8 December 2022

ผู้นำสตรีมีภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลดีกว่า : วิกฤต Covid-19

โดย อาจารย์ชัยทวี  เสนะวงศ์
ที่ปรึกษาอาวุโสและวิทยากรผู้ออกแบบระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์
และระบบประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่องค์กรชั้นนำ

 

ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส SARS-CoV-2  ที่ก่อให้เกิดโรค Covid-19 ส่งผลให้ประชาชนติดเชื้อโรคและเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก เป็นภาวะวิกฤตทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปทั่วโลก ทุกประเทศ ทุกองค์กร ต่างก็กำลังทุ่มเทพลัง และทรัพยากรต่าง ๆในแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ ซึ่ง ณ สถานการณ์ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกการแพร่ระบาดก็ทุเลาลงไปมากแล้ว สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 อย่างเข้มข้น ปัจจุบัน ได้มีการปรับมาตรการจาก “การระบาดใหญ่ (Pandemic)” เปลี่ยนผ่านมาสู่ “โรคประจำถิ่น (Endemic)” ซึ่งเป็นสัญญาณในทางที่ดีที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่  มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าประเทศต่าง ๆที่มีผู้นำที่เป็นสตรี เช่น เยอรมนี นิวซีแลนด์ ไต้หวัน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ เป็นต้น หรือแม้แต่ในมลรัฐต่าง ๆของสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ว่าการมลรัฐเป็นสตรี จะมีมาตรการรับมือ การป้องกัน การแก้ปัญหา การเยี่ยวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดได้ดี มีประสิทธิผลที่ดีกว่า ประเทศที่มีผู้นำเป็นชาย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโรคและเสียชีวิต จำนวนไม่มากนัก จึงเกิดเป็นประเด็นถกเถียง ข้อสงสัย กันขึ้นมาในแวดวงการพัฒนาภาวะผู้นำว่า

“ในช่วงเวลาวิกฤต ผู้นำสตรีมีภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลดีกว่า ผู้นำชาย จริงหรือไม่”

“ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงมีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไรได้บ้าง”

 

    มายาคติ (Myth) ต่อผู้หญิง :    

                ก่อนจะมาหาคำตอบมาดูข้อมูลเดิม ๆกันก่อนว่าสังคมโลกมีมายาคติ ความเชื่อ อย่างไรกับเพศหญิงกันบ้าง เมื่อวันสตรีสากล (8 มีนาคม พ.ศ. 2564) UNDP เผยแพร่รายงานที่ทำการศึกษาใน 75 ประเทศ มีประชากรรวมกันเป็น ร้อยละ 80 ของประชากรโลก พบว่า 9 ใน 10 คน (รวมเพศหญิง) ระบุว่า ประชากรโลกมีความคิดที่เป็นอคติต่อผู้หญิง เช่น

  • มีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นนักการเมืองและผู้นำธุรกิจได้ดีกว่าผู้หญิง
  • การได้รับการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ผู้ชายควรได้รับสิทธิพิเศษในตลาดแรงงานมากกว่าผู้หญิง

ประเทศที่มีสัดส่วนของผู้มีอคติทางเพศต่อผู้หญิงมากที่สุด คือ ปากีสถาน มีกลุ่มคนมีอคติต่อผู้หญิงมากถึง ร้อยละ 99.81 ตามด้วย กาตาร์ และไนจีเรีย มี ร้อยละ 99.73 เท่ากัน

ประเทศที่มีประชากรมีความคิดอคติต่อผู้หญิงในสัดส่วนน้อยที่สุด คือ อันดอร์รา ที่ร้อยละ 27.01 ตามด้วย สวีเดน ร้อยละ 30.01 และ เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 39.75

ฝรั่งเศส อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา คนมีอคติต่อผู้หญิงอย่างน้อยที่สุดหนึ่งเรื่อง (ในสามเรื่องข้างต้น)  มีสัดส่วนเท่ากัน คือ ร้อยละ 56.00 54.00 และ 57.31 ตามลำดับ

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สาธารณสุข และเศรษฐกิจ แล้ว UNDP ยังชี้ให้เห็นสิ่งที่ท้าทายที่น่ากลัวที่สุดที่พบในรายงานการศึกษานี้ คือ มีกลุ่มคน ร้อยละ 28 ที่มีความเห็นว่าการที่ผู้ชายทุบตีทำร้ายร่างกายภรรยาตัวเอง “เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไร”

 

    วิกฤต Covid-19 ผู้นำสตรีทำหน้าที่ได้ดีกว่า :    

วารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Women Are Better Leaders-Especially in a Crisis” ซึ่งเป็นการสรุปผลรายงานการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของภาวะผู้นำเปรียบเทียบระหว่างผู้นำ เพศหญิง และ เพศชาย ในช่วงเวลาวิกฤต Covid-19 ของ Jack Zenger และ Joseph Folkman ผู้เขียนหนังสือชื่อ “How Leaders Accelerate Successful Execution” และเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Zenger/Folkman บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

ปีพ.ศ. 2563 Zenger และ Folkman ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของภาวะผู้นำ ที่สัมภาษณ์ผู้นำกว่า 60,000 คน (ผู้หญิง 22,603 คน ผู้ชาย 40,187 คน) พบว่าผู้นำสตรีได้รับคะแนนความเห็นว่ามีประสิทธิผลของภาวะผู้นำดีกว่า ผู้นำชาย ซึ่ง ณ สถานการณ์ตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด Covid-19 ต่อมาช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2563 การแพร่ระบาด Covid-19 อยู่ในภาวะวิกฤต Zenger และ Folkman ทำการวิจัยซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าในภาวะวิกฤตข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของภาวะผู้นำจะเปลี่ยนไปหรือไม่ การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ชาย 454 คน และผู้หญิง 366 คน ในลักษณะ 360-degree assessment (ผู้ตาม เพื่อน ผู้บังคับบัญชา)  ในความคิดเห็นเกี่ยวกับ ประสิทธิผลของภาวะผู้นำ (Leadership effectiveness) และ การสร้างความผูกพัน ผูกใจ การมีส่วนร่วม (Employee engagement) แล้วนำผลการสำรวจมาเปรียบเทียบกันระหว่างผู้นำเพศหญิง และเพศชาย ในช่วงก่อนการแพร่ระบาด และช่วงการแพร่ระบาด Covid-19 สรุปข้อมูลเป็นรายงานการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของภาวะผู้นำ ได้ดังนี้

     1. ผู้นำสตรี มีคะแนนประสิทธิผลของภาวะผู้นำสูงกว่าผู้นำชาย      

เปรียบเทียบประสิทธิผลของภาวะผู้นำ ทั้งก่อนการแพร่ระบาด และ ช่วงการแพร่ระบาด Covid-19 พบว่าคะแนนภาวะผู้นำของทั้งผู้นำสตรี และผู้นำชาย ดีขึ้นทั้งคู่ แต่ถ้าเปรียบเทียบคะแนนภาวะผู้นำระหว่างเพศ พบว่า ผู้นำสตรีจะมีประสิทธิผลดีกว่าผู้นำชาย

 

 

     2. ผู้นำสตรี สามารถสร้างความผูกพัน ผูกใจ การมีส่วนร่วม ได้ดีกว่าผู้นำชาย     

ภาพรวมของการสร้างความผูกพัน ผู้ใจ การมีส่วนร่วม (Employee Engagement) ระหว่างผู้นำกับพนักงานพบว่าทั้งสองเพศมีค่าคะแนนเฉลี่ย อยู่ที่ ร้อยละ 51.0 แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเพศ ผู้นำสตรีมีความสามารถสร้างความผูกพัน ผูกใจ การมีส่วนร่วม ได้ดีกว่าผู้นำชาย

 

 

 

สรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ทักษะที่ส่งผลให้ผู้นำสตรีทำหน้าที่สร้าวความผูกพัน ผูกใจ การมีส่วนร่วม ได้ดีกว่าผู้นำชาย มาจากความละเอียดอ่อนกับการทำงานเป็นกลุ่ม (Social sensitivity)   เริ่มจากการสื่อสารที่แสดงออกถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) และความเห็นใจ สงสาร (Sympathy) อย่างจริงใจ ให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาไม่แสแสร้ง และการกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาฝ่าวิกฤตที่ตรงประเด็นที่ดูน่าจะแก้ปัญหาได้ ส่งผลให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) ในตัวผู้นำ ซึ่งความเชื่อถือไว้วางใจนี่แหละเป็นพื้นฐานสำคัญของการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของผู้คนสำหรับการแก้ปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Google ในปี พ.ศ. 2559 ที่ Google เริ่มโครงการ Project Aristotle พบว่า ส่วนใหญ่ของโครงการฯที่ประสบความสำเร็จจะมาจากกลุ่มที่สมาชิกในทีมมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

 

     สมรรถนะอะไรบ้างที่ผู้นำสตรีทำได้ดีกว่า :    

การวิจัยในครั้งนี้ผู้ทำการวิจัยได้นำสมรรถนะ จำนวน 19 สมรรถนะ มาสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างถึงประสิทธิผลของผู้นำในแต่ละสมรรถนะ แล้วนำผลสรุปของความเห็นมาเปรียบเทียบกันระหว่างผู้นำสตรี และผู้นำชาย รายละเอียดของคะแนนเปรียบเทียบตามแผนภาพ

 

จากสมรรถนะ 19 สมรรถนะ ที่สอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ผู้นำสตรีได้รับคะแนนสูงกว่าผู้นำชาย มีเพียงสมรรถนะ “ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในวิชาชีพ” เท่านั้นที่ผู้นำชายได้รับคะแนนสูงกว่าผู้นำสตรี จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างต่อคำถามที่ว่า “ความคาดหวังและต้องการความช่วยเหลืออะไรจากผู้นำ ในภาวะวิกฤต” สรุปคำตอบสำคัญ ๆ ได้ดังนี้

1.) ต้องเข้าใจอย่างแท้จริงในความตื่นตระหนก ความเครียด และความไม่พอใจ ของผู้คน

2.) ผู้นำที่ความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆได้อย่างทันการณ์

3.) ผู้นำที่ใส่ใจ และลงมือปฏิบัติ ในการพัฒนาคนอย่างจริงจัง จริงใจ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต

4.) ผู้นำที่ศรัทธาและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในความซื่อตรง ซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณ ต่อวิชาชีพ และมีความโปร่งใส

เช่นกัน พฤติกรรมของผู้นำทั้ง 4 ลักษณะ ในช่วงภาวะวิกฤต Covid-19 ผู้นำสตรีทำได้ดีกว่าผู้นำชาย

การวิจัยในครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่าในภาวะวิกฤต Covid-19 ผู้นำสตรีจะทำหน้าที่ผู้นำได้ดีกว่าผู้นำชาย (ข้อมูลบางส่วน พบว่าบริษัท ใน Top 500 ของโลก มีผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูงสุดเพียง 21 บริษัท เท่านั้น และข้อมูลของประเทศไทย ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 32 เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรพียง ร้อยละ 24 ผู้หญิงเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาเพียง ร้อยละ 16.2)

 

ในทัศนะของผู้เขียนปัจจัยสำคัญของประสิทธิผลในความเป็นผู้นำไม่ควรจะมาจากเพศสภาพ แต่ควรจะมาจากความสามารถของความเป็นผู้นำมากกว่า ที่ต้องเริ่มจากสามารถเข้าใจในสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง มาตรการแก้ปัญหาต้องออกแบบกลยุทธ์และลงมือปฏิบัติที่ตรงประเด็น ด้วยกระบวนการคิด (ใช้ปัญญา) สื่อสาร (อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นใจสงสาร) ให้โอกาสการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ นำพา ผู้คนฝ่าวิกฤติไปได้ด้วยดี ทั้งหมดถ้าทำได้ดีจะนำมาซึ่ง ความศรัทธา เชื่อถือ ไว้วางใจ ของผู้คน ซึ่งความสามารถของความเป็นผู้นำลักษณะดังกล่าว ควรเป็นไปด้วยความแตกต่าง หลากหลาย ไม่ควรมีข้อจำกัดในเรื่องของ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ รศนิยมทางเพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อายุ สภาพความพร้อมทางกายภาพของร่างกาย ศาสนา ความเชื่อ (ทางการเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี) ต่าง ๆ

 

Next Chapter ของสังคมโลก มีบทเรียนที่จะต้องทำความเข้าใจและยอมรับ ว่ามนุษย์จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ Coronavirus (Covid-19) ไปอีกยาวนาน ทุกปีพวกเราอาจจะต้องมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส เหมือนกับที่ทุกปีพวกเราฉีดวัคซีนป้องกันไข้วัดใหญ่ และที่สำคัญมนุษย์จะต้องเตรียมใจยอมรับว่ายังมีเชื้อไวรัสตัวใหม่ ๆที่ยังไม่รู้จัก รอวันแพร่ระบาดมายังมนุษยชาติอีกเป็นจำนวนมาก การทำงานในอนาคตต้องทำงานแข่งกับเวลา ต้องลดข้อจำกัด อคติ ต่าง ๆลงไปให้มากเพราะวิกฤตจะมาอีก จะเกิดอีกอย่างต่อเนื่อง โลกการทำงานยุคใหม่จึงจำเป็นต้องยึดสติปัญญา ความสามารถเป็นตัวตั้ง ให้การยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริม สนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม

ลองกลับไปทบทวนดูที่ทำงานของพวกท่านนะครับว่า ยอมรับแนวคิดและนำ Diversity, Equity& Inclusion in workplace (DE&I) มาใช้ในการทำงานขององค์กรอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม ได้มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นความจำเป็น เพราะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรยุค Next Chapter พวกเขาต้องการอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ ต้องการความหลากหลาย ต้องการมีส่วนร่วม ต้องการโอกาสในการแสดงความสามารถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าผู้นำ (ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นเพศใด) ถ้าสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในองค์กร จะนำมาซึ่งความศรัทธาของพนักงาน  Next Chapter องค์กรที่ไม่ได้อยู่ด้วยความศรัทธาของพนักงานจะไปไม่รอด ครับ

 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย ชัยทวี เสนะวงศ์

ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด