15 March 2023

Productivity ฉบับ ไมโครซอฟท์ Doing More With Less

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี – Lean and Productivity Consultant / Trainer

จากคอลัมน์ Productivity Insight ที่นำเสนอเทคนิคปรับกระบวนการ สู่การเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืน

การค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกกับการเปิดตัว ChatGPT จาก OpenAI โดยทุนสนับสนุนจาก Microsoft

ช่วงก่อนหน้าเข้าสู่ปี 2023 มีคลิปที่เผยแพร่โดย CEO คุณ Satya Nadella กล่าวถึงผลงานของ Microsoft ในฐานะที่เป็นองค์กรพัฒนาเทคโนโลยี และ เป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ต้องคำนึงถึง ผู้ใช้ และ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ จากเทคโนโลยีเสมอ

คำหลักที่คุณ Satya ใช้ในการสื่อสาร คือ Doing more with less ที่จะได้คุยกัน พร้อมกับเชื่อมโยงกับแนวคิดรากฐานของ Productivity Improvement ครับ

ได้มากขึ้น … ใช้น้อยลง

คุณ Satya กล่าวถึงปี 2022 ที่ผ่านไป ว่าเป็นปีที่มีนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ตัวเลขการเจริญเติบโต ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สูงกว่าตัวเลข GDP มาก

เกิดหลายกรณีศึกษา ที่นำเทคโนโลยี Digital มาใช้เพื่อ ‘Do more’ สร้างสรรค์คุณค่าและประโยชน์ที่มากขึ้น ‘With less’ ด้วยการใช้บุคลากร เวลา และ ทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องน้อยลง ตัวอย่าง เช่น

More refugee aid/ Less programming experience

ชายหนุ่มที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในงาน IT. แต่สามารถสร้าง Platform Version แรก ภายใน 2 วัน เพื่อระดมของบริจาคและความช่วยเหลือจากทั่วประเทศ ให้กับผู้อพยพหนีสงครามชาวยูเครนที่มีมากกว่า 20,000 คน ในโปรตุเกส

More food/ Less waste 

เทคโนโลยี Food cloud ถูกนำมาเชื่อมต่อกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแจกจ่ายอาหารส่วนเกิน ให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนท้องถิ่นของไอร์แลนด์ เป็นการลดขยะอาหารลงไปในคราวเดียวกัน โดยสามารถจัดอาหารไปได้แล้วมากกว่า 180 ล้านมื้อ ตั้งแต่ปี 2013

More employment/ Less turnover

Website เพื่อการจ้างงานบุคคลออทิสติก ให้ผู้ใช้ระบุงานที่ต้องการ ระบบนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ความสามารถของผู้ใช้ที่ถูกมองข้าม สร้างฐานข้อมูลที่ทำให้องค์กรที่ต้องการแรงงาน คัดเลือกได้ง่ายขึ้น เกิดการเข้าถึงการจ้างงานมากขึ้น

More vaccines/ Less time

องค์กร UNICEF นำเทคโนโลยีมาช่วยในการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพื่อให้เข้าถึงประชาขนอย่างทั่วถึง ในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนัก

More bridges/ Less barrier

โครงการ “Active Citizen” สร้างโอกาสให้กับผู้คนจากทั่วโลก ได้พบกับผู้ได้รับรางวัล Nobel สาขาสันติภาพ บนโลก Metaverse เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของสันติภาพโลก เป็นการสร้างทางเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น

More learning/ Less time

โตโยต้านำเทคโนโลยี Mixed Reality มาใช้ในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ผู้ฝึกสอนใช้เวลาน้อยลง จำนวนผู้เรียนมากขึ้น รองรับกระบวนการผลิตรถรุ่นใหม่ ที่หมุนเวียนเข้ามาโดยตลอด

More products/ Less energy

การออกแบบ Packaging ใหม่ของ Coca Cola ด้วยวัสดุที่มีความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดโลกร้อน ใช้พลังงานในการผลิตน้อยลง

More harvest/ Less labor

บริษัท startup ของญี่ปุ่น นำ AI มาพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรมีประสิทธิภาพขึ้น ควบคุมการทำงาน และ รายงานข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ใช้แรงงานในการดำเนินการลดน้อยลง

More preserving/ Less poaching

มูลนิธิ Peace Parks นำเทคโนโลยีมาช่วยในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในแอฟริกาใต้ โดยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ใช้ชีวิตของสัตว์น้อยลง

หลักการผลิตภาพ Productivity

การอธิบายความหมายของ Productivity คือ ความพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ด้วยทัศนคติว่า มนุษย์มีศักยภาพในการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้

ผลประโยชน์จากสิ่งที่ดีขึ้นนี้ นำมาแบ่งปันอย่างเหมาะสม ไปยังผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรเอง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน ชุมชน สังคม รัฐบาล และ โลกใบนี้

การวัดค่า Productivity ทำได้โดย วัดค่า Output เทียบกับ Input หรือกล่าวได้เป็นการวัด สัดส่วน ผลผลิตของสินค้าและบริการที่เกิดขึ้น เทียบกับ ทรัพยากรที่ใช้ไป

การปรับปรุงให้สัดส่วน Output/Input หรือ Productivity สูงขึ้น ในทางทฤษฎีกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นได้ใน 5 ลักษณะคือ

  1. Output มากขึ้น, Input เท่าเดิม
  2. Output เท่าเดิม, Input น้อยลง
  3. Output และ Input มากขึ้นทั้งคู่ โดย Output มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า
  4. Output และ Input ลดลงทั้งคู่ โดย Input มีสัดส่วนลดลงมากกว่า
  5. Output มากขึ้น พร้อมกับลดการใช้ Input ไปในขณะเดียวกัน

แนวคิดที่คุณ Satya กล่าวถึง Doing more with less คือแนวทางที่ 5 ผลผลิตมากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง นั่นเอง

ในโลกเก่าที่เป็น โลกกายภาพ อย่างเดียวนั้น การลด Input หรือทรัพยากรลงแต่กลับได้ Output สินค้าหรือบริการมากขึ้น เป็นวิธีที่ยากที่สุด

ลองนึกถึง ฟาร์มเกษตร ที่ต้องการลดจำนวนแรงงานที่เข้าไปเก็บเกี่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการผลผลิตเพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย จะทำได้พนักงานคงต้องทำงานหนักขึ้นมาก

การพัฒนาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านเครื่องจักร ที่ทำให้เกิดการปรับปรุงวิธีการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ

ในโลกปัจจุบัน ที่เป็นการบูรณาการระหว่าง โลกกายภาพ และ โลก Digital การพัฒนาเทคโลยี กลายเป็นทรัพยากรสำคัญ ที่เข้ามาทำให้เกิดการปรับปรุง Productivity ได้อย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ทำให้ได้สินค้าหรือบริการที่มากขึ้น และ ลดการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คือภารกิจสำคัญในปัจจุบัน เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงผลิตภาพ และ ทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นครับ




Writer

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี

Lean and Productivity Consultant