12 June 2024

Sustainability Literacy 

 

โดย ฝ่ายวิจัย Thailand Productivity Institute

 

               แนวคิดเรื่องความยั่งยืนถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1975 ในการศึกษาทั่วโลกโดยโครงการการศึกษาสิ่งแวดล้อมนานาชาติของ UNESCO-UNEP โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึง “Sustainability” เรามักนึกถึง “Tripple Bottom Line” หรือ People สังคมหรือความเสมอภาค Profit เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือผลกำไรทางธุรกิจ และ Planet สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา หรือในมุมของ 3Es หรือ Economics, Ecology และ Equity หรือมุมของ ESG หรือ Environment Social Governance 🌍

แล้วความยั่งยืนที่แท้จริงคืออะไร? 

               มันคือวิสัยทัศน์ของสังคมที่ดำรงอยู่โดยไม่ยืมทรัพยากรมาจากรุ่นอนาคตมาใช้ในปัจจุบันในขณะเดียวกันรุ่นปัจจุบันก็ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรที่ใช้อยู่ด้วยเช่นกัน เมื่อมีความตระหนักในเรื่องนี้ ต่อมาก็มีแนวคิดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและที่เรารู้จักเป็นอย่างดีคือ 17 SDGs ของสหประชาชาติ ที่ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมมุมมองที่กว้างขึ้น เช่น การขจัดความยากจนและความหิวโหย การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน การเข้าถึงการศึกษาของทุกคน การเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการจ้างงานเต็มรูปแบบ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ยั่งยืน การลดความไม่สมดุลระหว่างประเทศ การส่งเสริมเมืองที่ครอบคลุม ปลอดภัย ฟื้นตัวได้ และยั่งยืน การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ การอนุรักษ์และการพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลและบนบกอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสังคมที่มีส่วนร่วม การเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน เมื่อพิจารณาลงในประเด็นที่สหประชาชาติได้ขยายความ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินการตามการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทั้งหมดที่กล่าวมา จะต้องพิจารณาหลายมิติทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  

 

               สำหรับ Sustainability Literacy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน ทางสหประชาชาติ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า the knowledge, skills, and mindsets that help compel an individual to become deeply committed to building a sustainable future and allow him or her to make informed and effective decisions to this end” ซึ่งทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้ตีความจากคำจำกัดความนี้ว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนคือ สมรรถนะระดับบุคคล (Individual Competency) ที่เข้าใจในหลักการ วิธีการ “ความยั่งยืน” และสามารถออกแบบแนวทางปฏิบัติเพื่อประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่

 

               โดยต้องสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต สำหรับ Keyword ของคำจำกัดความข้างต้นคือ การประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทสภาพแวดล้อมที่เผชิญอยู่ เนื่องจากจะไม่มี one size fit all ด้วยเรามีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีความแตกต่างกันในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นอกจากนี้ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน ยังมีความเชื่อมโยงระหว่างกันของประเด็นเชิงสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันด้วย

 

 

ดังนั้น Sustainability Literacy หรือองค์ความรู้ที่จะเปลี่ยนโลก จากโครงการศึกษาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับภูมิภาคด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยไบรตัน ได้มีการระบุรายละเอียดไว้ว่ามีถึง 28 องค์ความรู้สำคัญ ได้แก่  

  1. Ecocriticism เป็นความสามารถในการพินิจพิจารณาเหตุการณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น ขยะในครัวเรือนทั่วไป เช่น กล่องซีดีและดีวีดี เสื้อผ้าส่วนเกิน รองเท้าและอื่นๆ ถูกทิ้งปราศจากการจัดการ โดยสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผลกระทบเชิงนิเวศวิทยาได้
  2. Optimization หรือศิลปะแห่งความพอเพียงส่วนบุคคล เราสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดปรัขญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ คือ การยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็น พื้นฐานในการตัดสินใจและการกระทำ
  3. Grounded Economic Awareness เป็นความตระหนักทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของคุณค่าทางนิเวศวิทยาและจริยธรรม
  4. Advertising Awareness ความสามารถในการใช้ข้อความสื่อโฆษณาเพื่อสร้างความแนวร่วมและแรงผลักดันรวมถึงการรู้เท่าทันและต่อต้านวาทกรรมเชิงลบ
  5. Transition Skills ทักษะในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสหวิชาเกี่ยวข้องกับบริบทการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งอาจเป็นทักษะใหม่ที่ควบคู่ไปกับทักษะแบบดั้งเดิมที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับลูกหลานและชุมชนในหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้
  6. Commons Thinking เป็นความสามารถในการดำเนินการที่สามาถเชื่อมโยงกันให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในทุกสถานการณ์ทั้งเชิงลบและเชิงบวก แม้ว่าจะมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมก็สามารถสร้างความท้าทายในเชิงสร้างสรรค์
  7. Effortless Action ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างง่ายดายผ่านการทำงานร่วมกับธรรมชาติ และหัวใจสำคัญคือการสร้างความมีส่วนร่วมจากการสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สมาชิกของชุมชนท้องถิ่น และระบบธรรมชาติในท้องถิ่น 
  8. Permaculture Design การออกแบบการดำเนินชีวิตโดยมีธรรมชาติเป็นแบบอย่าง เช่น การใช้ประโยชน์ของเรือนกระจกให้รวบรวมพลังงานแสงอาทิตย์และส่งผ่านบางส่วนไปยังบ้านในรูปแบบของการทำความร้อน พลังงานยังถูกเก็บไว้ในผนังบ้านและแผ่ความร้อนในเวลากลางคืน ทำให้เรือนกระจกปราศจากน้ำค้างแข็งและอบอุ่น
  9. Community Gardening ทักษะในการสร้างชุมชนและการทำงานร่วมกันภายในขอบเขตสิ่งแวดล้อมที่ต้องดูแลร่วมกัน
  10. Ecological Intelligence การมองโลกอย่างสัมพันธ์กัน เป็นความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณว่าสิ่งที่เราทำส่งผลอย่างไรต่อนิเวศวิทยา และสามารถคิดการกระทำที่แตกต่างและให้ผลที่ดีขึ้นได้หรือไม่
  11. Systems Thinking ความสามารถในการรับรู้และวิเคราะห์การเชื่อมต่อภายในและระหว่างระบบ
  12. Gaia Awareness ความตระหนักรู้ถึงคุณสมบัติภาพเคลื่อนไหวของโลกว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมกำกับสภาพแวดล้อมของตัวเองผ่านการทำงานที่สอดประสานกันของพลังงานและสสารทุกอย่างบนโลก การดำเนินการใดๆ ล้วนส่งผลต่อโลกในท้ายที่สุด
  13. Futures Thinking ความสามารถในการจินตนาการถึงสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตอันพึงประสงค์
  14. Values Reflection and the Earth Charter ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์คุณค่าของสังคมที่ไม่ยั่งยืนและพิจารณาทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
  15. Social Conscience ความสามารถในการสะท้อนความคิดเห็นที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคมและความยั่งยืน
  16. New Media Literacy ทักษะการสื่อสารเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการออกแบบสื่อและช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มแต่ละกลุ่มผ่านเครือข่ายสังคม เกมออนไลน์ การเรียนรู้ทางไกลออนไลน์ และโลกเสมือนจริง 3 มิติ
  17. Cultural Literacy ความเข้าใจและความเคารพต่อแง่มุมทางวัฒนธรรมของความยั่งยืน ครอบคลุม การรับรู้ข้ามวัฒนธรรม การรับรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น การสะท้อนและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะส่วนบุคคลในการรับมือกับการเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง
  18. Carbon Capability ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
  19. Greening Business การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของธุรกิจและองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้พนักงานทุกระดับสามารถมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องมีพนักงานที่มีความรู้ด้านความยั่งยืน ความรู้ด้านความยั่งยืนนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเชิงปฏิบัติควบคู่ไปกับค่านิยมและจริยธรรมที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเชิงบวกภายในองค์กร
  20. Materials Awareness ความสามารถในการเข้าใจถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของวัสดุที่ใช้อยู่ถึงผลกระทบต่อความยั่งยืน รวมถึงการออกแบบวิธีการจัดการที่เหมาะสม 
  21. Appropriate Technology and Appropriate Design ความสามารถในการออกแบบระบบ เทคโนโลยี และอุปกรณ์ในลักษณะที่เหมาะสม สามารถตัดสินใจเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีประเภทที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ภายใต้สถานการณ์เฉพาะ เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มหายากขึ้นและการใช้งานมีจำกัดมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถตอบสนองต่อการเผชิญกับปัญหาที่แท้จริงจะมีความสำคัญมากขึ้น
  22. Technology Appraisal ความสามารถในการประเมินนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีมูลค่า รวมถึงความสามารถในการประเมินผลประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีกับระดับการลดพลังงานที่จำเป็นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนน้ำมันที่ถึงจุดสูงสุด
  23. Complexity, Systems Thinking and Practice ด้วยความสัมพันธ์การเติบโตภายใต้ความยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องกับหลายหลายภาคส่วน จึงต้องมีทักษะและเทคนิคในการบริหารจัดการระบบที่ซับซ้อน
  24. Coping with Complexity เป็นความสามารถในการจัดการปัญหาความยั่งยืนที่ซับซ้อน เริ่มจากการรับรู้ปัญหา การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียการใช้แผนที่แนวคิดอาจช่วยทำให้ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น เห็นองค์ประกอบของสถานการณ์เพื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น และการสื่อสารเพื่อเรียกร้องให้มีการตอบสนองที่แสดงออกมาในหลายวิธีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน รวมถึงการรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
  25. Emotional Well-being ความสามารถในการค้นคว้าและไตร่ตรองถึงรากฐานของความเป็นอยู่ที่ดี สามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคแบบดั้งเดิมให้เป็นการบริโภคสีเขียว ส่งเสริมให้เป็น “การบริโภคสีเขียว” แต่ไม่ใช่สีเขียวถึงขนาดที่อาจบ่อนทำลายเศรษฐกิจผู้บริโภค
  26. Finding Meaning without Consuming ความสามารถในการสัมผัสความหมาย วัตถุประสงค์ และความพึงพอใจผ่านความมั่งคั่งที่ไม่ใช่วัตถุหรือการมองถึงความหมายทางใจหรือทางอารมณ์มากขึ้น
  27. Being-in-the-World ความสามารถในการคิดเกี่ยวกับตนเองในการเชื่อมโยงและการพึ่งพาอาศัยกันกับโลกรอบตัว
  28. Beauty as a Way of Knowing การสร้างความรู้ผ่านประสบการณ์การมีส่วนร่วมในโลกโดยตรงเพื่อเห็นและตระหนักถึงความงามของโลกใบนี้

               

             อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายของการศึกษานี้คือเพื่อเปิดเส้นทางขององค์ความรู้เปลี่ยนโลกที่ไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีมีบางองค์ความรู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเป็นข้อมูลสำหรับการต่อยอดเพื่อศึกษาเพิ่มเติม อาจมีข้อโต้แย้งว่าระดับลึกสุดของ Sustainability Literacy เป็นความตระหนักที่อยู่ในระดับจิตวิทยาส่วนบุคคลและการรับรู้ทางสังคม โดยด้านจิตวิทยาที่สำคัญประการหนึ่งคือการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถพบวิธีที่จะบรรลุความพึงพอใจในชีวิตโดยไม่ต้องบริโภคทรัพยากรมากเกินความจำเป็น แต่ด้วยเงื่อนไขของโลกที่ไม่สามารถโต้แย้งได้คือ เรากำลังเผชิญกับปัญหาโลกเดือด ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างทักษะที่จะเปลี่ยนโลก ต้องช่วยกันพยายามเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์เพื่อให้สามารถช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้โดยเร็ว ต้องพยายามทำความเข้าใจกับ Sustainability Literacy และผลักดันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลได้โดยเร็ว จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน 

 

ที่มา: THE HANDBOOK OF SUSTAINABILITY LITERACY: Skills for a changing world, Edited by Arran Stibbe 

 

ค้นหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

👉 หลักสูตร GRI Certified Training Program Reporting with GRI Standards 2021 Update
เข้าใจ เข้าถึง การจัดทำรายงานความยั่งยืนตามแนวทางสากล คลิก




Writer

โดย ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ