เมืองท่องเที่ยวแถวหน้ากำลังอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะตกอันดับ เพราะไม่ว่าจะเป็นเมืองแถวหน้าหรือแถวหลัง ทุกเมืองก็เผชิญหน้ากับปัญหาโลกร้อนไม่ต่างกัน
ถ้าถามถึงรายชื่อเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต่อเนื่องมาจนคุ้นหู ก็จะปรากฏชื่อเมืองในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ข้ามมาที่แคนาดา และจบลงที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภครองรับคุณภาพที่ดี และมีสิทธิเสรีภาพอย่างปราศจากข้อสงสัย
แต่เร็วๆ นี้ได้มีตัวชี้วัดที่เข้ามาจัดอันดับประเทศในประเด็นอื่นๆ นอกจาก GDP ที่คุ้นเคยกัน เริ่มจาก Human Development Index ของ UN ที่ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาและสาธารณสุขสำหรับประชาชนในประเทศนั้นๆ ตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยชรา ซึ่งจะนำไปรายงานไว้ใน World Happiness Report ในแต่ละปี เช่นเดียวกับ The Legatum Prosperity Index™ ที่เป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มประชากรที่ยากจน ซึ่งสะท้อนการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในประเทศ และ Social Progress Index ที่วัดระดับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการปฏิบัติ
แต่เมื่อโลกมีปัญหาที่รุนแรงกว่านั้น เพราะนับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในห่วงโซ่การผลิตก็ได้ใช้ทรัพยากรไปมากกว่าที่โลกจัดสรรไว้ให้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรไปทั่วโลก เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศทางซีกโลกเหนือที่มีการพัฒนามายาวนาน และประเทศซีกโลกใต้ที่กำลังพยายามก้าวให้ทัน
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Global Goal for Sustainable Development) ขององค์การสหประชาชาติ จึงกลายเป็นเสมือนตัวชี้วัดใหม่ที่โลกจับตามองว่า ในแต่ละประเทศมีการจัดการที่จริงจังและเข้มแข็งเพียงใด ตัวชี้วัดที่กล่าวมาข้างต้นกำลังได้รับการร้อยเรียงให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการลดปัญหาโลกร้อน ที่เป็นสภาวะวิกฤติ
การจัดการปัญหาโลกร้อนจึงทำให้การจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิม ประเทศที่ประกาศนโยบายลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติอย่างประเทศนอร์เวย์ จึงไต่อันดับขึ้นมาในสายตานักท่องเที่ยวซึ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย
แหล่งข้อมูล
เรียบเรียงจาก In the face of climate change, ranking states by prosperity invites disaster, Professor Henrietta Moore, The Guardian, 5 Dec 2018