หัวหน้ามืออาชีพ เป็นได้ด้วยตัวเรา
โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร
ที่จริงแล้วคนเราทุกคนมี อะไรที่มากกว่าบุคลิกภาพภายนอก ซึ่งเป็นส่วนที่คนทั่วไปสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของคนๆ นั้น แต่สิ่งที่อยู่ลึกๆ ภายในต่างหากที่ยากในการเข้าถึงและทำความเข้าใจได้อย่างแท้จริง บุคลิกภาพ (Personality) เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับต้นไม้ในส่วนของลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผล หรือทุกส่วนที่อยู่พ้นจากพื้นดิน คนทั่วไปมักจะชื่นชมกับส่วนที่มองเห็นและให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ จึงไม่แปลกที่ทำไมเราจึงต้องเสริมสร้างบุคลิกภาพ เพราะเป็นส่วนที่ปรุงแต่งได้ เพื่อให้เหมาะสมเข้าได้กับสังคมนั้นๆ หรือให้ดูดีในสายตาผู้อื่น ที่สำคัญบางครั้งเราปรุงแต่งมากไปจนหลงลืมไปว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอะไร
ส่วนที่อยู่ใต้พื้นดินของต้นไม้ต่างหากที่สำคัญ ดั่งคำพูดที่ว่า “ไม้ดีย่อมเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี” ดังนั้นคนดีจึงไม่อาจตัดสินได้จากบุคลิกภาพภายนอก แต่ต้องมองให้ลึกถึงภายในซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะ (Character) หรือตัวตนที่แท้จริง (True Self) เพราะเป็นส่วนที่ก่อกำเนิดเกิดมาตั้งแต่เด็กผนวกรวมกับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ จากสิ่งที่รายล้อมอยู่รอบข้าง ทั้งที่เป็นคนและสภาพแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้บุคลิกภาพภายนอกแตกต่างไปจากลักษณะตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น มาจาก 2 สิ่ง คือความกลัว (fear) และความต้องการ (desire) ในทางพุทธศาสนาเรียก 2 สิ่งนี้ว่า กิเลส ถ้าความกลัวและความต้องการเป็นไปในทางที่ดีจากความคิดที่เป็นบวก ก็จะช่วยเสริมส่งเราให้ทำเรื่องที่ดี แต่ถ้าเป็นไปในทางลบก็จะนำพาเราไปสู่จุดตกต่ำได้ในที่สุด
มีผู้จัดการมากมายในหลายองค์กร ได้รับการปรับเลื่อนตำแหน่งจากพนักงานระดับปฏิบัติการ สู่การเป็นหัวหน้างาน หรือผู้จัดการที่ต้องนำทีมให้ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายในแต่ละปี นอกจากต้องรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของตัวเองแล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของคนอื่นๆด้วย ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบหนึ่งของใครก็ตามที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร ที่ต้องมีลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา แต่โชคไม่ดีที่ส่วนใหญ่ พวกเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมในทักษะที่จำเป็น Supervisory skill โดยเฉพาะสถานการณ์จำเพาะที่แต่ละคนต้องประสบพบเจอ
“เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ผมและเพื่อนร่วมงานได้ทำหน้าที่ในสถาบันด้านการจัดการชั้นนำของประเทศ และต้องไปให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการวางระบบบริหารจัดการองค์กร รวมถึงจัดทำแผนการเรียนรู้และการพัฒนาคน (Learning and Development Program) ร่วมกับองค์กรต่างๆในประเทศไทย แม้ว่าวัตถุประสงค์ที่ไปจัดทำให้ในแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่เนื้อหาสาระหลักที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับประเด็นภาวะผู้นำ (Leadership) และการจัดการ (Management) ไม่ใช่เพียงแค่หัวหน้างานหรือผู้จัดการใหม่วัยใส ที่เข้าสู่ตำแหน่งไม่เกิน 3 ปี ที่พวกเราต้องทำงานร่วมด้วยเท่านั้น หากแต่เพื่อช่วยทุกคนที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ความท้าทายที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน เราจึงมักนำกรณีศึกษาและบทเรียนต่างๆในช่วงเวลาที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ความยุ่งยาก ผนวกเข้ากับคำคมจากผู้บริหารชั้นนำ เพื่อช่วยจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ และให้พวกเขาได้ฝึกคิดวิเคราะห์และลองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ว่าถ้าเจอเหตุการณ์เช่นที่ว่า เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วก็ตบท้ายด้วยหลักคิดผสมวิธีการ เพื่อให้การปฏิบัติมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น”
แก่นของความสำเร็จที่เกิดขึ้นทุกครั้ง คือการจัดการตนเองและภาวะผู้นำ (Personal management and leadership insight) ลองนึกถึงภาพเหตุการณ์ที่แต่ละท่านได้มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่จะต้องนำทีมเพื่อทำงานให้เป็นไปตามนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายขององค์กร เชื่อว่าทุกคนรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสก้าวหน้าขยับฐานะทางเศรษฐกิจ (ได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากเลื่อนตำแหน่ง) และได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไปตามลำดับ หลายคนอาจคิดว่าการเข้าสู่ตำแหน่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้รับการฝึกอบรมเป็นลำดับถัดไป หากแต่เจ้านายจำนวนไม่น้อยกลับทิ้งคุณไว้ในบ่อที่ลึกมาก แล้วดูว่าคุณจะขึ้นมาได้อย่างไร ทำให้นึกถึงภาพยนตร์หรือเกมโชว์แนว “Survival Game” โหดร้ายใช่ไหมล่ะ
ดังนั้นสำหรับหัวหน้างานและผู้จัดการที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก หนังสือแนวสรุปย่อเทคนิควิธีการด้านการจัดการ (Essential Management Handbook) ช่วยได้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าได้เรียนรู้ผ่านหนังสือที่รวมรวมกรณีศึกษาจากเรื่องจริง (Management Guidebook in Practice) เข้ามาด้วยจะช่วยเพิ่มความคุ้นเคยให้กับทุกคนได้มากกว่า ที่สำคัญเมื่อถึงเหตุการณ์ที่เราเคยอ่านเคยวิเคราะห์มาก่อน ย่อมสามารถหยิบจับนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี หัวหน้างานและผู้บริหารที่จะเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง จึงมักไม่ค่อยรอให้ใครมาสอนหรือหยิบยื่นหลักสูตรฝึกอบรมให้ แต่กลับแสวงหาและเรียนรู้จากช่องทางต่างๆรอบตัว
ยิ่งในยุคนี้ที่นอกจากมีแหล่งความรู้ออนไลน์ผนวกกับระบบค้นหาที่เลอเลิศแล้ว ยังมี AI ที่เข้ามาช่วยเราไม่ว่าจะเป็น ChatGPT (พัฒนาโดย OpenAI) หรือ Gemini (ชื่อเดิม Google Bard) และ AI Chatbot อื่นๆอีก ที่เราสามารถพูดคุยและโต้ตอบกับมันได้เหมือนเป็นผู้ช่วยแสนรู้ข้างตัวเรา
Moment of Power ช่วงเวลาที่จำเป็นต้องแสดงอำนาจบางอย่างในตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ในทุกวัน ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณทำอะไรซ้ำเดิมกับสิ่งเดิมที่คุณทำอยู่ทุกวัน คุณก็จะได้ผลลัพธ์เดิมๆ แต่ถ้าเราได้ฝึกหาทางออกของปัญหาในมุมมองที่ต่างกัน และเขียนทางเลือกอื่นๆ (option) ที่สามารถทำได้จากเหตุการณ์นั้น จากนั้นตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นคุณจะเลือกทางเลือกไหน โดยให้วิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก แล้วสุดท้ายให้สรุปทางเลือกที่ดีที่สุดในความคิดคุณ นั่นแหละคือวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างพลังให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่หัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือแม้แต่ผู้บริหาร จำเป็นที่จะต้องตระหนักและพัฒนาตัวเอง Jonh Cross หนึ่งในผู้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Little Black Book for Managers: How to Maximize Your Key Management Moments of Power ได้สรุปสาระสำคัญไว้ 4 ประเด็น ได้แก่
สร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ (Your Rewarding Job) ซึ่งถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักของผู้จัดการทุกคน เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เนื้อหาส่วนนี้จะมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยคุณสร้างรูปแบบการทำงานที่ทันสมัยและบ่งชี้จุดสำคัญที่จำเป็นต่อการปรับปรุง การเก็บและรักษาข้อมูลผลการดำเนินงานให้มีความถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ และสามารถรายงานผลต่อผู้ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ด้วยงบประมาณตามที่กำหนดไว้
มองตนให้รอบด้าน (It’s All About You) เน้นการมองตนและพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้จัดการที่มีขีดความสามารถสูง โดยพิจารณามิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนและจุดแข็ง การบริหารเวลา การตัดสินใจ และการใช้อำนาจตามหน้าที่ร่วมกับผู้ร่วมงานของคุณให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี
สร้างทีมของคุณขึ้นมา (Your Team Is What You Make It) เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการจำเป็นที่จะต้องรวมคนที่ต้องทำงานร่วมกับคุณ และผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณ ให้สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ และทำงานร่วมกันด้วยความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นผู้จัดการจึงต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ความท้าทายต่างๆที่เข้ามา
เฟ้นหาพนักงานที่มีความสามารถสูง (Your Talented Staff) ผู้จัดการจะสร้าง พัฒนา และรักษาพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นรู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนในตัวเขาที่ต้องขจัดออกไป และอะไรเป็นจุดแข็งที่ควรจะนำมาใช้ ตลอดจนถึงการแสวงหาสมาชิกใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถ โดยคำนึงถึงการให้อิสรภาพกับผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังมีการดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดกับคนที่ยังต้องพัฒนา
ด้วยแนวทาง (Guideline) เพื่อการพัฒนาตนเอง คนรอบข้าง และองค์กรที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ จะทำให้ทุกคนเป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหารมืออาชีพ จงใช้จินตนาการของตนคิดถึงเหตุการณ์ที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้กับตัวเรา หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นที่เราเคยเห็นหรือรับรู้มา ทดลองฝึกฝนการคิดวิเคราะห์และหาทางออกของเหตุการณ์ต่างๆ เชื่อว่าทุกคนจะกลายเป็นผู้นำโดยธรรมชาติในที่สุด ที่สำคัญเราจะสามารถจัดการกับปัญหานั้นๆได้รวดเร็วเหมือนกับว่าเคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว