่แน่นอน การขาดมาตรฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมาตรการทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ

รายงานฉบับนี้ยังเตือนว่าเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาพร้อมกับความเสี่ยงที่ตามมาเหมือนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านอื่นเช่นกัน ความเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ข้อผิดพลาดจากการออกแบบ พฤติกรรมการใช้งานที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์ และช่องว่างในการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ปัจจัยนำเข้าไปจนถึงผลผลิต ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่ต้องจัดการให้ได้ เพื่อแลกกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.weforum.org/press/2016/08/blockchain-will-become-beating-heart-of-the-global-financial-system/

https://www.weforum.org/reports/the-future-of-financial-infrastructure-an-ambitious-look-at-how-blockchain-can-reshape-financial-services/

Blockchain คืออะไร ???

 

 




Writer

โดย พัชรศรี แดงทองดี

นักวิจัย ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
Thailand Productivity Institute