13 September 2023

ภาวะผู้นำในการจัดการวิกฤต กับ ภารกิจถ้ำหลวง

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี – Lean and Productivity Consultant / Trainer

เดือน มิ.ย. 2561 ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก จากความสำเร็จ ในปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย

ภารกิจที่กล่าวว่าแทบเป็นไปไม่ได้ บรรลุเป้าหมายทุกชีวิตปลอดภัย ด้วยความความสามารถในการหลอมรวมผู้เชี่ยวชาญ และ บุคลากรจำนวนมากเข้ามาทำงานร่วมกัน

ผ่านมา 5 ปี เดือน มิ.ย. 2566 เราสูญเสีย อดีตผู้ว่าฯณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้นำของภารกิจครั้งนั้น บทความนี้ ขอร่วมระลึกถึงด้วยการหยิบบางมุมของภารกิจ มาเรียนรู้เป็นกรณีศึกษาครับ

จุดประสงค์ และ ค่านิยมของทีม

ปัจจุบันมีพูดถึงคำว่า Purpose กันมาก ทั้งในแง่องค์กร หรือ แต่ละบุคคล ในกรณีองค์กร Purpose คือสิ่งที่ยึดโยงให้พนักงาน ร่วมทำงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

หลังจากข่าวการติดในถ้ำ กระจายไปถึงครอบครัวของทีมหมูป่า ญาติของน้องๆไม่น้อยต่างเดินทางมาที่หน้าถ้ำ ภาวนาเฝ้ารอ ด้วยความกระวนกระวายเป็นห่วงลูกหลานตนเอง

Purpose ของภารกิจอาจจะอยู่ที่ประโยคนี้ ที่อดีตผู้ว่าฯ กล่าวกับญาติๆ เพื่อขอความเชื่อมั่นให้กับทีมค้นหาทำงานได้อย่างสะดวก และ จัดระเบียบพื้นที่ปฏิบัติงาน

ผมจะหาลูกของท่านให้เจอ

ผมจะอยู่กับท่านจนนาทีสุดท้าย ที่หาลูกท่านเจอ

มิฉะนั้นผมจะไม่ยกเลิกการค้นหา

ที่หน้าถ้ำมีกระดานขาวอันหนึ่ง แขวนติดต้นไม้ที่จุดนั่งพักของหน่วย SEAL กองทัพเรือ ซึ่งเป็นทีมงานสำคัญในงานครั้งนี้

ข้อความประโยคแรกบนบอร์ดคือ We’re here 4 the Same PURPOSE ทุกๆคนมาที่นี่ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน และปิดท้ายด้วยประโยคว่า We’re only one TEAM เราคือทีมหนึ่งเดียว

เพื่อให้คนต่างเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม มาทำงานร่วมกันได้ ขัอความถัดมาบนกระดานระบุถึง  ที่กำหนดเป็นกติกาในการทำงานร่วมกันดังนี้คือ

1. RESPECT !! เคารพซึ่งกันและกัน

2. พูดกันด้วยภาษามนุษย์ ให้เข้าใจง่าย

3. สื่อสารด้วยความชัดเจน กระชับตรงประเด็น

4. เคารพความหลากหลาย

5. ไม่เลือกปฎิบัติ

6. ไม่มีความคิดใดไร้ประโยชน์ ทุก ๆ ความคิดมีคุณค่า

ปัจจัยหนึ่งแห่งความสำเร็จ อาจจะมาจากตัวหนังสือเหล่านี้ ที่แสดงถึงความความสามัคคีของมนุษยชาติ ก้าวข้ามพรมแดนประเทศ กลายเป็นแรงบันดาลใจไปทั่วโลก

การจัดการ ในภาวะวิกฤต

ในภาวะวิกฤต การทำงานเป็นไปภายใต้ปัจจัยข้อจำกัดหลายอย่าง สิ่งที่ต้องทำก่อนอย่างเร่งด่วนคือ การทำความเข้าใจ เงื่อนไขและข้อมูลที่มีในมือ เพื่อแสวงหาข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นมาเพิ่มเติม

อดีตผู้ว่าฯได้ระบุถึง ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของทีมคือ

ประการแรก รู้กายภาพของถ้ำเพียงว่า ยาว 10 กิโลเมตร ไม่มีแสงสว่าง จุดวิกฤตมีลักษณะ V-Shape ลึก 5 เมตร แต่ไม่มีแผนที่ของถ้ำโดยละเอียด และที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าเด็กติดอยู่ที่ตำแหน่งไหน

ประการถัดมา ไม่ชัดเจนว่าน้ำท่วมปริมาณขนาดไหน คาดการณ์เพียงท่วมเต็มพื้นที่ของถ้ำ น้ำขุ่น น้ำเย็น 18-20 องศา ถ้าแช่นานเป็นตะคริวได้

ประการที่ 3 ออกซิเจนในระดับที่ปลอดภัย อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้งานต้องไม่สร้าง คาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำ

ประการที่ 4 ระดับในถ้ำจะเพิ่มขึ้นหากฝนตกหนัก ในวันที่ 5 ของภารกิจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และพยากรณ์อากาศคาดว่า จะเกิดพายุฝนหนัก ซึ่งเกิดขึ้นจริงหลังภารกิจสำเร็จ น้ำไหลบ่าท่วมถ้ำทันที

เราได้เห็นการระดมสรรพกำลัง บุคลากรผู้ชำนาญการในด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะทักษะการดำน้ำในถ้ำระดับโลก อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น ได้รับการจัดหามาอย่างเร่งด่วน

สังคมสามารถติดตามความคืบหน้าทุกวัน จากอดีตผู้ว่าฯเอง ที่สื่อสารให้ข่าวอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้อง รวดเร็ว สร้างความมั่นใจให้กับครอบครัว และ ผู้คนทุกสารทิศที่มุ่งความสนใจไปยังถ้ำหลวง

ภาวะผู้นำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่ทัพของสมรภูมิครั้งนี้ คือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ

ผู้นำคือผู้ที่ต้องบริหารจัดการ Stakeholders อย่างสมดุล แนวคิดปัจจุบันคือ ผู้นำต้องมีทักษะ Empathy ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุดถัดมานอกจากตัวน้อง ๆ เองแล้ว คือญาตินั่นเอง

คำกล่าวข้างต้นของบทความ นอกจากเป็นการสื่อสารถึงความมุ่งมั่นของอดีตผู้ว่าฯแล้ว ยังเป็นการแสดงถึง ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ เพื่อคลายความทุกข์โศกให้กับญาติด้วย

ภารกิจครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ทีมกู้ชีพระหว่างประเทศ, นักปีนเขา, นักภูมิศาสตร์ แม่บ้านดูแลอาหารเสื้อผ้าให้กับทีมงาน, ชาวบ้านในพื้นที่, หน่วยงานปกครองท้องถิ่น, รัฐบาล, สื่อมวลชน, คนในสังคมทั้งชาวไทยเองและชาวโลก

บทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งซึ่งแสดงออกถึงความเข้าใจผู้อื่น ให้เกียรติทีมงานทั้งหมด คือ “พระเอกในเรื่องนี้เป็นหมื่นคน ไม่ใช่ใครคนเดียวทำได้ ผมเป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น”

การกำหนดแผนปฏิบัติการ ประจำวัน ต้องใช้ความอุตสาหะ ทักษะของผู้นำ ในการระดมความคิด เพื่อรับทราบสถานการณ์ล่าสุด ทางเลือกต่างๆที่มี ตัดสินใจและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

“..ในหน้างานเราประชุมทุกวัน อย่างน้อยวันละสองครั้ง ตอน 8-9 โมงเช้าครั้งหนึ่ง และ ตอน 4-5 โมงเย็นอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อทบทวนการปฏิบัติว่าได้ตามแผนหรือไม่ ต้องปรับแผนอย่างไร”

การตัดสินใจไม่ว่าไปทางใด ส่งผลต่อความปลอดภัยทั้ง 13 ชีวิต รวมถึงทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วย การจัดการความเครียด เพื่อให้งานตลอดรอดฝั่ง คือสิ่งที่สะท้อนความเป็นผู้นำได้เป็นอย่างดี

เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ราชการไทยได้สูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่า อย่างไรก็ตามความสำเร็จของภารกิจในครั้งนั้น จะยังคงได้รับการกล่าวถึงและจดจำ ต่อไปครับ

แหล่งข้อมูล:


สนใจเรียนรู้หลักสูตรสายงานนโยบายและวางแผนกลยุทธ์ คลิก




Writer