21 December 2022

LEAD TIME

ข้อมูลการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ตอนที่ 2

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี – Lean and Productivity Consultant / Trainer

จากคอลัมน์ Productivity Insight ที่นำเสนอเทคนิคปรับกระบวนการ สู่การเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืน

ในบทความ Lead Time ตอนที่ 1 (อ่านบทความตอนที่ 1 https://www.ftpi.or.th/2022/107332) เราได้ทำความเข้าใจถึงความหมายของ Lead Time ไปว่า ประกอบด้วยเวลาที่ใช้ในกระบวนการ หรือ Processing Time บวกด้วยเวลาสูญเสียอื่น ๆ ที่มีอยู่ในชีวิตจริง

สำหรับบทความนี้ จะขยายความให้เห็นภาพมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างการคำนวณประกอบครับ

สัดส่วนของ Processing Time

หากนำเวลารวมในกระบวนการ (Total Processing Time) ไปเทียบสัดส่วนกับ Lead Time หรือ เวลาการผลิตจริงที่ใช้ไปทั้งหมด จะได้อัตราส่วนว่า เวลาทั้งหมดนั้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เท่าใด หรือในทางกลับกัน มีเวลาสูญเปล่าเท่าใด

เมื่อลดเวลาสูญเปล่าเหล่านี้ Lead Time ก็จะลดลงได้ และนี่คือหลักการที่ระบบ Lean ให้ความสำคัญ ท่านที่เคยได้ยินการเขียน VSM-Value Stream Map ก็คือการเขียนภาพให้เห็นความสูญเปล่านี้นั่นเอง

เรื่องราวที่พูดมา อาจชวนให้คิดถึงเพียงโรงงานการผลิต แต่ที่จริงแล้ว สามารถพิจารณาในธุรกิจบริการได้เช่นเดียวกัน ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ใกล้ตัว ที่เราต่างมีประสบการณ์ร่วมกัน คือการไปใช้บริการโรงพยาบาล

สมมติกระบวนการว่า เราไปถึงโรงพยาบาลเวลา 7 โมงเช้า เพื่อไปลงทะเบียนนัดหมาย และรอเวลาเรียก หลังจากนั่งรอจนถึง 8 โมงครึ่ง เจ้าหน้าที่เรียกชื่อเพื่อให้ไปรอหน้าห้องหมอ

เวลา 8:45 จึงได้พบหมอ และให้หมอตรวจอาการเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นเดินไปห้องจ่ายยา นั่งรอเรียกชื่ออีกครั้งจนถึง 9:15 เพื่อจ่ายเงินและรับใบเสร็จ หลังจากนั้น 5 นาที ห้องยาจึงเรียกชื่อจึงนำใบเสร็จไปยื่นและรับยา เป็นอันว่าเสร็จการใช้บริการในเวลา 9 โมงครึ่ง

เหตุการณ์ข้างต้นนี้ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงเอามาเขียนใหม่ในรูปแผนภูมิ  โดยแบ่งกิจกรรมและเวลาที่เกิดขึ้นเป็น 3 กลุ่ม คือ กระบวนการ, รอคอย และ เดิน ภาพที่ได้ คือ

เห็นได้ว่า เวลารวมที่หมดไปในโรงพยาบาลคือ 150 นาที แต่มีเวลาในกระบวนการ เพียง 20 นาทีเท่านั้น ถ้าลองคำนวณสัดส่วนเป็นร้อยละ ของแต่ละกลุ่มจะได้ว่า

สัดส่วนของกระบวนการ           =  (30 / 150) x 100    =  20 %

สัดส่วนของการรอคอย            =  (105 / 150) x 100  =  70 %

สัดส่วนของการเดิน                =  (15 / 150) x 100    =  10 %

พบว่าเวลาส่วนใหญ่นั้น หมดไปกับการรอคอยทั้งสิ้น โดยเราสามารถรับรู้ได้ชัดเจน เพราะผู้ใช้บริการหรือลูกค้ามีประสบการณ์ตรง

หากเป็นกรณีโรงงานการผลิต เวลารอคอยที่เกิดขึ้นที่รอยต่อระหว่างกระบวนการ จะเกิดจาก Stock หรือ งานระหว่างกระบวนการ (WIP-Work In Process)

ลด Lead Time ให้สั้นลง

การปรับปรุงกระบวนการตามแนวคิด Lean ทำได้โดย ลดเวลาสูญเสียลง ทำให้ Lead Time สั้นลง สัดส่วนของ Processing Time มีมากขึ้น

ใน 2 บริษัทที่ผลิตสินค้าเดียวกันและมียอดขายเท่ากัน บริษัทที่ Lead Time สั้นกว่า ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำกว่าด้วย เนื่องจากการตัดกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มออกไปจากกระบวนการ

Lead Time ที่ลดลงยังหมายถึง เงินทุนที่จมกับสินทรัพย์ (Asset) ที่ไม่จำเป็นถูกตัดออกไป ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI. – Return On Investment) ก็ย่อมสูงขึ้นด้วย ในเชิงธุรกิจภาพรวมแล้ว วงจรธุรกิจหมุนเร็วกว่า ขายได้เร็วขึ้น เงินเข้าบริษัทเร็วขึ้น ความสามารถในการทำกำไรมีมากกว่า

ในตอนหน้า บทความปิดท้าย ผมจะขยายความต่อว่า เราสามารถพิจารณา Lead Time ได้ตั้งแต่ ระดับฝ่ายผลิต ระดับผลิตภัณฑ์ ไปจนถึง ระดับวงจรธุรกิจ ครับ

📍 ย้อนอ่านบทความ Lead Time ข้อมูลการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ตอนที่ 1 คลิก


ค้นหาหลักสูตรด้านการผลิต คลิก




Writer