19 June 2023

หยั่งรากความเป็นเลิศ

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

ในความเป็นเลิศขององค์กรที่มีการบริหารจัดการด้วยมุมมองเชิงระบบ มีภาวะการนำองค์กรเข้มแข็ง จนบรรลุวิสัยทัศน์ได้ตามที่ตั้งไว้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มี “คนทำงาน” ศักยภาพสูง มีความผูกพันต่อองค์กร ซึ่งนอกจากการพัฒนาความรู้ความสามารถ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสร้างวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์และการบ่มเพาะอย่างเป็นกระบวนการ จึงจะทำให้รากแก้วของความเป็นเลิศ หยั่งลึกได้อย่างแข็งแกร่ง

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) – RFBG ซึ่งได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในปี พ.ศ. 2565 เป็นกรณีศึกษาที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าความสำเร็จที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและความยั่งยืนนั้น ตั้งต้นที่วัฒนธรรมองค์กร โดยการปรับเปลี่ยนค่านิยมสร้างพฤติกรรมคนทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน

38 ปี บนเส้นทางการเติบโต แม้ว่าบางจากจะเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจโรงกลั่นที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่แบรนด์บางจากก็อยู่ในใจของคนไทยด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดูแลชุมชน อาจจะกล่าวได้ว่าสองสิ่งนี้เป็นเสมือนดีเอ็นเอของคนบางจาก จนมาถึงปัจจุบันบางจากได้ขยายธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจที่แตกหน่อออกมา ยังคงยืนหยัดอย่างชัดเจนในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างคุณค่าร่วม (Share Value) กับชุมชนและสังคม

นั่นคือรากแก้วของวัฒนธรรมองค์กรที่หยั่งรากลึกอย่างเข้มแข็งมาเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อมาถึงในช่วงเวลาที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์และบริการเดิมๆ จนธุรกิจใหญ่หลายแห่งล้มหายตายจาก กลุ่มธุรกิจบางจากยังคงจุดยืนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เดินหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของอนาคต ด้วย “คน” ที่มุ่งเน้นไปสู่ความสำเร็จด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรได้มีการปรับให้ก้าวทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่คิดว่า “วัฒนธรรม” แปลว่าสิ่งดีงามที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในความเป็นจริงสังคมหรือองค์กรสามารถสร้างวัฒนธรรมเพื่อออกแบบ “คน” ที่เป็นสมาชิกได้ เช่นกลุ่มบริษัทบางจากที่ได้ปรับค่านิยม สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อก้าวไปในอนาคต ด้วยการสร้าง “คน” ให้มีความคล่องตัว ปรับได้ อย่างรวดเร็ว

การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ถ้อยคำ แต่ในคำแต่ละคำนั้นต้องมีกระบวนการนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นจริง ตัวอย่างเช่น การปรับค่านิยมจาก Beyond Expectation เป็น Boldness เพื่อให้ “คน” มีความกล้าแสดงออก ผู้บริหารบางจากเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับการสื่อสารในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นการสื่อสารสองทาง (Two way Communication) เปิดโอกาสในการซักถาม ถกเถียง ทั้งในห้องประชุมและผ่าน Social Network ได้ตลอดเวลา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละงาน ที่นำเอาปัญหาและความคิดใหม่มาร่วมกันขบคิด และเพื่อให้ความคิดใหม่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง กลุ่มธุรกิจบางจากใช้ Project Base เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมทางนวัตกรรม ปรับทัศนคติไปสู่ความกล้าแสดงออก จริงจัง และอดทนต่อความล้มเหลว พร้อมที่จะลุกขึ้นตั้งต้นใหม่ ความสำเร็จของโครงการจึงไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่การทำให้คนได้เรียนรู้ในระหว่างเส้นทางการทำโครงการนั้นต่างหากที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการบ่มเพาะคนให้มีความกล้าคิด กล้าทำ

หลายองค์กรมีการกำหนดค่านิยมและวัฒนธรรมไว้ด้วยถ้อยคำสวยหรู แต่ไม่เป็นจริง เพราะเป็นเพียงถ้อยคำ เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพียงใดก็ไม่อาจหยั่งรากงอกงามขึ้นได้ด้วยตัวเอง ผู้บริหารจึงต้องสร้างการบ่มเพาะอย่างเป็นกระบวนการ เริ่มจากการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในความหมายที่สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรที่พึงประสงค์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อพฤติกรรมนั้นอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะ “คน” คือผู้ที่จะทำให้ต้นไม้แห่งความเป็นเลิศนั้นแตกกิ่งใบ ให้ดอกผลอย่างยั่งยืน

หากเมล็ดพันธุ์นั้นหยั่งรากได้แข็งแกร่งเพียงพอ

 

 

 

TQA SMART-Ex Program     คลิก

วิเคราะห์จุดแข็ง สร้างโอกาสในการปรับปรุงองค์กร เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมก่อนสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ด้วย ‘TQA SMART-Ex Program’ (Simplified Maturity Assessment Report toward Excellence) โปรแกรมการตรวจประเมินองค์กรตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

 

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น