4 November 2024

นวัตกรรมมีชีวิต

โดย สุรีพันธุ์  เสนานุช วิทยากรอิสระ ด้านการจัดการความรู้และถอดบทเรียน 

            ในยุคที่นวัตกรรมเป็นของมันต้องมีสำหรับทุกองค์กร ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจทั้งการผลิตและบริการ นวัตกรรมคือความอยู่รอด แต่ที่ผ่านองค์กรมักมองที่ผลสำเร็จ ให้นิยามว่าเป็นวิธีคิดใหม่ การทำงานรูปแบบใหม่ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการบริการรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิตอล เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำให้การเกิดนวัตกรรมง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับบางองค์กรต้องบีบเค้นนวัตกรรมออกมาอย่างยากลำบาก แต่บางองค์กรนวัตกรรมเกิดได้ปีละหลายชิ้นงาน และเกิดได้ในทุกหน่วยงานและทุกระดับ ด้วยการวางรากฐานแนวคิด Productivity & Continuous Improvement มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  

            องค์กรใหญ่ๆ ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และยังคงเติบโตอย่างมั่นคง เครื่องมือพื้นฐานในการพัฒนาองค์กรยุคเริ่มต้นก็คือ Productivity & Continuous Improvement ซึ่งทำให้การนำระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ISO , TQM , TPM , Lean ไปจนถึงการนำเอากรอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) มาดำเนินการไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคนในองค์กรมีการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ จึงพร้อมเปิดรับ พร้อมเปลี่ยนแปลง และนั่นคือการเกิดขึ้นของนวัตกรรมในองค์กรก่อนที่จะถึงยุคของนวัตกรรมด้วยซ้ำ 

            อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาองค์กรในแนวทางนี้ก็คือการติดตาม ประเมินผลของผู้บริหาร ด้วยแนวคิดว่าทุกการปฏิบัติต้องวัดได้ การติดตามประเมินผลจะช่วยให้ทุกการปฏิบัติบรรลุเป้าหมาย เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด หรืออุบัติการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถแก้ไข ปรับแผนปฏิบัติได้ทันท่วงที  

            นอกจากการติดตาม ประเมินผล การสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมในการทำงานก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนของสำเร็จที่ผู้บริหารมิอาจละเลยได้เช่นเดียวกัน นอกจากการให้คำปรึกษาแนะนำ การสนับสนุนทรัพยากร เวทีของการแสดงผลงาน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือบรรยากาศที่ความคิดสร้างสรรค์จะงอกงาม และเติบโตอย่างแข็งแรง ในกิจกรรมของการปรับปรุงงานซึ่งมีอยู่ในทุกระบบงาน เมื่อมีความสำเร็จเกิดขึ้น ควรมีแสงไฟที่จะฉายส่องคุณค่านั้นให้ทุกคนได้เห็น ซึ่งจะทำให้เกิดประกายไฟที่จะส่งต่อไปทั่วทั้งองค์กร 

            วิธีทำงานรูปแบบใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และบริการใหม่จึงเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และใช้เวลาสั้นลง จะเห็นได้ว่าปัจจุบันหลายองค์กรนำผลิตภัณฑ์และบริหารใหม่นำเสนอได้อย่างทันท่วงที หรือบางครั้งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าพบปัญหาหรือ Pain Point ด้วยซ้ำ

🟡🟢🔵

นวัตกรรมที่มีชีวิต คือการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่คนในองค์กรสนุกกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในงานประจำวัน
ทำให้ชีวิตการทำงานมีความสุข
และสำเร็จไปพร้อมกับองค์กร  

            ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริหารเพ่งมองนวัตกรรมไปที่ความคิดสร้างสรรค์เชิงเดี่ยว ไม่มีการปูพื้นฐานในการปรับปรุงงาน นวัตกรรมก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่อาจมีความเสี่ยงต่อความยั่งยืน ดังนั้นการบริหารนวัตกรรมอย่างเป็นกระบวนการจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องถ่ายทอดให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้รับรู้ เพราะที่ผ่านมาในระดับผู้ปฏิบัติรับรู้เพียงภาพของกิจกรรม ที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เห็นภาพกระบวนการทั้งหมดก่อนที่จะมาถึงกิจกรรมนั้นๆ องค์กรใหญ่หลายองค์กรจึงเริ่มเกิดปัญหาเมื่อผู้บริหารระดับสูงหมดวาระในการปฏิบัติงาน โดยยังไม่ทันได้ถ่ายทอดวิธีปฏิบัติสำคัญในการบริหารงานให้ผู้บริหารรุ่นต่อมา 

            การขาดตอนในวิธีปฏิบัติที่มีการวางรากฐานมาอย่างแข็งแกร่ง ก็ทำให้พัฒนาการขององค์กรต้องหยุดชะงักมาแล้ว องค์กรที่เคยเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ถูกแซงหน้าไปอย่างไม่รู้ตัวในยุคแห่งนวัตกรรมนี้เอง

 

  สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการสร้างนวัตกรรม 

Do
✅ ฝึกวิธีคิดในการปรับปรุงงาน
✅ กระตุ้นความต่อเนื่องของการคิดแก้ไขปัญหา
✅ ทุกวิธีปฏิบัติต้องวัดได้
✅ ติดตาม ประเมินผล
✅ สร้างบรรยากาศการสร้างสรรค์ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

Don’t
⭕ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามฤดูกาล
⭕ ไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
⭕ มีงานมอบรางวัลแต่ไม่ได้นำไปใช้
⭕ ไม่มีโครงการต่อเนื่อง
⭕ ไม่มีกระบวนการในการสร้างนวัตกรรม

ค้นหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

📅 28 พฤศจิกายน 2567 Sparking Creative Thinking (จุดประกายความคิดสร้างสรรค์) คลิก

📅 29 พฤศจิกายน 2567 Lego Serious Play to Generate Team Communication คลิก

📅 4 ธันวาคม 2567 Design Thinking for Innovative at Work คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น