หมุดหมายบนหลายเส้นทาง
โดย คุณสุรีพันธุ์ เสนานุช วิทยากรอิสระ ด้านการจัดการความรู้และถอดบทเรียน
🤔 ทำไมการจัดการความรู้ในหลายองค์กรจึงลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีความต่อเนื่อง หรือบางองค์กรอาจมีความต่อเนื่องแต่ไม่เห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น ทำไม KM จึงกลายเป็นยาขมของคนทำงานหลายองค์กร นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนพยายามหาคำตอบมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีจากการทำงานวิจัยองค์กรที่ผ่านมา และคำตอบเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อได้มีโอกาสเป็นวิทยากรด้านการจัดการความรู้และการถอดบทเรียนในหลายองค์กรพบว่าคำตอบอยู่ที่การจัดการความรู้นั้นปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจน
การจัดการความรู้ที่ผ่านมาของหลายองค์กรเหมือนการเดินทางตามแผนที่ พร้อมทั้งความเชื่อว่าปลายทางคือแดนสวรรค์ที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ แดนสวรรค์จึงเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่ใช่ความจริง บนเส้นทางที่ดั้นด้นไปจึงราวกับไปไม่ถึงสักที เมื่อเหนื่อยล้าจึงหยุดพัก พักแล้วก็ต้องเริ่มต้นใหม่
อันที่จริงแล้ว การบริหารจัดการองค์กรไม่ว่าจะใช้เครื่องมือชิ้นใด การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าวิธีการด้วยซ้ำ เหมือนกับการที่ปักธงไว้ว่าเราจะไปเชียงใหม่ด้วยกัน แต่จะเดินทางด้วยวิธีใดก็มาตกลงกัน แต่ทุกคนย่อมเห็นภาพเชียงใหม่ที่เป็นภาพจริง มีแรงบันดาลใจร่วมกันว่าทุกคนต้องการไปที่นั่น
เช่นเดียวกันที่ผ่านมาการจัดการความรู้ของหลายองค์กรติดกับดักอยู่ที่การเดินตามทฤษฎีของสำนักต่างๆ จนลืมนึกถึงคำถามที่สำคัญที่สุดคือองค์กรต้องการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร รับรู้แต่ว่าการจัดการความรู้เป็นสิ่งที่ดีกับองค์กรในระยะยาว แต่สิ่งที่ดีนั้นคืออะไร ถ้าไปถามคนในองค์กรเชื่อว่ามีคำตอบมากกว่าหนึ่ง และนั่นทำให้เส้นทางของการจัดการความรู้ไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะจุดหมายนั้นพร่าเลือน และอาจนำพาคนในองค์กรไปคนละทิศทาง
ทฤษฎีการจัดการความรู้ที่มีมากกว่าหนึ่ง ยังมีวิธีการปฏิบัติที่หลากหลายที่เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม และอาจไม่ต้องเกาะติดกับทฤษฎีใดด้วยซ้ำ สิ่งที่สำคัญก็คือหมุดหมายที่ชัดเจนเท่านั้นเอง
📍หมุดหมายนั้นจะเรียกว่าเป้าหมาย การปักธง ฯลฯ ความหมายก็คือทุกคนในองค์กรต้องรู้และเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมจึงต้องมีการจัดการความรู้ คำนั้นควรจะมีความหมายที่กระจ่าง ไม่ต้องตีความซ้ำ สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากจะไปถึง
อย่างเช่น กรมอนามัยกำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการในการดำเนินการจัดการความรู้ว่าหนึ่ง ต้องทำให้การทำงานดีขึ้น สอง ต้องทำให้คนทำงานเก่งขึ้น และสาม ต้องทำให้องค์กรเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ส่วนวิธีการนั้นแต่ละหน่วยงานย่อยเลือกทำได้ตามความเหมาะสม เป็นต้น
องค์กรที่อาจทำการจัดการความรู้มาไม่ต่อเนื่อง มีการผลัดเปลี่ยนคนทำงาน ที่ทำให้ต้องมาเริ่มกันใหม่จึงไม่ใช่ปัญหา อาจเหลือเพียงกิจกรรม CoPs ก็ทำไปเพียงแต่ให้เริ่มกำหนดหมุดหมายให้ชัด เรียนรู้วิธีการทำ CoPs อย่างถูกต้องให้มีประสิทธิผลสามารถเชื่อมโยงไปถึงหมุดหมายนั้นได้อย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน องค์กรก็สามารถใช้การจัดการความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เพียงดำเนินการตามแผนที่ความเชื่อเดิมๆ ว่าทำไปแล้วจะเกิดผลดีเหมือนที่ผ่านมา
💡การถอดองค์กความรู้เป็นเครื่องมือหลักที่ของการจัดการความรู้ที่จะทำให้องค์กรมีความรู้เอาไว้ใช้อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการถอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้บริหาร การถอดองค์ความรู้ที่เป็น Key Knowledge ของผู้ปฏิบัติงาน การถอดองค์ความรู้จาก CoPs หรือ AAR การถอดองค์ความรู้ที่เป็น Best Practices หรือการถอดองค์ความรู้จากการไปดูงาน ทุกรูปแบบใช้แป็นวิธีการปฏิบัติไปสู่เป้าหมายได้ทั้งสิ้น ถ้ารู้จักวิธีใช้อย่างถูกต้อง
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือหมุดหมายของเราคืออะไร ที่จะนำพาความสำเร็จที่ต้องการมาได้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นมาเลือกวิธีการเดินทางด้วยกันว่าวิธีใดที่องค์กรมีความพร้อม สอดคล้องกับวิถีการทำงานจนสามารถเป็นเส่วนหนึ่งของงานประจำวันอย่างไม่เคอะเขิน แปลกแยก ทุกคนพร้อมที่จะเปิดรับ เมื่อนั้นการจัดการความรู้จะไม่มีสถานะลุ่มๆ ดอนๆ หรือกลายเป็นยาขมอีกต่อไป