6 January 2022

ทองคำใต้ภูเขาน้ำแข็ง

โดย สุรีพันธุ์  เสนานุช

[email protected]

 

คุณคิดว่าคนสองคนทำงานเดียวกัน มีการกำหนดวิธีปฏิบัติ มาตรฐาน และตัวชี้วัดเหมือนกัน คุณภาพของงานจะออกมาได้ราวกับพิมพ์เดียวกันหรือไม่

เชื่อว่าส่วนใหญ่คงตอบว่าไม่แน่เสมอไป และบางคนที่มีประสบการณ์ในการควบคุมคุณภาพคงตอบว่าไม่มีทางเป็นไปได้

นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “ทักษะ” ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกของคน ๆ นั้นจนทำให้สามารถทำงานได้เร็วกว่า และดีกว่าคนอื่น ๆ ทักษะนี่เองที่เปรียบเสมือนทองคำใต้ภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่พ้นน้ำเห็นชัด ๆ ก็คือวิธีการปฏิบัติงาน มาตรฐานที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สิ่งที่มั่นใจได้ว่างานจะมีคุณภาพดีเสมอไป ทักษะจึงเป็นองค์ความรู้ที่ควรค่าสำหรับการใช้เป็น
เครื่องมือถอดองค์ความรู้เป็นอย่างยิ่ง เป็นเป้าหมายที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ และเป็นองค์ความรู้ที่องค์กร
ไม่ควรจะสูญเสียไป เพราะทักษะที่บุคคลสร้างขึ้นมาได้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนขององค์กรทั้งสิ้น

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในหลายองค์กรธุรกิจ ซึ่งยืนยันให้เห็นว่า “ทักษะ” ในการทำงานนั้นเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญไปสู่ความสำเร็จ

เช่น กรณีศึกษาของ บริษัท Evergreen Fresh Food  ในหนังสือ Practical Knowledge Management Guide for SME Owners and Managers ของ Asian Productivity Organization-APO ซึ่งเป็นธุรกิจส่งออกผักและผลไม้สดในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าแนวโน้มของธุรกิจที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จด้วยการที่บริษัทให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรฐานในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ระดับสากลหลายมาตรฐาน และให้การอบรมการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านั้นแก่เกษตรกรพันธสัญญาผู้ส่งมอบวัตถุดิบ แต่พบว่ายังมีปัญหาด้านต้นทุนสูงจากของเสียในกระบวนการผลิต เมื่อเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดโดยที่ปรึกษาจึงรู้ว่าต้นเหตุสำคัญมาจากคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอของวัตถุดิบหรือผลผลิตจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรพันธสัญญานั่นเอง ภายใต้การดำเนินการด้วยกรอบวิธีปฏิบัติเหมือนกัน องค์ความรู้ที่เท่าเทียมกันในกลุ่มเกษตรกร แต่ยังเห็นได้ชัดว่าเกษตรกรที่สามารถส่งมอบวัตถุดิบที่มีคุณภาพนั้นได้มีการเรียนรู้ ลองผิด ลองถูกด้วยตนเอง จนมีวิธีการที่แตกต่างจากคนอื่น เมื่อเปิดเวทีให้มีการถ่ายทอดความรู้ในกลุ่มเกษตรกร มีผลทำให้คุณภาพวัตถุดิบมีคุณภาพที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังนำมาปรับปรุงมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น

การถ่ายทอดความรู้จากเกษตรกรที่มีทักษะสูงนั้น ไม่ใช่เพียงการปล่อยให้บอกเล่าจากการตั้งคำถามว่า “มีวิธีการอย่างไรจึงทำให้สามารถควบคุมคุณภาพในแปลงเพาะปลูกได้ดีกว่า” แต่ต้องใช้กระบวนการถอดองค์ความรู้เกษตรกรท่านนั้นออกมาก่อน เพื่อให้การถ่ายทอดมีลำดับที่เป็นขั้นตอน มีความมั่นใจได้ว่ามีความครบถ้วน และทำให้เกษตรกรท่านนั้นมีความมั่นใจพอที่จะถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และนั่นก็คือการใช้เครื่องมือการถ่ายทอดความรู้อย่างถูกต้อง

ในแต่ละองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือชุมชนมีบุคคลซึ่งสร้างสมทักษะจากประสบการณ์การลองผิด ลองถูกเพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดทุกแห่ง และมีอยู่ในงานทุกระดับ ขึ้นอยู่กับการมองหาขุมทองนั้นให้พบ

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ก็คือ เรื่องของหญิงหม้ายผู้ยากจนในหมู่บ้านหนองกลางดง อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ เมื่อหญิงหม้ายได้รับโอกาสจากชุมชนให้ทุนเพื่อการตั้งตัว ด้วยคำถามจากผู้ใหญ่โชคชัยว่าอะไรที่คิดว่าตนทำได้ดีที่สุด คำตอบของหญิงหม้ายคือการเลี้ยงหมู และปรากฏว่าเธอประสบความสำเร็จจากทุนรอนจำนวนเพียงหลักพันที่ได้รับการช่วยเหลือ สามารถขยายการเลี้ยงจากหมูคู่เดียวไปสู่หลายร้อยตัว พลิกชีวิตจากความยากจนที่เกือบไม่มีอะไรจะกิน มีฐานะมั่นคง ส่งลูกสองคนจนจบปริญญา

จะเห็นได้ว่า “ทักษะ” คือสิ่งที่มีคุณค่าเกินกว่าที่จะละทิ้งไป ชุมชนที่เข้มแข็งหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการถอดองค์ความรู้ที่เป็นทักษะเหล่านี้ โดยการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างน่าสนใจ

“ทักษะ” จึงเป็นเป้าหมายที่ควรค่าแก่การใช้เครื่องมือถอดองค์ความรู้เป็นลำดับแรก แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนที่จะมุ่งไปเรียรู้เพื่อถ่ายทอดทักษะใดของบุคคลใดก็ตาม ต้องถามด้วยคำถามหลักว่าต้องการทักษะนั้นไปเพื่อใช้ทำอะไร มีความคาดหวังในผลสำเร็จที่จะได้รับไว้อย่างไร เมื่อมีความชัดเจนในคำตอบที่ได้รับแล้ว ก็เดินหน้าปฏิบัติการต่อไปได้อย่างมั่นใจ

 

 

สรุป

ทักษะ คือองค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวบุคคล ผ่านการลองผิดลองถูกจนได้วิธีปฏิบัติที่ดีกว่า

ทักษะ เปรียบเสมือนขุมทองที่ซ่อนอยู่ ในทุกองค์กร และผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ

ทักษะ เป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าสำหรับการถอดองค์ความรู้

 

 

…..

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น