ความรู้อยู่หนใด
โดย คุณสุรีพันธุ์ เสนานุช
[email protected]
ใน 7 ขั้นตอนการจัดการความรู้ของ กพร. ที่คุ้นเคยกันดี ได้ระบุว่าขั้นตอนที่สอง คือ การ “สร้างและแสวงหาความรู้” จากขั้นตอนแรกคือ “การบ่งชี้ความรู้” นั่นหมายความว่าก่อนจะไป “สร้างและแสวงหาความรู้” ก็ต้องรู้ว่าอยากได้ความรู้อะไร และถ้าสามารถ

“สร้างความรู้” ได้ก่อนการ “แสวงหา”
นั่นหมายถึงว่ามีความรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องนำมา “จัดการ” เพื่อให้เกิดประโยชน์
ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะในความจริงทุกคนมีความรู้อยู่ในตนเอง เพียงแต่ความรู้นั้นอาจยังไม่มี “การจัดการ” ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพเท่านั้น เช่น การทำ CoPs ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญงานเดียวกัน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันแก้ไขปัญหาในงาน สร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ และจัดเก็บองค์ความรู้เหล่านั้นไปทำให้เป็นระบบ ประมวลและกลั่นกรองก่อนจะนำไปเผยแพร่เป็นขั้นตอนต่อไป
แต่ถ้ายังไม่มีความรู้นั้นก็ต้องไป “แสวงหา” จากภายนอก เพื่อนำมาใช้ ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ ว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ทั้งเรื่องความแห้งแล้ง และหนี้สินของคนในชุมชน แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ กลุ่มผู้นำซึ่งมีความชัดเจนในปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ออกไป “แสวงหาความรู้” จากภายนอก และนำมา “สร้างความรู้” ด้วยการนำความรู้นั้นมาทดสอบ ลองผิดลองถูกเพื่อให้เหมาะสมในการนำไปใช้ จนได้วิธีการใหม่ที่นำไปสู่ความสำเร็จ และได้จัดเก็บองค์ความรู้นั้นอย่างเป็นระบบ นำมาประมวลและกลั่นกรองเพื่อเผยแพร่แก่ชุมชนใกล้เคียง
จะเห็นได้ว่าในขั้นตอน “การสร้างและแสวงหาความรู้” นี่เองที่ต้องหยิบเอาเครื่องมือ “การถอดองค์ความรู้” ขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการ “สร้างองค์ความรู้” ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องไป “แสวงหาความรู้” จากที่อื่น
ไม่ว่าจะเป็นการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงผู้เชี่ยวชาญหรือ CoPs หรือการไปดูงาน ทักษะการถอดองค์ความรู้มีความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้ เพื่อให้มาซึ่งความรู้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ “การสร้างความรู้” จากประสบการณ์ของผู้อาวุโส หากไม่รู้วิธีการ “ถอดองค์ความรู้” อย่างเชี่ยวชาญ ย่อมไม่สามารถดึงองค์ความรู้นั้น มา “สร้างความรู้” ได้เลย
การสร้างและแสวงหาความรู้จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล จึงต้องตั้งต้นที่การบ่งชี้ความรู้ได้อย่างชัดเจนว่าต้องการความรู้นั้นไปทำไม เพื่อที่จะสามารถกำหนดได้ต่อไปว่าต้อง “สร้างและแสวงหาความรู้”ในเรื่องใดบ้าง เพราะทุกองค์ความรู้ไม่ใช่ความรู้เชิงเดี่ยว แต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น
การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งของชุมชนบ้านสามขา เริ่มจากอ่างเก็บน้ำกลายเป็นอ่างเก็บลม เพราะช่วงน้ำหลาก น้ำจะพัดพาเศษใบไม้และตะกอนต่างๆ มาลงจนอ่างน้ำตื้นเขิน การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ แต่ต้องมีความรู้ว่าจะจัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างไร นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง และไม่เกิดปัญหาซ้ำซาก เป็นต้น
ดังนั้น การสร้างและแสวงหาความรู้จึงต้องมองให้เห็นรอบด้านของความรู้นั้นว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งต้องใช้วิธีคิดที่เป็นระบบ นั่นคือ System Thinking
ในแต่ละขั้นตอนของการจัดการความรู้มีวิธีการที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนปฏิบัติทั้งสิ้น ในบทความ “กระดุมเม็ดแรก” ก่อนหน้านี้ กล่าวถึงการจัดการความรู้ให้มาถูกทางเสียก่อนที่จะก้าวสู่การถอดองค์ความรู้ และการจัดการความรู้ให้ถูกทางนี่เองจะทำให้ขั้นตอนที่หนึ่งของการจัดการความรู้คือ “การบ่งชี้ความรู้” มีความชัดเจนไปพร้อมกัน
ทั้งนี้เพราะทุกองค์ความรู้ไม่ได้มีคุณค่าสำหรับเราทั้งหมด จึงต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อกำหนดให้ได้ว่าอะไรคือความรู้ที่มีคุณค่า ที่เรียกว่า Valuable Knowledge ที่จะส่งให้เกิดผลลัพธ์ความสำเร็จที่ชี้วัดได้
“การสร้างและแสวงหาความรู้” ในขั้นตอนที่สอง จึงเป็นเสมือนเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ก่อนออกเดินทาง จึงต้องฝึกตนให้มั่นใจได้ว่าการเดินทางนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่หลงทาง สามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้
และอาวุธคู่กายในการเดินทางครั้งนี้ก็ คือ
ทักษะในการถอดองค์ความรู้นั่นเอง
แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
คลิก
