21 April 2021

Start ธุรกิจ ให้ Strong ก่อน Scale  

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

จากกระแสซีรีส์ดังส่งท้ายปี 2020 “Startup” กับความยาว 16 ตอน ทางช่อง Netflix ทำให้ไม่ใช่แค่แฟนซีรีส์เกาหลีเท่านั้นที่ชื่นชอบ หากแต่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ หนุ่มใหญ่วัยทำงาน ผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจยุคเก่า (ที่กำลังได้รับผลกระทบจาก Disruption) และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ต่างติดตามรับชมและทำความเข้าใจไปกับเรื่องราวของธุรกิจที่เริ่มต้นจากคนไม่กี่คนแต่มีแนวคิดที่แหวกแนวทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต (Tech. Startup) ที่สำคัญต้องทำได้จริงและพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นถึงศักยภาพและความสามารถว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โตเร็ว และขยายขอบเขตการบริการไปได้อย่างกว้างไกลไร้ข้อจำกัด

ภาพจาก : https://www.netflix.com/th/title/81290293

เรื่องราวของซีรีส์ดังกล่าวถือว่าสร้างมาได้สอดรับกับยุคสมัย ใส่ความโรแมนติกน่ารักตามประสาของซีรีส์วัยรุ่น เติมเต็มด้วยความฝันของคนรุ่นใหม่ และแทรกมุกตลกคอมเมดี้ตามสไตล์เกาหลีได้อย่างลงตัวที่สุด ต้องถือว่าคัดตัวนักแสดงมาได้ดีสมบทบาทอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงนำฝ่ายหญิง ซูจี (แสดงเป็น ซอดัลมี สาวน้อยที่มีชีวิตเศร้าในวัยเด็กจากการเสียชีวิตของพ่อ แต่มีความรักความผูกพันและเชื่อมั่นในคำสอนของพ่อ จนเปลี่ยนแปลงเป็นพลังและความฝันที่จะต้องทำให้ได้ในที่สุด) นักแสดงนำฝ่ายชาย นัมจูฮยอก (แสดงเป็น นัมโดซาล เด็กอัจฉริยะเหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิค แต่มีความฝันที่จะก่อตั้งธุรกิจเทคโนโลยี ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาอีก 2 คน ในชื่อบริษัท ซัมซานเทค)

โดยเดินเรื่องผ่านสถานที่สำคัญในชื่อ Sandbox (หมายถึง ลานทราย ที่เป็นพื้นที่สนามเด็กเล่น ให้ได้กระโดดโลดเต้น ลองผิดลองถูก โดยไม่ต้องกลัวล้มกลัวเจ็บ และมีความปลอดภัยมากพอ) ที่นี่คือแหล่งคัดสรรคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มาพร้อมกับคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับการก่อตั้งธุรกิจเทคโนโลยี เป็นที่บ่มเพาะให้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ให้มีโอกาสได้พบเจอนักลงทุน และช่วยเร่งธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตไปในวงกว้าง กิจกรรมคัดสรรตัวจริงเสียงจริงในเรื่องคือเวทีแข่งขันที่เรียกว่า Hackathon (ซึ่งมาจากคำว่า Hack หรือ Hacker กับคำว่า Marathon การแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อระดมความคิด หาความร่วมมือในการหาทางออกด้วย solution ตามโจทย์ภายในกรอบเวลาที่กำหนด) โดยไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องทางเทคนิค (ความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อแก้ปัญหาหรือสรรสร้างสิ่งใหม่เท่านั้น) หากแต่นำไปสู่การจัดทีมเพื่อจำลองเป็นธุรกิจขึ้นมา โดยมี CEO ดูแลด้านธุรกิจและการเงิน และ CTO ดูแลด้านการพัฒนาทางเทคนิค ทีมที่ผ่านการคัดสรรในรอบแรก จะมีโค้ชหรือที่ปรึกษาในการช่วยให้คำแนะนำในการสร้างธุรกิจ ซึ่งคราวนี้แหละจะต้องพัฒนามุมมองให้ครอบคลุมไปถึงโมเดลทางธุรกิจและการสร้างผลตอบแทนด้วย

ภายในเรื่องยังพาผู้ชมไปทำความรู้จักกับศัพท์ทางเทคนิคอีกหลายคำ ทุกคำเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจ (founder) ต้องการรู้เกี่ยวกับการร่วมลงทุนแต่มักกลัวที่จะถาม แม้ว่าจะไม่รู้ว่าความหมายคืออะไร อาทิ Term Sheet? Accelerators? Shareholder? คุณจะใช้หรือแสวงหาองค์กรร่วมทุนเมื่อใด ทั้งหมดของคำถามดังกล่าวเป็นหัวข้อที่แปลกใหม่มาก

เมื่อเรื่องทางเทคนิคจบสิ้นและเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายผู้ก่อตั้ง และฝ่ายผู้ลงทุน) สิ่งที่ต้องเจาะลึกลงไปจากส่วนที่เริ่มต้นไว้คือ Term Sheet เป็นองค์ประกอบแรกที่สำคัญสำหรับการร่วมลงทุน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง อาจแบ่งมันออกเป็น 4 ส่วนด้วยกันคือ ภาพรวม ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ(แสดงส่วนที่เกี่ยวกับเงินทุน และรายการทางการเงินต่าง ๆ) ประเด็นเกี่ยวกับการควบคุม (อธิบายว่า VC จะเข้ามาควบคุม หรือมีส่วนร่วมกับเจ้าของกิจการได้อย่างไร รูปแบบคณะกรรมการ บทบัญญัติของการเปลี่ยนแปลงและการป้องกัน) และอื่น ๆ ส่วนที่เหลือทั้งหมดในแง่กฎหมายและการเงิน

ภาพจาก : https://www.netflix.com/th/title/81290293

เนื้อเรื่องยังได้สอดแทรกกระบวนการที่น่าสนใจเป็นระยะ อาทิ กองทุนร่วมลงทุนทำงานอย่างไร เทคนิควิธีการเจรจาต่อรอง การหาแหล่งเงินทุนอย่างถูกต้อง และระดับขั้นของการลงทุนผ่าน VC โดยให้เห็นทั้งในแง่ของการตัดสินใจที่ผลีผามและผิดพลาดจากความที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอในครั้งแรก จนทำให้พระเอกและนางเอกของเรื่องต้องแยกทางกันพร้อมกับปิดบริษัทซัมซานเทคไปในที่สุด จนถึงการเจรจาการลงทุนครั้งที่สองที่ทำให้ทั้งพระเอก(ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างเต็มเปี่ยมจากซิลิคอนแวลลีย์) และนางเอก​(ซึ่งตอนหลังเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมบริหารของบริษัทพี่สาว) สามารถพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับได้สำเร็จ และทำให้เกิดการลงทุนครั้งที่สามที่จะทำให้บริษัทเติบใหญ่ก้าวไกลได้มากขึ้น ด้วยการรับข้อเสนอการลงทุนจาก SH Venture Capital ที่มีพระรองรับบทโดย คิมซอนโฮ (แสดงเป็น ฮันจีพยอง เด็กหนุ่มกำพร้า แต่มีหัวธุรกิจและการลงทุนจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมวางแผนการลงทุน)

….

ระดับขั้นของการลงทุนในสตาร์ทอัพ (from Idea to IPO) จะแบ่งออกเป็นรอบๆตามลำดับขั้นของการเติบโตของธุรกิจ โดยเริ่มจาก Seed round (ระดับเงินลงทุนสูงถึง $2.2 million ตั้งแต่ 1 ล้านบาทจนถึง 66 ล้านบาท) เป็นขั้นของการหาทุนเพื่อออกผลิตภัณฑ์หรือทดลองสร้างตลาดเบื้องต้น เกิดขึ้นหลังจากที่ได้คิดค้นพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ (prototype) จนมีความสมบูรณ์มากพอที่จะต่อยอดไปสู่การเริ่มต้นธุรกิจจริง ในขั้นนี้ผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นมักจะเป็นนักลงทุนอิสระที่มีความสนใจในธุรกิจเทคโนโลยีที่เรียกว่า Angel Investor ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Incubator) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสานฝันไอเดียดีๆที่น่าสนใจจากนักพัฒนาหน้าใหม่ หรือในบางครั้งก็เชิญชวนผู้สนใจลงขันและตอบแทนด้วยการส่งสินค้าล็อตแรกเป็นการตอบแทนผ่านเว็บไซต์ funding portal หรือผู้ให้บริการระบบ Crowdfunding และเมื่อต้องการต่อยอดหรือขยายผลให้เป็นระบบธุรกิจจริงจังมากขึ้น จำเป็นต้องระดมเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อการเติบโตของธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ รับพนักงานเพิ่ม และขยายตลาด มักทำผ่านเวทีการนำเสนอผลงาน (pitching stage) โดยแบ่งเป็นรอบ อ้างอิงสถิติเมื่อปี 2020 จากเว็บไซต์ fundz.net ดังนี้

  • รอบซีรีส์เอ (Series A funding round) เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองกับตลาดอย่างแท้จริง ระดับเงินลงทุนสูงถึง $15.6 million (ตั้งแต่ 60 ล้านบาทจนถึง 460 ล้านบาท)
  • รอบซีรีส์บี (Series B funding round) เพื่อขยายธุรกิจและตลาดให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ระดับเงินลงทุนสูงถึง $33 million (ตั้งแต่ 500 ล้านบาทจนถึง 1 พันล้านบาท)
  • รอบซีรีส์ซี (Series C funding round) เพื่อมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศหรือขยายในระดับภูมิภาค ระดับเงินลงทุนสูงถึง $59 million (ตั้งแต่ 1 พันล้านบาทจนถึง 7 พันล้านบาท)

แน่นอนผู้ก่อตั้งธุรกิจทุกคนจำเป็นต้องมีเงินเพื่อเริ่มต้นและขยายธุรกิจของพวกเขา แต่คุณจะหามันมาได้อย่างไร กู้จากธนาคาร? ลงขันกับเพื่อน? หรือขอยืมเงินจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง? ใช่มันไม่ใช่แค่การสร้างนวัตกรรม ทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเจรจาหาทุน แหล่งเงินทุน ภาพรวมของกองทุนร่วมลงทุน ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง และหาเงินทุนมาได้อย่างไร เป็นการตั้งคำถามที่ดีสำหรับผู้ก่อตั้งธุรกิจ ซึ่งอาจจะไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน

 

 

ผู้เล่นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งธุรกิจใหม่ (Startups) เพื่อให้เข้าใจลักษณะสำคัญและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้อง อาทิ ผู้ประกอบการ (The Entrepreneur) ธุรกิจทุนร่วมลงทุน (The Venture Capitalist) กลุ่มนักลงทุนเฉพาะทาง (The Angel Investor) สมาคม (The Syndicate) นักกฎหมาย (The Lawyer) และพี่เลี้ยงทางธุรกิจ (The Mentor) โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเงินทุนนั้นไม่มีใครเข้าใจได้ดีมากเกินไปกว่าผู้ประกอบการ และผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพราะในช่วงแรกของการก่อตั้งธุรกิจใหม่นั้น ผู้ก่อตั้ง (Founder) ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิดในการทำธุรกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาทางเลือกต่างๆในหลายทาง เพื่อจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด นอกเหนือจากการระดมเงินจากแหล่งเดิมที่เรามักคุ้นชินกัน อาทิ ธนาคาร ครอบครัว และเพื่อน

ในปัจจุบันธุรกิจทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) กำลังกลายเป็นแหล่งทุนหลักที่กล่าวถึงกันมากสำหรับธุรกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย (startups) โดยมีแหล่งทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแตกแยกย่อยออกไป เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขและข้อจำกัดบางอย่างที่ดูเป็นทางการและยุ่งยากเกินไป อาทิ กลุ่มนักลงทุนเฉพาะ (Angel investors) หรือกลุ่มทุนไร้พรมแดน (Crowdfunding) เป็นผลให้การระดมทุนจากธุรกิจทุนร่วมลงทุนได้ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกมุมโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีนักสร้างสรรค์ธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมากอย่าง สหรัฐ และยุโรป แม้แต่ในตะวันออกกลางก็ตาม เมื่อผู้ก่อตั้งธุรกิจตัดสินใจที่จะใส่เกียร์เดินหน้าที่จะเข้าสู่ข้อตกลงการระดมทุน สิ่งแรกที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับมันอย่างเต็มที่คือ เงื่อนไขข้อตกลง (the Term Sheet) เอกสารสำคัญที่กำหนดโครงสร้างของการทำธุรกรรมการร่วมทุน กับแหล่งทุนที่จะมาสนับสนุนการก่อตั้งธุรกิจของเรา สิ่งที่อยากจะบอกผู้ก่อตั้งธุรกิจที่เดินสายขายไอเดียทางธุรกิจให้กับแหล่งทุนต่างๆ ว่า ไม่ต้องรีบร้อนตัดสินใจกับใครก่อน ควรจะนำเงื่อนไขข้อตกลงแต่ละที่มานั่งพิจารณาและเปรียบเทียบ ก่อนที่จะกลับมาทบทวนว่าจะร่วมทุนกับใครดีที่เรายังสามารถคงความเป็นธุรกิจตามแนวคิดดั้งเดิมได้อยู่

Term sheet

การเจรจาเพื่อหาเงื่อนไขข้อตกลงที่เหมาะสม (the Term Sheet) ซึ่งมีแนวคิดหลัก 2 ประการคือ ผลทางด้านเศรษฐกิจการลงทุน และผลการควบคุมให้กิจการเป็นไปตามที่กำหนด นอกจากนั้นยังมีประเด็นปลีกย่อยอื่น อาทิ การปันผล (Dividend) สิทธิการไถ่ถอน (Redemption Rights) เงื่อนไขบังคับก่อน (Condition Precedent to Financing) สิทธิในข้อมูลสารสนเทศ (Information Rights) สิทธิการจดทะเบียน (Registration Rights) สิทธิในการปฏิเสธในการซื้อหุ้นก่อน (Right of First Refusal) สิทธิในการออกเสียง (Voting Rights) การยับยั้งการขาย (Restriction on Sales) ข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Proprietary Information and Inventions Agreement) ข้อตกลงการขายร่วม (Co-Sale Agreement) กิจกรรมของผู้ก่อตั้ง (Founders’ Activities) การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (Initial Public Offering Shares Purchase) เป็นต้น

….

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี การเตรียมพร้อมให้เข้าใจในประเด็นทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน การจัดการองค์กร และกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ไม่ควรจะละเลย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาผู้รู้เข้ามาช่วยคิดพิจารณา เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

….

 

หล้กสูตรอบรมออนไลน์ สถาบันเพิ่ม

 

 

 

 




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร