10 February 2023

จากจุดเล็กสู่โจทย์ใหญ่

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

พัฒนาการขององค์กรแห่งความเป็นเลิศมีจุดที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือเริ่มต้นจากการใช้เครื่องมือพื้นฐาน
เช่น 5ส , Productivity , PDCA เพื่อให้คนในองค์กรคุ้นเคยกับการทำงานอย่างมีคุณภาพ
แล้วค่อยๆ ขับเคลื่อนไปสู่การใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนมากขึ้นที่ละก้าว

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ BKP ธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูป (สระบุรี) หนึ่งในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด(มหาชน) หรือ CPF ซึ่งได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) ในปี พ.ศ. 2552 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะธุรกิจการแปรรูปอาหารมีความอ่อนไหวด้านคุณภาพทั้งด้านรสชาติและความปลอดภัย การเข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจเพียงพอ แต่ก็ไม่ง่ายในการดำเนินการ

BKP ดำเนินกิจกรรมคุณภาพโดยใช้แนวทาง PDCA-BKI (Plan-Do-Check-Act-Benchmarking-Kaizen-Innovation) เพื่อให้สามารถควบคุมและปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องในการบริหารงานประจำวัน มุ่งเน้นไปที่พนักงานปฏิบัติการ PDCA เป็นกรอบในการควบคุมคุณภาพตามข้อกำหนด มีการเทียบเคียงผลลัพธ์ในระหว่างโรงงานของ CPF และใช้ไคเซ็นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม  ต่อยอดด้วย Lean และ Six Sigma ในระดับผู้บริหาร

วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของ BKP จึงเป็น “การควบคุมคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้” ประกอบไปด้วย การวางแผนคุณภาพ การควบคุมคุณภาพและการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาจากกิจกรรมคุณภาพพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 และทำให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของ CPF บริษัทแม่ในการเป็น “ครัวของโลก” ได้

การเลือก Best Practices ในกรณีของธุรกิจอาหารเช่น BKP จึงมองไปที่ประเด็นสำคัญของความสำเร็จ (Critical Factor) เป็นตัวตั้ง โดยสอดคล้องกับความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรระบุไว้  2 ประเด็นคือ หนึ่ง การตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีรสนิยมแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และสอง ความปลอดภัยและสุขอนามัย การออกแบบกระบวนการตั้งแต่การวางผังโรงงานจึงมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการปูพื้นฐานในงานประจำวันของพนักงานปฏิบัติการทุกระดับ โดยมีผู้บริหารกำกับทิศทางและให้การสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ

ความเป็นเลิศจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แม้ว่าวิธีปฏิบัตินั้นอาจเพิ่งเริ่มอยู่ตัวมาได้ 3-4 ปีก็ตาม แต่ถ้าทวนย้อนกลับไปจะได้พบรอยต่อไปถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดเล็กๆ พื้นฐานที่บ่มเพาะทัศนคติด้านคุณภาพเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตจนเป็นไม้ใหญ่ในเวลาต่อมา

ในช่วงแรกๆ ของการทำงานวิจัย Best Practices หลายองค์กรมักกังวลว่าองค์ความรู้เฉพาะขององค์กร
จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะคู่แข่งแต่ในความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศนั้นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้เลย
การเรียนรู้เป็นเพียงแนวทางที่ต้องไปปรับใช้ด้วยตนเองและต้องใช้ระยะเวลาในการลองผิดลองถูกจนกว่าจะพบผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
เห็นได้ง่ายๆ คือเครื่องมือพื้นฐานอย่าง 5ส , Productivity , PDCA  ถ้าศึกษาเชิงลึกจะเห็นได้ทันทีว่ามีวิธีปฏิบัติที่ต่างกัน
 แต่ที่เหมือนกันก็คือการบ่มเพาะคุณภาพจากจุดเล็กๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความสำเร็จขององค์กรได้ในที่สุด

 

 

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น