19 February 2020

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ครบรอบ 25 ปี จัดงานสัมมนานานาชาติยิ่งใหญ่ “International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success” เดินหน้าผลักดันยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ในทุกภาคส่วน ในการเพิ่มทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร ให้สามารถเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งการส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง พร้อมมุ่งสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืนและเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างเผชิญกับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาการติดอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Countries) มาเป็นเวลานาน ด้วยการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัด เช่น ขาดแคลนประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมที่เพียงพอที่จะเร่งให้อัตราการเติบโตของรายได้สูงเหมือนในอดีต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความสามารถและศักยภาพของประเทศ

ทั้งนี้แนวทางที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ คือ ต้องยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยการใช้ทรัพยากรรอบ ๆ ตัว อย่างคุ้มค่าและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ APO Productivity Database พบว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2513-2558) ล้วนแต่เกิดจากการบริโภคทรัพยากรและปัจจัยทุนต่าง ๆ เป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับผลิตภาพมากนัก    จึงส่งผลให้ผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity : TFP) ของประเทศเติบโตในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ดังนั้นทางออกของประเทศที่จะสามารถเอาชนะปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน        คือ การปฏิรูปการยกระดับผลิตภาพ (Transforming Productivity) ของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพใน

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และสร้างความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม ในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความชำนาญ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่              ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลักดันด้วยนวัตกรรม/S-Curve/New S-Curve และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

อย่างไรก็ดีกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการยกระดับผลิตภาพ รวมทั้งมุ่งมั่นในการส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีส่วนในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ     จึงได้มีการกำหนดเป้าการเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.2 ต่อปี ภายในปี 2565 โดยให้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) ซึ่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นับเป็นกลไกหลักที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมไทย

“ในโอกาสที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายที่เป็นกำลังสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม       ในการยกระดับผลิตภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดำเนินการมาครบ 25 ปี ในปีนี้ ผมขอให้สถาบันได้นำความรู้ความสามารถมาใช้ในการขับเคลื่อนและยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ในที่สุด” นายกอบชัย กล่าว

ดร. พานิช เหล่าศิริรัตน์  ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 ดร. พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานไปในทุกภาคส่วนไม่ได้เฉพาะแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่ยังครอบคลุมถึงภาคบริการ ภาครัฐ และ ภาคเกษตรแปรรูป เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วนของประเทศ และมีบทบาทหน้าที่ในการชี้นำ และยกระดับผลิตภาพขององค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนขององค์กรและประเทศ ภายใต้เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ได้กำหนดไว้ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 ซึ่งในมิติเศรษฐกิจ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” หมายถึง ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง อย่างไรก็ดีการพัฒนาประเทศในปัจจุบันเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งในเรื่องทรัพยากรและความท้าทายจากประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries) การเพิ่มผลิตภาพของประเทศจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญควบคู่ไปกับองค์ประกอบด้านอื่นๆในการนำพาประเทศไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

นอกจากนี้ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลจึงจำเป็นต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพราะความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการเพิ่มผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพต่าง ๆ อาทิ ลีน (Lean) ไคเซน (Kaizen) การวิเคราะห์ OEE และ Sig sigma เป็นต้น อย่างไรก็ดีในโอกาสที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติครบรอบ 25 ปี ในฐานะเป็นสถาบันแห่งชาติ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการชี้นำและยกระดับผลิตภาพขององค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนขององค์กรและประเทศ จึงได้จัดงานสัมมนานานาชาติ “International

Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success” ขึ้นโดยเป็นการนำเสนอมุมมองการขับเคลื่อนผลิตภาพใน 4 มิติ ที่จะเป็นรูปแบบเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ        ทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถเติบโตและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทัน ประกอบด้วย การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาองค์กร Industry Upgrading, Creativity & Innovation, Data Analytics and Digital Technology  และ High Skilled Workforce รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศที่จะให้มุมมองรอบด้านในเรื่องความสำคัญของผลิตภาพเพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร เสริมความรู้ด้านผลิตภาพให้สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ภาพบรรยากาศในงานวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Productivity ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทักษะแรงงานในอนาคต ทำอย่างไรให้รอด” โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Lean for Healthcare Service: A Success Case for Preterm Birth Reduction” โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ธราธิป โคละทัต ผู้จัดการ “โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย” ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพรบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ปาฐกถาพิเศษ “Productivity Movement for Future Transformation” โดย ดร.สันติ กนกธนาพร อดีตเลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย

ภาพบรรยากาศในงานวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

Dr. AKP Mochtan, Secretary-General, Asian Productivity Organization
สรุปเนื้อหาสำคัญของงานสัมมนาในวันแรก โดย ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
บรรยายพิเศษและเสวนา หัวข้อ “How Innovation leads organization to achieve transformational breakthroughs” โดย Mr. Moses Ma, Managing Partner, FutureLab Consulting

ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Driving Public and Private Sectors to Enhance Productivity and Transform for Future” โดย ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธาน สถาบันการสร้างชาติ Nation-Building Institute (NBI)
บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Digital Transformation” โดย Mr.Steven Landman, Founder and CEO, Kiu



Writer

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร