8 June 2023

 

7 บทเริ่มต้น ESG สำหรับ SMEs

เรามีความคุ้นเคยหรืออาจจะพอได้ยินคำว่า SDGs (Sustainable Development Goals) ว่าทุก ๆ ภาคส่วนจะต้องมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องนี้คุยกันในระดับองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2558 เริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2559 จนถึง พ.ศ. 2579 ตอนนี้ผ่านมาเกือบจะครึ่งทาง ระหว่างทางก็มีแนวคิดรวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่พยายามตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนมากมาย อาทิ ESG, Triple Bottom Line, BCG, Green Transition

ที่สังเกตเห็นคือการปรับตัวสำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องนี้อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าขนาดกลางและขนาดย่อม แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้นการลงทุนอาจจะสูง รวมถึง เทคโนโลยีต่าง ๆ อาจจะมีราคาเกินเอื้อมถึง แต่แรงขับเคลื่อนนี้กำลังเข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจของเราอย่างแน่นอนในอนาคต การเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ย่อมสามารถลดผลกระทบเมื่อแรงกระแทกของแรงขับเคลื่อนนี้มีพลังมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก ความพร้อมของเทคโนโลยีและราคาที่เข้าถึงได้ง่าย พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ความสนใจกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและกังวลกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น หรือกฎระเบียบการค้าโลกที่ให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับ SMEs แล้ว การวางแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ESG (Environment, Social, และ Governance) จะทำให้การเติบโตของธุรกิจสามารถไปพร้อมกับการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ESG เป็นเพียงแนวคิดที่แต่ละธุรกิจต้องปรับให้เข้ากับบริบทของตัวเอง และต้องเริ่มคิดในมุมของผู้บริโภคตั้งแต่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเราอย่างไรให้คุ้มค่า หลังจากนั้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นได้หรือไม่ โดยจะต้องมองอย่างเป็นองค์รวมและเป็นระบบ

 

ถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้เขียนขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ 7 ขั้นตอนเพื่อเป็น Guidelines ให้ SMEs ลองเอาไปปรับใช้ดู ดังนี้

 

1 สำรวจและทบทวนแนวทางที่มีอยู่เดิม

ลองตรวจดูว่าองค์กรมีการดำเนินการหรือมีแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม, ธรรมาภิบาล อย่างไรบ้าง ผลการดำเนินการเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งหรือไม่ เพื่อกำหนดโอกาสในการปรับปรุงหรือเป็น baseline ในการวัดความก้าวหน้า หากไม่มีการดำเนินการมาก่อน ต้องมีการกำหนดแนวทาง ESG ตามบริบทขององค์กรโดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล

 

2 กำหนดเป้าหมาย ESG ที่ชัดเจนและวัดผลได้

กำหนดเป้าหมาย ESG ที่ชัดเจนและวัดผลได้ และควรเฉพาะเจาะจงและทำได้จริง ที่สำคัญต้องมีความสอดคล้องกับค่านิยม ภารกิจ และกลยุทธ์ระยะยาวขององค์กร

 

3 พัฒนากลยุทธ์ ESG

พัฒนากลยุทธ์ ESG เพื่อบรรลุเป้าหมายในข้อ 2 กลยุทธ์จะต้องมีรายละเอียดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ความคิดริเริ่มที่เฉพาะเจาะจง ระยะเวลา และตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้า อย่าลืมว่ากลยุทธ์ ESG ต้องเข้ากันได้กับกลยุทธ์ทางธุรกิจในภาพรวมด้วย

    • กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องให้มีการกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การลดของเสีย การ sourcing ที่มีการนำแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการพัฒนานโยบายและแนวทางการดำเนินงานขององค์กรที่สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นไปได้อยากให้มองในระดับสากลและพยายามทำให้ดีกว่า
    • กลยุทธ์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มต้นจากการรับผิดชอบสังคมภายใน โดยปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานกับพนักงานของเรา ลงทุนในความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีของพนักงาน ให้โอกาสในการพัฒนาทักษะและโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน สร้างความผูกพันพนักงานและส่งเสริมให้พนักงานใช้ความรู้ความสามารถของตนเองและถ้าเป็นองค์ความรู้ที่เป็น Competency ขององค์กรด้วยยิ่งดีมาก ทำประโยขน์หรือช่วยแก้ปัญหาของชุมชน
    • กลยุทธ์เสริมสร้างแนวทางปฏิบัติด้านธรรมาภิบาล โดยกำหนดกรอบการกำกับดูแลและแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมความโปร่งใส ความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ และการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม ที่เหนือกว่าเพียงความสอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แต่ขอให้ยกระดับการกำกับดูแลและสร้างกลไกการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีแนวทางที่มุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานสากล ขอให้พิจารณาจากรายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG ผ่านกรอบการทำงาน เช่น GRI (Global Reporting Initiative) หรือ SASB (Sustainability Accounting Standard Board) จะช่วยได้

 

4 ต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับกลยุทธ์ ESG

ต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับกลยุทธ์ ESG ขององค์กรไปพร้อมๆ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า นักลงทุน ซัพพลายเออร์ ชุมชน ท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้จะต้องมีการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดการกับข้อกังวล พร้อมก้บสื่อสารความมุ่งมั่นขององค์กรต่อหลักการ ESG ขอแนะนำว่าควรมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนภายในองค์กร

 

5 ติดตามและรายงานความคืบหน้า

ติดตามและรายงานความคืบหน้าเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ESG ขององค์กรอย่างสม่ำเสมอเปรียบเทียบกับ KPI ที่กําหนดไว้ สร้างระบบการรายงานเพื่อเปิดเผยข้อมูล พร้อมทั้งสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร

 

6 ประเมินกลยุทธ์และทบทวนผลการดําเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ทบทวนและประเมินกลยุทธ์และผลการดําเนินงานด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแนวโน้ม กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดด้าน ESG ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ แสวงหาข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปรับแนวทางขององค์กรให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการกระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

 

7 แลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ

แลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนที่อยู่อุตสาหกรรมเดียวกัน และเพื่อนต่างอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ๆ หรือนวัตกรรมที่อาจนำมาปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการภายใน หรือปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ หรือสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันที่สามารถเร่งความก้าวหน้าและช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ถ้าเป็นไปได้หากเสริมการทำเรื่องการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) เก็บไว้ด้วยจะดีต่อองค์กรในระยะยาว การทำให้การจัดการต่างๆ อยู่ในระบบจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการไม่ขึ้นกับตัวบุคคล

การนำ Guidelines ข้างต้นมาปรับใช้ เป็นเรื่องที่ SMEs ต้องให้ความสำคัญและต้องปรับตัว อย่างไรก็ตาม การพัฒนา ESG ในองค์กรจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นในระยะยาวและควรบูรณาการกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นอกเหนือจาก แนวปฏิบัติด้าน ESG ที่ต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และอย่าลืมหัวใจสำคัญที่เป็นความท้าทายของ SMEs ว่าเราต้องบริหารกำไรไปพร้อมๆ กับการรักสังคมและสิ่งแวดล้อม (Profit, People, Planet)

 

 

สนใจโครงการให้คำปรึกษาแนะนำ

ESG On-boarding Program
with Resource Productivity Management vs BB Learning

คลิก

บริการงานวิจัย โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คลิก




Writer