28 March 2022

CP Group กับ How to ขับเคลื่อนองค์กรฝ่าวิกฤตด้วย
“ความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน”

เราเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคและการได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วม สำหรับกลุ่มบุคลากรที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่องค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำองค์กรให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและนำองค์กรเข้าสู่ความปกติรูปแบบใหม่ (New normal)

ความเสมอภาคจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม

หากเราจะส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในองค์กร ก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันก่อน เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและคำนึงถึงไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อ ความเท่าเทียม (Equality) คือ การเน้นหลักความเท่ากัน ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติ หรือ โอกาส เท่ากันหมด ในขณะที่ ความเสมอภาค (Equity) เน้นหลักความเป็นธรรม เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลตามความต้องการและลักษณะเฉพาะ ด้วยการจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อไปลบกับข้อจำกัด


ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาค
บนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคม

ความเท่าเทียม(Equality) คือ การเน้นหลักความเท่ากัน ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติ หรือ โอกาส เท่ากันหมด

เราพยายามส่งเสริมให้องค์กรยึดมั่นในหลักการ การส่งเสริมคุณค่า หรือ value ไม่ได้เน้นเชิงธุรกิจ หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงปัจจัยทุกด้าน หรือ ESG  (Environmental, Social, and Corporate Governance) ซึ่ง ปัจจุบันคนอาจจะมองว่าตัว Social นั้นส่งเสริมได้ยากหรือน้อยที่สุด เพราะจับต้องยาก แต่เรามองว่าในเรื่องของความเท่าเทียมและความเสมอภาคเป็นเรื่องหนึ่งที่จะสามารถทำได้เป็นรูปธรรมแล้วสามารถจับต้องได้

ปัจจุบันความหลากหลายมีในทุกมิติ ทั้งทัศนคติ วัฒนธรรม ความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ รสนิยมทางเพศ ลักษณะและข้อจำกัด ซึ่งสังคมให้ความสำคัญกับองค์กรที่เปิดรับและเปิดกว้าง และเราจำเป็นที่จะต้องเอื้อให้คนเหล่านี้สามารถที่จะใช้ทักษะ ความสามารถของเขาเหล่านี้ในการทำงานได้อย่างเต็มที่

การส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคในองค์กรบนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคมนั้น จะนำไปสู่การยอมรับหรือการอยู่ร่วมกัน (Inclusion) และให้การยอมรับคุณค่าของความแตกต่างระหว่างบุคคล พนักงานจะรู้สึกได้รับการยอมรับและมีคุณค่าจากเพื่อนพนักงานในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และที่สำคัญคือเขาสามารถที่จะดึงพลัง หรือว่าความสามารถของเขาออกมาเพื่อผลักดันองค์กรได้อย่างเต็มที่


องค์กรขนาดใหญ่อย่าง CP Group
ส่งเสริมความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน อย่างไรบ้าง

เครือเจริญโภคภัณฑ์เรามีธุรกิจที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งหมด 14 กลุ่มธุรกิจ หลัก ๆ ของเราคือเรื่องของเกษตรอาหาร กับ ค้าปลีก ค้าส่งและการกระจายสินค้า และการโทรคมนาคม และก็มีธุรกิจอื่นอย่างเช่น พลาสติก บรรจุภัณฑ์ E-Commerce การธนาคาร หรือว่ายานยนต์ ธุรกิจของเรากระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะต้องรับมือกับความหลากหลายและอยู่ร่วมกันเป็นโจทย์ใหญ่ของเราภายใต้กรอบของการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันพนักงานของเราทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 4 แสน 5 หมื่นคน ยิ่งทำให้เราต้องเน้นในเรื่องของความเท่าเทียม และความเสมอภาค โดยเราใช้วิธีการขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน ดังนี้

  • เริ่มมาจากความมุ่งมั่นของท่านประธานบริษัท มีการประกาศความมุ่งมั่นในเครืออย่างชัดเจน เราได้มีการกำหนดจรรยาบรรณธุรกิจและนโยบายของเครือ ครอบคลุมเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งหมด และสร้างความตระหนักรู้ผ่านการฝึกอบรมในรูปแบบต่าง ๆ
  • กำหนดยุทธศาสตร์ของเครือ ที่เราเรียกว่าค่านิยม 3 ประโยชน์ คือ Heart เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ถูกต้องและดีที่สุด Health เรื่องของสุขภาพ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีสุขภาพที่ดี   Home จะเริ่มเจาะลึกเข้าไปไม่ใช่แค่เพียงแต่พนักงาน แต่เป็นเรื่องของคู่ค้า หรือตัวลูกค้าของเราด้วย
  • ตั้งเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำกับและดูแลกิจการ เรื่องของสิทธิมนุษยชน วิธีลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผู้นำ และทรัพยากรบุคคลต่าง ๆ
  • นโยบายและการปลูกฝัง มีนโยบายที่ทุกคนสามารถหันกลับไปอ่านได้ตลอดเวลา และมีการฝึกอบรม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดใหม่ ประเด็นทั่วโลกที่ภาคเอกชนควรหันมาสนใจผ่านการอบรม
  • มีการประเมินและติดตามผลอยู่ตลอดเวลา  เพื่อจะบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ของเครือ เราจะตั้งเป้าหมายแต่ละปี ว่าภายในปีนี้เราจะทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
  • ให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร พนักงานทุกคนจะเข้าใจว่าตอนนี้เราดำเนินการไหนแล้ว เรามีอะไรที่จะต้องพัฒนาร่วมกันอีกและมีข้อมูลข่าวสารอย่างไรบ้าง
  • การมีส่วนร่วมของพนักงานก็เป็นส่วนที่สำคัญ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกัน เพราะการสื่อสารแบบ 2 ฝั่ง ระหว่างตัวผู้บริหารกับพนักงาน มีประโยชน์เป็นส่วนที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ และช่วยสร้างความมีส่วนร่วม ความเชื่อใจและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่อยู่ร่วมกันที่ดีได้
  • การเยียวยาและรับข้อร้องเรียน โดยการเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน แล้วนำเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นมากลั่นกรองหาวิธีการเยียวยา เพื่อจะทำให้ทุกคนในองค์กรอยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุด


จากนโยบายสู่วิธีการปฏิบัติ
เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันที่ดี

สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ได้ผู้สมัครงานที่หลากหลาย

จุดแรกที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างดี เริ่มจากการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานในองค์กรของเราบนพื้นฐานของความหลากหลาย

  • ไม่จำกัดทั้งเรื่องของ วัย เพศ ศาสนา อายุ อย่างเช่นกลุ่มที่เป็นเยาวชนในเซเว่น แม้ว่าจะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของหลักกฎหมาย
  • โครงการ 60 ยังแจ๋วของโลตัส  ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อใช้เวลาหลังเกษียณ
  • ในกลุ่มศาสนา และ คนพิการ เราก็มีการจ้างโดยไม่เลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น

ให้โอกาสความก้าวหน้าในการทำงานอย่างเท่าเทียม

เราให้พนักงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมการพัฒนาทักษะและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม พนักงานที่มีความหลากหลายมากมายมีความต้องการเฉพาะ และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมของเราต้องให้มีความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มด้วย

ปี 2563 ตัวเลขการจ้างงานทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในอัตราส่วนที่แทบจะเท่าเทียมกันแล้ว แสดงให้เห็นว่าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่งเสริมในเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เช่น การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของสุภาพสตรีให้สามารถขึ้นมามีบทบาทในระดับผู้บริหาร หรือผู้บริหารระดับกลาง และระดับสูง เราพยายามที่จะส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนา แนวทางฝึกอบรมต่าง ๆ ให้ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นมาถึงจุดที่เป็นผู้บริหารระดับสูงได้

การสื่อสารเกี่ยวกับความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน

เพราะการมีพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กรขนาดใหญ่ การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ความเข้าใจของพนักงานแต่ละกลุ่มเป็นเรื่องที่สำคัญ

  • มีช่องทางในการสื่อสารกับพนักงานหลายช่องทาง ไม่ว่าจะแอปพลิเคชัน อีเมล ออนไลน์ หรือการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และความหลากหลาย ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจถึงความหลากหลาย ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน

ตัวอย่างเช่น ช่วง Pride Month หรือช่วงเวลาที่ชาว LGBT จะมีกิจกรรมร่วมกันแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ทางบริษัท เช่น True ก็จัดทำโบรชัวร์ หรืออินโฟกราฟิก เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่ากลุ่มเพศทางเลือกมีความหลากหลาย หรือว่า LGBTQ , LGBTQ PLUS หมายถึงอะไร คนกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรแล้วกระจายออกทางอีเมล หรือแอปพลิเคชันของพนักงานในเครือ

เสริมสร้างวัฒนธรรมความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน

การสร้างเสริมตัววัฒนธรรมความหลากหลายมีหลายวิธีการ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความมีส่วนร่วม

  • จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม เช่น ที่ True จะมีการจัดทำห้องน้ำเสมอภาค เพื่อให้กลุ่มที่เป็นเพศทางเลือกสามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างรู้สึกปลอดภัย ส่วนคนพิการก็จะมีห้องน้ำที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในหลายบริษัท เช่น CP ALL จะมีมุมนมแม่ ที่สนับสนุนให้พนักงานตั้งครรภ์ หรือพนักงานที่เป็นแม่สามารถใช้ห้องตรงนี้เพื่อปั๊มนม และการดูแลบุตรระหว่างทำงาน อีกทั้งยังมี ห้องประกอบศาสนกิจ หรือห้องละหมาดให้พนักงานที่เป็นกลุ่มชาวมุสลิม รวมถึง จัดสรรที่จอดรถให้เฉพาะผู้พิการ คนชรา และสตรีมีครรภ์
  • เปิดรับการแสดงความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียน เพราะเรามีคนจำนวนมากถึง 4แสน5หมื่นคน เมื่อมาอยู่รวมกัน แต่ละคนมีความแตกต่างมาจากพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะมีความต้องการ มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน การเปิดรับความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียน ก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ซึ่งหลักการการรับฟังข้อคิดเห็นมีทั้งหมด 7 ข้อ สิ่งที่ดำเนินการรับฟัง แนวทางปฏิบัติก็จะต้องถูกกฎหมาย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีความโปร่งใส และ เรามีการเก็บความคิดเห็น ข้อร้องเรียนต่าง ๆ เป็นความลับของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ในบางครั้งเรานำข้อร้องเรียน มาเป็นแหล่งความรู้ในการพัฒนาแนวปฏิบัติ หรือเป็นการตอบรับในความต้องการที่แตกต่างกันต่อไป เพื่อเราจะนำมาพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น
  • การรับฟังเสียงของพนักงานทำให้สร้างความเชื่อใจ และเป็นการลดช่องว่างของตัวผู้บริหารและพนักงาน เพื่อเป็นการผนึกกำลังการทำงานกันได้อย่างสบายใจที่สุด และเป็นการเปิดให้เครือได้รับข้อมูลทางธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนมีไอเดียที่แตกต่างกันออกไป และเข้ามาส่งเสริมขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วย นอกจากนั้นการที่คนคนหนึ่งจะแสดงความคิดเห็นออกมาก็ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเปิดช่องทางให้หลากหลายก็ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเหล่านั้นได้ด้วย นอกจากนี้เรามีการรับฟังข้อคิดเห็นของพนักงานข้ามชาติอีกด้วย
ที่มา : งานสัมมนา TQA Journey: Change in Criteria 2022-2023  “How equity and inclusion helps the organization change and transition”ความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกันที่ดี ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้อย่างไร

หลักสูตรแนะนำ 




Writer