20 July 2022

 

เปิดบทบาทเอชอาร์ AIS กับงานสร้างและพัฒนาคน

เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต

 

เมื่อ HR ต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อให้มีทักษะรอบด้านพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่แม้แต่ HR เองก็ต้องปรับบทบาทการทำงานเพื่อเป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

AIS แบรนด์โอเปอเรเตอร์อันดับต้นๆของประเทศ ที่สามารถคว้ารางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย หรือ HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2021 ติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งจัดโดยนิตยสารเอชอาร์ เอเชีย (HR Asia) ของบริษัท Business Media International (BMI) ประเทศมาเลเซีย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาคนAIS ให้มีความพร้อมทั้งทักษะ ความรู้ และการเติบโต ที่ควบคู่ไปกับการขยายอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ

  “ต่อให้ไม่มี Digital disruption เกิดขึ้น HR ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง”

เพราะเมื่อเราวางตัวเอง (HR) เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร สิ่งที่เราต้องทำ คือ ลุกขึ้นมาเป็นผู้ตามมากกว่าผู้สนับสนุน แม้ว่าที่ผ่านมาเราวางตัวเองมาตลอดว่าเป็นงานสนับสนุน ที่จริงแล้ว งานคน เป็นงานที่ต้องสร้างเพื่อเป้าหมายธุรกิจที่จะไป HR ต้องรู้ก่อนหน่วยงานอื่นในองค์กรเสียอีก ต้องทำงานคู่กับ Strategic อย่างใกล้ชิด

 

skill icon

“ที่ AIS การจะ Reskill,Upskill และ Cross-skill องค์กรรับผิดชอบ 50%

และตัวพนักงานต้องรับผิดชอบอีก 50%”

 

แม้ว่าในปัจจุบัน มีเครื่องมือ ที่เป็นศัพท์ใหม่ๆเข้ามาหลากหลายมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือ ควรทำความเข้าใจและคำนึงถึงความเหมาะสมระหว่างทฤษฎีใหม่กับบริบทขององค์กร ในมุมมองเรา 

Reskill

คือต้องก้าวไปข้างหน้าและอยู่ในเนื้องานจริงๆ ไม่ใช่แค่การมาอบรมหาความรู้อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่ที่ตัวเนื้องานด้วย ถึงจะสามารถ Reskill ได้เป็นผล แม้จะเข้าคอร์สอบรมมามากมาย เราเชื่อว่ามันจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำมาใช้ได้จริง เพราะฉะนั้นจะมีการติดตามผลจากหัวหน้ากับผู้ที่ไปเข้าอบรมอย่างสม่ำเสมอ

Upskill

คือต้องทำล่วงหน้าก่อนที่คนนั้นจะไปอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ เพราะเรามักจะจัดคนมาอยู่ในตำแหน่ง ก่อนที่คนๆ นั้นจะมีความพร้อม ที่จริงแล้ว การแต่งตั้งตำแหน่ง คือความคาดหวังสิ่งที่เราจะไปในอนาคต และต่อให้หัวหน้าไม่เสนอชื่อมา พนักงานก็สามารถที่จะแสดงศักยภาพออกมา HR และกรรมการคัดเลือก จะสามารถเห็นจากเส้นทางที่เขาพัฒนาตัวเองจากแผน

Cross-skill 

คือส่วนหนึ่งต้องอาศัยคนที่รักความก้าวหน้า เพราะคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นภาระที่มาเพิ่มพูน ทำไมฉันต้องไปเรียนรู้ ทำไมฉันต้องไปเอาอะไรเพิ่มมาจากหน้าที่ปกติที่ทำอยู่

เพราะฉะนั้นแล้วใน 3 เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จได้ องค์กรรับผิดชอบ 50% (สำหรับ AIS เอง) เจ้าตัวต้องรับผิดชอบอีก 50% โดยที่เราทำอยู่คือ ทำให้พนักงานสามารถเข้าถึงศูนย์รวมองค์ความรู้ ให้โอกาสในการเข้าถึง หมายความว่า เราเชื่อในเรื่องโอกาสที่เท่าเทียม ไม่ได้แปลว่าหลักสูตรนี้ให้เฉพาะตำแหน่งนี้เข้าอบรม ทั้งหมดนี้ก็คือ บริบทในเวลาที่ AIS พูดถึงหรือให้คำนิยาม 3 คำนี้

 

“แผน IDP ต้องตอบความฝันของพนักงานคนนั้นก่อน

และมีหัวหน้าที่สามารถให้คำแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ได้

เราจึงจะสามารถสร้างคนๆ นั้นเป็น Career Map ”

 

 

 

เมื่อก่อน บริษัทจะเป็นเจ้าของ IDP จะไม่ใช่วางแผนโดยพนักงาน เพราะฉะนั้นบริษัทจะรู้สึกดีที่มี IDP แต่พนักงานอาจไม่ได้รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตน เพราะไม่ได้ตอบความฝันของตน แต่ในปัจจุบัน IDP ต้องตอบความฝันของพนักงานคนนั้นก่อนและมีหัวหน้าที่สามารถให้คำแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ได้ เราจึงจะสามารถสร้างคนๆ นั้นเป็น Career Map และเมื่อจะ Reskill ก็จะตอบโจทย์ที่ตัวพนักงานว่าอยากจะเติมเต็มในสิ่งที่ไม่รู้หรือขาดและรู้ว่าเป็นความคาดหวังของหัวหน้างาน

องค์กรก็จะมี Map ให้ดูว่าความสามารถที่ต้องการจริงๆ มีอะไรบ้าง บุคลากรหรือพนักงานจะต้องไปสะสมความสามารถ และเมื่อถึงวันที่เราจะโปรโมท เราก็จะกลับมาดูเส้นทางที่พนักงานพัฒนาตัวเอง เพราะมีหลายๆ ครั้งที่เราดันคนขึ้นมาในจังหวะที่ไม่พร้อม และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานรายนั้นๆ จะกลายเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นการทำล่วงหน้า พนักงานไม่ต้องไปรอว่า หัวหน้าจะชอบหรือไม่ชอบ แต่จะเป็นเรื่องของความถูกต้องมากกว่า

ดังนั้นเวลาที่ทำ IDP องค์กรต้องมีความใจกว้าง เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถคาดหวังหรือคาดการณ์ได้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า เขาต้องการจะทำอะไร ซึ่งองค์กรจะได้เตรียมการในเรื่องของ Successor ที่จะมาดูแลงานแทน และสามารถย้ายให้เขาไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมกับช่วงเวลา โดยที่ยังสามารถรักษาพนักงานคนนั้นไว้ได้ เพราะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของทักษะต่างๆ ไว้แล้ว

 

“เพื่อให้เกิด Equal System ของการพัฒนาพนักงาน เราจึงรวบรวมความรู้ เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้

ที่ให้พนักงานสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัดและสามารถเรียนรู้เวลาไหนก็ได้ที่ต้องการ”

ในทุกวันนี้บทบาทการเรียนรู้ต้องเริ่มจากตัวพนักงานที่มีความอยากที่จะหาองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม ฉะนั้นที่บริษัทต้องทำคือเตรียมแหล่งข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานเรียนรู้เวลาไหนก็ได้ที่ต้องการผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเรียนรู้ด้วยตัวเองบนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง LearnDi ของ AIS Academy ที่ได้บรรจุหลักสูตรการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการทำงานได้จริง ส่วนในเรื่องของการอบรมหรือพูดคุยแบบต่อหน้าเราก็ยังคงทำต่อ เพียงแต่ว่าช่วงนี้มีในเรื่องของการระบาดโควิด-19 เราจึงยังไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม

เรามีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกอยากและกระหายที่จะเรียนรู้ ที่เชื่อมกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เช่น มีการหาพื้นที่ให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ เพราะทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นตั้งใจ เขาต้องการเวทีแสดงออก คนเหล่านี้ก็จะมีใจที่รักในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และ ในการโปรโมทพนักงาน เมื่อก่อนเวลาที่จะประเมิน หัวหน้างานจะเป็นผู้ตัดสินทั้งหมด แต่ปัจจุบันจะมีรอบ Round Table ซึ่งก่อนที่จะมาถึงรอบนี้พนักงานก็จะต้องมีการเตรียมตัวมาก่อนด้วย เพราะไม่รู้แน่ชัดว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

 

“HR ต้องพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นความสำคัญของ

การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในองค์กร รวมถึงต้องพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน”

เพราะเสียงของผู้บริหารจะมีความสำคัญและมีน้ำหนักมากพอ ในขณะเดียวกัน HR เองก็ต้องพัฒนาตัวเอง Reskill , Up-skill, Cross-skill ไปด้วย เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า คุณสมบัติหนึ่งที่ HR ควร มีคือการที่เข้าใจในคน ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของ HR เองด้วยที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจของผู้บริหาร หรือเริ่มจากง่ายๆ เลยคือ ต้องกลับไปดูความสามารถของคนที่เป็น HR เองด้วยว่าเติมสิ่งที่เหล่านี้มากพอรึยัง

ดังนั้น HR ในยุคนี้ จำเป็นต้อง

  1. มีความเข้าใจเรื่องของทิศทางธุรกิจ
  2. มี Adaptability (การปรับตัว) เพราะว่าทุกวันนี้เราต้องทำงานบนความหลากหลายของ Generation มากขึ้น ซึ่งมีความคาดหวังไม่เหมือนกัน ตรงนี้ HR เองก็ต้องปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ HR Series เท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึงเรื่องของ Digital ต่างๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ความท้าทายของ HR ในยุคนี้คือ Comfort Zone ของตัวเอง”

ตรงนี้สำคัญสุด  เพราะว่ามันจะหยุดทุกอย่างไว้ทั้งหมด ที่นี่ Growth Mindset 70% มันมาจากความเป็นตัวของตัวเอง แต่สิ่งที่องค์กรทำให้ได้อีก 30% คือการสร้างบรรยากาศ ที่บอกว่าควรทำหรือควรเป็นแบบนี้ แล้วจะสามารถก้าวหน้าไปได้ และต้องอยู่ในพื้นฐานของการให้โอกาส

 

 

ที่มา : งานสัมมนา Productivity Trend Talk หัวข้อ How to Reskill, Upsskill & Cross-skill to Meet Modern Needs โดย  คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มบริษัท INTOUCH

 

 

สนใจหลักสูตรอบรม สำหรับสายงานทรัพยากรบุคคล คลิก!

 

 

 




Writer