9 December 2022

   

หลังม่านมุ่งอนาคต   

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

คุณกรุณา บัวคำศรีนักข่าวสารคดีผู้เดินทางรอบโลก เจ้าของรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ผู้อยู่ในแวดวงข่าวมา 20 ปี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ readthecloud.co ว่า “นักข่าวควรมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่มันต้องไม่เฉพาะแค่ในวันนี้ แต่ต้องย้อนกลับไปในอดีตด้วย เพราะประวัติศาสตร์มีคุณค่ามากกว่าแค่บันทึก แต่มันเป็นบทเรียน” การถอดบทเรียน Best Practices ก็เช่นกัน หากไม่ย้อนรอยกลับไปในเส้นทางการเรียนรู้และเติบโตขององค์กรนั้น ก็ไม่สามารถเข้าถึงเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จได้เลย

การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ (Visionary Leadership) เป็นหนึ่งในค่านิยมและแนวคิดหลัก 11 ประการของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ทำให้องค์กรมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ผู้นำที่มีมุมมองมุ่งสู่อนาคตเช่นนี้ย่อมสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการก้าวไปสู่จุดหมายที่มุ่งหวังนั้นจะต้องเป็นจริง

จากการศึกษาวิจัย Best Practices ขององค์กรที่ได้รับรางวัลที่ผ่านมา พบว่าเส้นทางพัฒนาการขององค์กรนั้นเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าองค์กรก้าวมาสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร การย้อนรอยกลับไปจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรจึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญการถอดบทเรียน Best Practices

ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่าถ้าองค์กรหลงลืมไปว่า “องค์กรเกิดมาเพื่ออะไร”  โศกนาฏกรรมขององค์กรหลงทิศย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นก็คือการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และก้าวเดินไปสู่จุดหมายโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสมายาใดๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนขององค์กร

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลภาครัฐแห่งแรกที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศในปี พ.ศ. 2550
เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ในปี พ.ศ. 2525 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เริ่มเปิดให้บริการ ไปพร้อมกับการก่อสร้างอาคารสถานที่ ผู้บริหารระดับสูงท่านแรกคือศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช  ซึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าท่านมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในระดับตติยภูมิคือสามารถรักษาโรคยากและซับซ้อนได้ สำหรับประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เท่าเทียมกับโรงพยาบาลศิริราช ท่านจึงวางรากฐานด้วยการนำเอาเครื่องมือคุณภาพต่างๆ มาพัฒนาองค์กร ในช่วงปีแรกการผลักดันให้บุคลากรเข้าใจการพัฒนาองค์กรไปพร้อมกับงานประจำวันเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง แต่ท่านก็ไม่เคยละความพยายามจนในที่สุดก็เห็นผลที่น่าชื่นใจ ในปี พ.ศ. 2544 ผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) ระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ครั้งที่ 1 จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และได้รับรางวัลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงพยาบาลจนถึงรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศดังที่กล่าวมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะเวลาเพียง 25 ปีบนเส้นทางของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลก็ก้าวไปสู่จุดหมายที่วางไว้

องค์กรที่เป็นเลิศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ผู้นำระดับสูงนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้วยการวางพื้นฐานไปที่ละขั้นตอน โดยเลือกเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นนำไปผสานกับเนื้องานประจำวัน คนทำงานได้เห็นความสำเร็จไปทีละน้อย จนถึงปลายทางที่อาจเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ได้กลายเป็นความจริงที่น่าภาคภูมิใจ

  ทุกความสำเร็จจึงมีเบื้องหลัง มีความเป็นมาที่เป็นคำตอบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทบทวนอดีตเพื่อเรียนรู้

และนำไปต่อยอดสู่อนาคตได้อีกด้วย

 

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น