2 May 2023

เรียนรู้จากความล้มเหลว เพิ่มโอกาสสร้างความผูกพัน

 

ในยุคที่มีการแข่งขันสูงทุกด้าน ไม่ว่าจะทั้งธุรกิจ หรือการแย่งชิงคนเก่ง
ทุกองค์กรตระหนักดีกว่า หากสามารถสร้างให้พนักงานมีความผูกพัน
ก็จะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กรในหลากหลายด้าน อาทิ ระดับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น
เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าและบริการ รวมถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน

เพราะพนักงานที่มีความผูกพันก็จะพร้อมเป็นแนวร่วมในการผลักดันธุรกิจ มีความมุ่งมั่นทำงานเล็งผลที่เป็นเลิศมากกว่าทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการให้ข้อเสนอแนะในเชิงบวก
รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ดีให้กับองค์กร

มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยมากมายพบว่า พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรมีแนวโน้มที่จะอยู่กับองค์กรนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานใหม่ ดังนั้นหลายองค์กรจึงพยายามหาแนวทางในการสร้างความผูกพันกับพนักงาน ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรส่วนใหญ่จะพยายามหา Best Practices

แต่หากมองในมุมตรงข้าม การเรียนรู้จากความล้มเหลวของการสร้างความผูกพันกับพนักงาน อาจจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเดิมๆ ช่วยตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้นในอนาคต และนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว นอกจากนี้ ความล้มเหลวยังสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการพยายามค้นหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

ความผูกพันของพนักงานเป็นเรื่องซับซ้อนที่สามารถได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ มากมาย อาทิเช่น วัฒนธรรมองค์กร แนวปฏิบัติในการบริหารจัดการ การสื่อสาร และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นต้น

 

มาลองเช็คกันว่า

องค์กรคุณล้มเหลวในการสร้างความผูกพันกับพนักงาน เพราะปัจจัยเหล่านี้หรือไม่

 

 

 

 

 

 ขาดความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงาน รวมถึงค่านิยมขององค์กร เพราะหากพนักงานไม่แน่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวังจากพวกเขา พวกเขาอาจรู้สึกไม่มีส่วนร่วมและไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน

ขาดภาวะผู้นำที่ดี หัวหน้างาน/ผู้นำองค์กรที่ไม่ให้คำแนะนำหรือให้การสนับสนุนการทำงานสามารถทำลายความผูกพันของพนักงานได้ สิ่งสำคัญสำหรับหัวหน้างาน/ผู้นำองค์กรจะต้องมีการสร้างแบบจำลองพฤติกรรมที่ต้องการเห็นในตัวพนักงาน และให้คำแนะนำและคำติชมเมื่อจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม มี positive feedback เพื่อให้พนักงานเห็นความสำคัญและจริงจังในการทำงาน

ขาดการสื่อสารที่ดี เมื่อพนักงานไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร พวกเขาอาจรู้สึกขาดการเชื่อมต่อและไม่มีส่วนร่วม หัวหน้างาน/ผู้นำองค์กรควรให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับข่าวสาร การเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ

ขาดการยอมรับหรือชื่นชมผลงานและการให้รางวัลแก่พนักงานที่ทุ่มเททำงานจนประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกด้อยค่าและรู้สึกถูกกีดกัน

สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี อึดอัด ไม่ปลอดภัย ควรสร้างสถานที่ทำงานที่สะดวกสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตและส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

นโยบายที่ไม่ยืดหยุ่น บังคับใช้เข้มงวดเกินไป สามารถกีดกันการมีส่วนร่วมของพนักงานได้ องค์กรควรเต็มใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและให้อิสระแก่พนักงานในการตัดสินใจและทำงานอย่างอิสระโดยไม่กระทบเป้าหมายขององค์กร

 

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้สามารถช่วยให้องค์กรสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วมที่สามารถนำไปสู่การยกระดับความพึงพอใจ การเพิ่มผลิตภาพ ความผูกพันของพนักงานและการรักษาพนักงานในระดับที่สูงขึ้นได้

 

ค้นหาแนวทางการสร้าง Engagement
  คลิก

บริการงานวิจัย โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คลิก




Writer

โดย ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ