9 September 2021

3 สถานศึกษาชั้นนำ ชูวิสัยทัศน์อันมุ่งมั่น
ยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยสู่สากลด้วยเกณฑ์ TQA

เพราะ ‘โรงเรียน’ คือ เบ้าหลอมสำคัญที่มีบทบาทในการหล่อหลอม ขัดเกลา ภายใต้เป้าหมายในการผลิตบุคลากรที่เปี่ยมด้วยศักยภาพสู่ตลาดแรงงานในอนาคต การพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีมาตรฐานด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งยกระดับระบบการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมสากล โดยได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘โครงการ Collaborative Assessment ความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ’ เพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงลึกขององค์กรในสังกัด สพฐ. ควบคู่กับยกระดับพัฒนาการ Maturity ขององค์กรให้มีความเป็นเลิศตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA)

3 โรงเรียนต้นแบบ กับวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนาองค์กรให้ไปไกลถึงระดับนานาชาติ

การจัดตั้งโครงการ Collaborative Assessment ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนชั้นนำ ในโครงการมาตรฐานสากลที่ผ่านการพัฒนา และประเมินตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Office of Basic Education Commission : OBECQA) จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภายในองค์กรตนเองให้เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่สถานศึกษาต่าง ๆ ในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล

โดยทั้ง 3 โรงเรียน จะมีเป้าหมายหรือมุมมองจากการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการครั้งนี้อย่างไร เรามาร่วมชื่นชมวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศจากผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนไปพร้อมกัน

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านวิชาการ ครอบคลุมด้วยหลักสูตรที่หลากหลาย พร้อมด้วยบุคลากรครูมืออาชีพ โดยนักเรียนที่จบการศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีผลลัพธ์การศึกษาต่อในคณะและมหาวิทยาลัยตามที่นักเรียนและผู้ปกครองคาดหวัง ทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) มาปรับใช้ในการบริหารจัดการ ทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง โดย นางวรรณดี นาคสุขปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้กล่าวถึง การดำเนินงาน และเป้าหมายที่สูงขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการนี้ไว้ว่า


การเข้าร่วมโครงการ Collaborative Assessment ความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากทั้งผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับ โดยเป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมกันทำงาน ตั้งแต่ผู้นำระดับสูง ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารโรงเรียน และครูทั้งโรงเรียน รวมทั้งพันธมิตร และผู้ส่งมอบโดยมีคณะทำงานที่มีศักยภาพ มีความคล่องตัว พร้อมดำเนินการตามตารางเวลาการทำงานที่กำหนดไว้ โรงเรียนมีความคาดหวังถึงประโยชน์ และการพัฒนาที่สำคัญจากการเข้าร่วมโครงการ คือ การทราบถึงผลลัพธ์ในด้านความเหมาะสมของการบริหารจัดการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และนำข้อเสนอแนะมาเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาโรงเรียนสู่ความยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบ และเป็นสถานศึกษารางวัลคุณภาพแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ ที่สามารถสร้างเครือข่ายการศึกษาได้ทั่วโลก

……………………..

อีกหนึ่งโรงเรียนชั้นนำอย่าง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการเติบโต และยกระดับมาตรฐานของโรงเรียนให้เทียบเท่ากับสากล โดยยังคงตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรอันแข็งแกร่ง ทั้งนี้ นายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ยังได้กล่าวถึงความคาดหวังในการต่อยอดองค์ความรู้ และการใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นกลไกขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศไว้ ดังนี้


โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมโครงการ Collaborative Assessment อย่างรอบด้าน เริ่มจากการสื่อสาร เพื่อสร้างองค์ความรู้ และความเข้าใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับ คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้อง ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง โดยหวังอย่างยิ่งว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จะสามารถยกระดับมาตรฐานองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ดังที่ตั้งใจ

……………………..

โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตการยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ คือ เป้าหมายหลักของโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบที่ได้รับคัดเลือกจาก สพฐ. ให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตมุ่งเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มุ่งเน้นสร้างค่านิยมให้บุคลากรในโรงเรียนได้แสดงแนวคิดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโรงเรียน พยายามออกแบบกระบวนการทำงานที่เห็นขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จ การเข้าร่วมโครงการ Collaborative Assessment ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้โรงเรียนมีแบบแผนในการพัฒนา และมีความหวังในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย ตามคำบอกเล่าของ นายวิลาศ  ปริญญานิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต


โรงเรียนมีความมุ่งมั่นในการเข้าร่วมโครงการ Collaborative Assessment ความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ โดยมีความต้องการที่จะบริหารจัดการองค์ประกอบทั้งหมดขององค์กรให้รวมเป็นหนึ่งเดียว สร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังเป็นการคว้าโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนสู่เวทีระดับชาติ และร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

……………………..

ที่ผ่านมา เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ถูกใช้เป็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคสาธารณสุข และสำหรับภาคการศึกษา การเริ่มต้นของทั้ง 3 โรงเรียนต้นแบบ จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนช่วยให้เรามองเห็นภาพแห่งอนาคตของการศึกษาไทยที่มีศักยภาพเทียบเท่านานาชาติ และเป็นความหวังในการพัฒนาประเทศให้มุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าที่เคยเป็น




Writer