17 February 2021

การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ (Industrial Paradigm Shifts)
Servant Leader ในยามวิกฤต (ตอนที่ 1)

โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล
[email protected]

ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้บรรยายถึง กรอบความคิดในการบริหารอุตสาหกรรม ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (Industrial Paradigm Shift) สี่ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ Mass Customization, Speed (to market) with Accuracy, Connectivity & Digitization, และ Zero Incident is Attainable เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรม ได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ในตอนนี้ ขอกล่าวถึงภาวะผู้นำแบบ Servant Leadership ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบริหารธุรกิจในยามวิกฤต ซึ่งในระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมา มนุษยชาติต้องเผชิญกับความท้าทายร้ายแรง แบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในรอบร้อยปี นั่นก็คือการระบาดของ Covid19 ซึ่งนอกจากจะเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพแล้ว ก็ยังมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และธุรกิจในทุกๆ ด้าน กล่าวได้ว่า Covid19 คือตัวเร่งปฏิกิริยาให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เพื่อความอยู่รอด และเตรียมตัวสู่วิถี New Normal ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในขณะนี้ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ชัดๆว่า New Normal ที่ว่า จะมีสภาพการณ์อย่างไร

 

 

 

 

 

ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ ในฐานะผู้นำองค์กรและผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องบริหาร แนะนำ และช่วยเหลือประคับประคอง พนักงานทั้งองค์กร ให้ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ เพื่อความสำเร็จขององค์กร และทีมงาน โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึง Servant Leadership ในด้านต่างๆ ดังนี้

ประการแรก: Servant Leadership (ผู้นำที่มีสำนึกแห่งการรับใช้และให้บริการ)

สร้างมาจากค่านิยมพื้นฐาน คือ Trust (ความไว้วางใจ) และ Mutual Respect (ความนับถือซึ่งกันและกัน)
โดยมีคุณลักษณะที่เด่นชัด ดังนี้

1. เป็นผู้ฟังที่ดี Seek first to understand, then to be understood!

2. เห็นอกเห็นใจ (Empathy) เอาใจใส่ และเอาใจเขา มาใส่ใจเรา

3. ช่วยรักษาเยียวยาจิตใจ (Healing) และรวมถึงการช่วยเสริมสร้างทัศนะคติที่เป็นบวก และสร้างสรรค์: ในการนี้ผู้นำที่ดี ต้องช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพจิต มีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และทำให้ทีมงาน รู้สึกว่าเป็นสมาชิกที่มีค่าของทีม

4. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self- Awareness) ผู้นำต้องเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองและ ช่วยพนักงาน ให้เข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละคน และเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทีมได้ชัดเจนขึ้น

5. รู้จักที่จะโน้มน้าวจิตใจ (Persuasion) ผู้นำผู้รับใช้ ควรมีทักษะในการโน้มน้าวใจเพื่อสร้างฉันทามติ และซื้อใจทีมงาน และทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนได้ส่วนเสีย กับความสำเร็จของทีม

6. การกำหนดแนวความคิด (Conceptualization) ผู้นำต้องช่วยวางกรอบการทำงาน ให้ทีมงานเข้าใจ จุดประสงค์ขององค์กร แผนการที่จะบรรลุจุดประสงค์ และเชื่อมโยงได้ถึงเป้าหมายส่วนบุคคล

7. มองการณ์ไกล (Foresight) ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นผู้นำผู้รับใช้คือการใช้ความรู้ที่คุณได้เรียนรู้ในอดีตและนำไปใช้กับอนาคตเพื่อให้คุณและทีมของคุณเติบโตต่อไปได้

8. หมั่นคอยติดตามงาน (Stewardship) เพื่อจะช่วยเหลือสนับสนุน ทีมงาน ได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงที

9. ความมุ่งมั่นพัฒนาคน (Commitment to the growth of people) หากต้องการให้ทีมงานเติบโต ก็ต้องลงทุนกับบุคลากร Invest in People

10. การสร้างชุมชน (Building community) สร้างทีมที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันเพื่อทำงานให้สำเร็จลุล่วงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการบริหารงานแบบระยะไกล remote management เช่นในภาวะโรคระบาด และ work from home ความสัมพันธ์และไว้เนื้อเชื่อใจ ภายในทีมงานจึงมีความสำคัญยิ่ง

ประการที่สอง: ช่วยทีมงานให้ก้าวผ่าน Phases of Change

Servant Leaders ควรจะเข้าใจ จิตวิทยาพื้นฐานเกี่ยวกับ ความรู้สึก และพฤติกรรมมนุษย์ เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการปรับโครงสร้างองค์กร พนักงานมักจะวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตไปต่างๆนานา ดังนั้นผู้นำองค์กร จึงควรเข้าใจ ลำดับขั้นตอนของพฤติกรรม (Phases of Change) และวิธีการรับมือ เยียวยาพนักงาน ในช่วงเวลาอันเปราะบาง และละเอียดอ่อน

ในการนี้ ขออ้างอิงแนวคิดของ Kubler-Ross และ Dennis Jaffe & Cynthia Scott ตามโมเดลด้านล่าง กล่าวคือ คนส่วนใหญ่ เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง (ที่ไม่เต็มใจนัก) มักจะมีแนวโน้มพฤติกรรม และความรู้สึกตามลำดับต่างๆ คือ ในช่วงแรก มักจะไม่ยอมรับ, ต่อต้าน, จากนั้น จึงเริ่มที่จะสำรวจ ว่าการเปลี่ยนแปลงใหม่ เป็นอย่างไร และปรับสู่ new comfort zone โดยยอมรับสิ่งใหม่ ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็แล้วแต่ พนักงานจะปรับเปลี่ยนไปตามขั้นตอนเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที (moving along the curve) ก็ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำ คำปรึกษาที่เหมาะสม จากผู้บังคับบัญชา โดยหลักการให้คำปรึกษา เยียวยาในแต่ละขั้นตอนนี้ สามารถศึกษาได้จากตารางด้านล่าง  อนึ่ง ควรเข้าใจด้วยว่า พนังงานแต่ละคน อาจจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต่อต้านเลย ในขณะที่ บางคนอาจจะต่อต้าน จนกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหดหู่ ถดถอยก็เป็นได้ ดังนั้น ในหลายองค์กร จึงมีบริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือทั้งตัวพนักงานเอง และผู้บังคับบัญชา


 

 

 

 

 

ส่งท้ายบทความ: โปรดติดตาม Servant Leader ในยามวิกฤต ตอนจบ ซึ่งในบทความฉบับต่อไปนั้น จะได้กล่าวถึง Servant Leader ในอีกสามประการสำคัญ ได้แก่ หลักการ ABC (ทัศนะคติ, ความเชื่อ และ ความมุ่งมั่น พันธสัญญา), ปิรามิดองค์กรแบบกลับหัว และ Coaching ให้ทีมงาน ในช่วงการเปลี่ยนแปลง

อ่านบทความ Servant Leader ในยามวิกฤต ตอนจบ

ได้ที่  https://www.ftpi.or.th/2021/49877 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง / เพื่อศึกษาเพิ่มเติม
: Servant Leadership: THE GREENLEAF CENTER FOR SERVANT LEADERSHIP, Robert K. Greenleaf
: The change journey simplified: adapted from Kubler-Ross by Dennis Jaffe & Cynthia Scott
: The inverted pyramid model: Trig.com, Tyler Hagler
: Coaching & Mentoring: Kent State University’s article.

หลักสูตรแนะนำ

หล้กสูตรอบรมออนไลน์ สถาบันเพิ่ม




Writer

โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล

Executive Coach & Consultant /Experienced Regional Supply Chain GM /Board of Directors