22 December 2022

LEAD TIME

ข้อมูลการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ตอนที่ 3

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี – Lean and Productivity Consultant / Trainer

จากคอลัมน์ Productivity Insight ที่นำเสนอเทคนิคปรับกระบวนการ สู่การเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืน

บทความ 2 ตอนก่อนหน้า เราได้ทำความเข้าใจกับแนวคิดและตัวอย่างการคำนวณ Lead Time พร้อมกับทำให้เห็นว่า Lead Time ที่สั้นลง คือวงจรธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน

สำหรับตอนจบนี้ ผมขอวาดภาพของ Lead Time ที่ไล่ตั้งแต่ระดับฝ่ายผลิต ไปจนถึง Lead Time ในมุมของลูกค้าเชื่อมโยงไปยังวงจรของธุรกิจครับ

เราสามารถพิจารณา Lead Time ตามแนวดิ่ง โดยไล่ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบนของธุรกิจ ได้ดังนี้

Production Lead Time

ระดับนี้เป็นการมองในมิติของ Operation เวลาในฝ่ายผลิต ตรงกับ Lead Time ที่กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้า

(อ่านบทความก่อนหน้า คลิก)

เป็นผลรวมของ ‘เวลาในกระบวนการ (Processing Time)’ ตั้งแต่ กระบวนการที่ 1 จนกระทั่งถึงกระบวนการสุดท้าย เพิ่มด้วย เวลารอคอย (Waiting Time), เวลาตั้งเครื่อง (Set up Time), เวลาซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร (Maintenance Time) และ เวลาจากการเป็น Stock ระหว่างผลิต (Stock In Process)

Product Lead Time

กินความกว้างขึ้นเป็น เวลาทางกายภาพทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ (Raw Material Receiving) จนกระทั่งสินค้านั้นถูกส่งมอบออกไปให้กับลูกค้า (Product Delivery)

เวลาที่เพิ่มขึ้นจากระดับแรก คือ เวลาของวัตถุดิบ (Raw Material) ที่ผ่านงาน Logistics เข้ามา และ เวลาเก็บเป็น Stock ในคลังวัตถุดิบ จ่ายเข้าไปยังกระบวนการผลิต เป็นด้านขาเข้า

สำหรับด้านขาออก คือ เวลาของผลิตภัณฑ์ (Finished Goods) ที่ถูกขนย้ายไปเก็บในคลังสินค้าสำเร็จรูป ผ่าน Logistics ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า นอกจากนั้นยังรวม เวลาของการควบคุณภาพ คือ การตรวจสอบ (Inspection) และ การซ่อมแซม/ทำซ้ำ (Rework) อีกด้วย

Lead Time ระดับนี้ นอกเหนือจากฝ่ายผลิตแล้ว ขอบเขตผู้เกี่ยวข้องจะรวมไปถึง ผู้บริหารสินค้าคงคลัง และ การควบคุมคุณภาพ เป็น Lead Time ที่รวมภาคการผลิตทั้งหมด

โรงงานจำนวนมากมี Lead Time ในกระบวนการผลิต ไม่กี่วัน แต่ เวลาที่เก็บสินค้าคงคลังเป็นระดับ หลาย ๆ เดือน

Customer Lead Time

เป็นเวลาทั้งหมดในมุมลูกค้า หรือกล่าวว่าเป็น Lead Time ของการทำธุรกิจก็ได้ เริ่มตั้งแต่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อเข้ามา (Customer Order) จนกระทั่งลูกค้าได้รับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น (Product Receiving)

Lead Time ระดับนี้แสดงกระบวนการครอบคลุมทั้ง การไหลทางกายภาพ (Physical Flow) และ การไหลของข้อมูลข่าวสาร (Information Flow)

เวลาที่ใช้ในการส่งผ่าน ข้อมูลข่าวสาร ทำให้ Lead Time สมบูรณ์ ตั้งแต่ฝ่ายขายรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า นำไปวางแผนการผลิต (Production Planning) ส่งต่อความต้องการวัตถุดิบไปยังผู้จัดหา (Supplier), กำหนดคำสั่งผลิต (Production Order) ให้ฝ่ายผลิต

แม้ว่าเป็นกรณีที่มีการเก็บ Stock ผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันที ไม่ต้องรอคอยเวลาในกระบวนการผลิตก็ตาม แต่วงจรของข้อมูลข่าวสาร และ กายภาพ ตามข้างต้นก็ยังต้องมี เพื่อผลิตสินค้ากลับมาเติมคลัง

 

 

 

 

 

 

 

จาก Lead Time ทั้ง 3 ระดับจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ ระดับแรก เป็นการไหลด้านกายภาพของฝ่ายผลิตเท่านั้น ขยายมาครอบคลุมเวลาด้านกายภาพทั้งหมดใน ระดับที่ 2 เมื่อเพิ่มเติมเวลาที่ใช้ในการไหลของข้อมูลข่าวสาร เป็นเวลา ระดับที่ 3 ที่เป็นเวลาโดยรวมในธุรกิจที่สมบูรณ์

การนำแนวคิดไปใช้ ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการศึกษา ปรับปรุง หรือกำหนดมาตรฐาน ในขอบเขตเพียงใด

สุดท้ายนี้ ขอย้อนกลับไปที่คำถามเปิดบทความในตอนแรกอีกครั้งว่า เรารู้จัก Lead Time ของตนเองดีเพียงใด ยังมีจุดใดได้อีกบ้าง ที่จะสามารถปรับปรุงให้ Lead Time ลดลงได้ครับ

🔎 อ่านบทความ Lead Time ข้อมูลการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ตอนที่ 1 คลิก

🔎 อ่านบทความ Lead Time ข้อมูลการผลิตพื้นฐานที่สำคัญ ตอนที่ 2 คลิก


ค้นหาหลักสูตรด้านการผลิต คลิก




Writer