6 January 2021

TESLA คุณค่า และ ระบบ Lean

โดย คุณกฤชชัย อนรรฆมณี
Lean and Productivity Consultant / Trainer

TESLA แซง TOYOTA ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์ มูลค่ามากสุดในโลก’

เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีข่าวฮือฮา เมื่อราคาหุ้นของ TESLA ในตลาด NASDAQ นครนิวยอร์ก พุ่งทะยานกลายเป็นบริษัทที่มี มูลค่าจากตลาดหลักทรัพย์ มากที่สุดในโลก แซงหน้าโตโยต้าซึ่งครองอันดับหนึ่งมานาน มูลค่าบริษัทฯ ที่คำนวณจากราคาหุ้นคือ 1.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณได้ถึง 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศไทย โดยหลักการแล้ว ราคาหุ้นจากนักลงทุน มาจากการคาดการณ์ผลประกอบการณ์ธุรกิจในอนาคต ดังนั้นมูลค่าบริษัทย่อมสะท้อนถึง “คุณค่า (Value)” ขององค์กรในมุมมองของตลาดด้วย

ผมจะหยิบแง่มุมนี้มาเป็นกรณีศึกษา ถึงความหมายของคุณค่ากับแนวคิดระบบ Lean ที่สามารถ ขยายขอบเขตเพิ่มเติม จากที่เราคุ้นเคยครับ

หลักการของ Lean

หลักการ 5 ข้อ ที่แพร่หลาย อ้างอิงจากหนังสือ Lean Thinking  โดย Womack & Jones 

กิจกรรมใดที่ไม่สร้างคุณค่าตามมุมมองของลูกค้า เปรียบได้กับไขมันที่เกาะติดกระบวนการอยู่เป็น ความสูญเสีย ที่ควรขจัดทิ้ง เพื่อให้องค์กรใช้ทรัพยากรไปกับ การสร้างความพึงพอใจกับลูกค้าเท่านั้น ความสูญเสียถูกระบุให้เป็นรูปธรรม และเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ 7 Wastes จากความสูญเสียในภาคการผลิต มีการขยายไปยังความสูญเสียภาคบริการด้วย

ดังนั้นกระบวนการ Lean ในอุดมคตินั้น เกิดขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าเท่านั้น ด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้คุณภาพตามที่กำหนด เกิดการไหลอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ส่งมอบสินค้าและบริการตามที่ลูกค้าต้องการ และกิจกรรมทั้งหมดมีความใส่ใจพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง

หลักการเช่นนี้ ครอบคลุมได้ทั้งกระบวนการในมิติ ภาคการผลิด/ภาคบริการ และมิติ กายภาพ (Physical)/ข้อมูลข่าวสาร (Information) โดยทั่วไปมักพิจารณาสินค้าและบริการในปัจจุบันเป็นหลัก

คุณภาพของรถ TESLA

J.D. Power องค์กรวิจัยชื่อดังในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาคุณภาพรถยนต์ (J.D. Power 2020 Initial Quality Study) กลางปีนี้ โดยสำรวจจาก ความคิดเห็นของลูกค้า ที่ซื้อรถยนต์ 90 วันแรก ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ตัวชี้วัด ที่ใช้ในการจัดอันดับคือ จำนวนปัญหาต่อรถ 100 คัน (Problems per 100 vehicles หรือ PP100) ตัวเลขยิ่งมาก แสดงว่า ลูกค้ารู้สึกว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมามีปัญหาคุณภาพมาก ข้อมูล PP100 ของ Tesla สวนทาง กับข่าวการเป็นบริษัทมูลค่าอันดับหนึ่ง คือแทนที่จะเป็นรถยนต์ที่มีปัญหาน้อย กลับมีปัญหาด้านคุณภาพมากที่สุด!

จากข้อมูลเปรียบเทียบค่า PP100 จากรถยนต์กว่า 30 ยี่ห้อ Tesla ได้อันดับ รั้งท้าย ที่ 250 โดยค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 166 ปัญหาที่พบ เช่น งานสีและการประกอบที่ไม่ได้คุณภาพ อาการสั่นของรถ เมื่อลองพิจารณาตัวเลขเปรียบเทียบผลประกอบการธุรกิจแล้วพบว่า ห่างไกลจากโตโยต้ามาก ในปี 2019 ยอดขายคือ 3.7 แสนคัน และ 10.7 ล้านคัน ต่างกันเกือบ 30 เท่า รายได้คือ 7.8 แสนล้านบาท และ 8.7 ล้านล้านบาท ต่างกัน 11 เท่า! 

เหตุใดองค์กรที่มียอดขายและรายได้ต่างกับอันดับหนึ่งเป็นสิบเท่า คุณภาพผลิตภัณฑ์ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก แต่กลับมีคุณค่ามากที่สุด หากมองด้วยมุมของมูลค่าจากตลาดหุ้น?

คุณค่าและระบบ Lean

บทวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า นักลงทุนประเมินมูลค่าของ TESLA เช่นเดียวกับบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี ที่คาดหวังการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตด้วย วิสัยทัศน์องค์กร และ นวัตกรรม

มีปัจจัยสนับสนุน เช่น ความเชื่อในทิศทางของโลกว่า รถมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ใช้น้ำมัน เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ประกอบกับกระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ธุรกิจยานยนต์ควรมีบทบาทสร้าง แก๊สเรือนกระจก น้อยลง และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ข้อหนึ่งคือ ความเชื่อถือ ของนักลงทุนที่มีต่อ CEO องค์กรคือ Elon Musk จากผลงานที่ได้สั่งสมมา พร้อมกับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่มีสีสัน ทำให้อยู่ในความสนใจของสาธารณะชนและกระแสข่าวมาโดยตลอด ความท้าทาย ต่อไปในอนาคตคือการรักษาสถานะนี้ไว้ ซึ่งจะเกิดได้เมื่อองค์กรสามารถทำให้ วิสัยทัศน์องค์กร และ ความคาดหวังของสาธารณะชน เกิดขึ้นจริง

จากเรื่องราวนี้ เราอาจเรียนรู้ได้ว่า การให้ความหมายคุณค่า (Value) ในระบบ Lean สามารถพิจารณาให้กว้างขึ้นได้ นอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว ยังสามารถยกระดับด้วยการเป็น ผู้สร้างทางออกเพื่อแก้ปัญหา (Solution) ให้กับลูกค้าทั้งปัจจุบันและอนาคต และเมื่อขยายขึ้นมากกว่ามุมมองทางธุรกิจ โลกปัจจุบันคาดหวังการดำรงอยู่ขององค์กร เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ดังนั้น ความเชื่อ, วิสัยทัศน์, ความรับผิดชอบต่อ ลูกค้า ชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสียอื่นขององค์กร กลายเป็นคุณค่าขององค์กรด้วยเช่นกัน

ในด้านโตโยต้าประธาน Akio Toyoda ประกาศทิศทางธุรกิจว่า องค์กรกำลังยกระดับจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไปเป็น Mobility Company เป็นผู้นำความเบิกบานและความอิสระในการเดินทางมาให้กับทุกคน (Bringing the joy and freedom of movement to all

วิวัฒนาการของแนวคิดระบบ Lean จากผลิตภาพและคุณภาพในโรงงาน จนขยายไปยังงานบริการ รวมถึงองค์กรภาครัฐ ยังต้องหมุนวงล้อการเรียนรู้และพัฒนา หนึ่งในนั้นคือการทำความเข้าใจกับ “คุณค่า” ที่ให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอื่นครับ

 

 




Writer

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี

Lean and Productivity Consultant