ACCOUNTABILITY
โดยคุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป
ภาษาอังกฤษมีคำที่แปลเป็นไทยว่า “ความรับผิดชอบ” อยู่ 2 คำ คือ Responsibility และ Accountability หลายๆ ท่านคงไม่ทราบว่า 2 คำนี้ ต่างกันอย่างไร ? ผมขออธิบายในบริบทของการบริหารจัดการละกันนะครับ (ความหมายในบริบทอื่น ผมไม่ทราบ)
คำว่า Responsibility เป็นความรับผิดชอบแบบ “เมื่อคุณทำคุณต้องรับ” เช่น แคชเชียร์ทอนเงินให้ลูกค้าผิด แคชเชียร์ต้องรับผิดชอบ, พนักงานทำเอกสารผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย พนักงานคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น
ส่วนคำว่า Accountability เป็นความรับผิดชอบแบบ “แม้ไม่ได้เป็นคนทำก็ต้องรับ” เช่น ลูกน้องทำตัวเลขในสไลด์มาผิด หัวหน้าเอาไปนำเสนอแล้วถูกตำหนิ หัวหน้าจะโยนความรับผิดชอบให้ลูกน้องด้วยการบอกว่า “ผมไม่ได้ทำ ลูกน้องเป็นคนทำ” แบบนี้ไม่ได้ เพราะแม้หัวหน้าไม่ได้เป็นคนทำ แต่เมื่อลูกน้องส่งมาให้ดูและตนเองเป็นคนนำเสนอ ก็ต้อง “รับผิดชอบ” ด้วย
ดังนั้้นถ้าแปลให้เข้าใจง่ายขึ้น (โดยไม่ได้สนใจว่าถูกหลักภาษาหรือไม่) Responsibility น่าจะแปลว่า “การรับผิดชอบ” และ Accountability น่าจะแปลว่า “การร่วมรับผิดชอบ”
หลายคนคงงงว่า แล้วผมมาพูดเรื่องนี้ทำไม ?
1️⃣ ถ้าสังเกตให้ดี หลายๆ องค์กรจะมีค่านิยมหลัก (Core Values) ในเรื่องของความรับผิดชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษไม่ได้เขียนว่า Responsibility แต่จะใช้คำว่า Accountability เพราะต้องการสร้างพฤติกรรมของการ “ร่วมกันรับผิดชอบ” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ตนเองจะไม่ได้เป็นคนทำก็ตาม หากไม่กำหนดไว้อย่างนี้ บางทีพนักงานอาจเถียงว่าเรื่องบางเรื่องหรือปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น “ไม่เกี่ยวกับฉัน ฉันไม่ได้เป็นคนทำ ทำไมต้องรับผิดชอบ” จะได้ตอบกลับอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ก็เพราะเป็น Accountability ของพวกเราไง”
2️⃣ หัวหน้าหรือผู้บริหารหลายคน ชอบโยนความผิดให้ลูกน้อง โดยอ้างว่า “ฉันไม่ได้ทำ ลูกน้องเป็นคนทำ เดี๋ยวไปดุลูกน้องให้” ถ้าเจอหัวหน้าที่พูดแบบนี้ ให้สวนกลับทันทีว่า ”ไม่ว่าลูกน้องคนไหนทำ ก็เป็น Accountability ที่หัวหน้าต้องร่วมรับผิดชอบจ้า”
3️⃣ เมื่อพวกเราทุกคนรวมทั้งหัวหน้าของเราด้วย เข้าใจความแตกต่างของคำสองคำนี้ ก็หวังว่าต่อไปจะได้ไม่ต้องเถียงกันว่าเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ใครควรต้อง “รับผิดชอบ” (Take Responsibility) และใครควรต้อง “ร่วมรับผิดชอบ” Take Accountability)
หากทำได้เช่นนี้ ความเป็นมืออาชีพและความเป็นผู้นำในระดับที่สากลยอมรับ ก็จะเจิดจรัสขึ้นได้ทั้งในทีมและองค์กร