คุณสุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมงานเสวนาหัวข้อ “ดัชนีชี้วัดระดับอุตสาหกรรม 4.0 และกระบวนการตรวจสอบ (Industry 4.0 Checkup)” จัดโดยสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีผู้ร่วมเสวนาอีก 2 ท่าน คือ คุณพิชาติ อังจันทร์เพ็ญ SCG MARS & Industry 4.0 จาก SCG และ Mr.Ralf Opierzynski, Head of Office Bangkok จาก Fraunhofer Institute และดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.ชานนินทร์ จูฉิม รองผู้อำนวยการสถาบันสหกิจศึกษาฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00-12.00 น. ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานนิทรรศการด้านอุตสาหกรรม 4.0 ของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน รวมถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศโดยผู้แทนจากภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน มาเตรียมความพร้อมเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
ในงานเสวนาดังกล่าว สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยคุณสุวรรณ ได้กล่าวแนะนำอุตสาหกรรมไทยในเรื่องการพัฒนาไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ว่า “สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาตินั้นทำหน้าที่เป็น implementator ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยก้าวเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน เราใช้การประเมินระดับศักยภาพ หรือ Maturity Assessment ซึ่งเป็นแนวคิดที่สถาบันพัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ด้วยการประเมินระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ จากนั้นนำผลการประเมินมากำหนดแผน ปรับปรุง ติดตาม และให้คำปรึกษาแนะนำ เราเน้นให้ผู้ประกอบการค่อยๆ พัฒนาไปตามระดับ Maturity “ ในขณะที่ ผู้บริหารจาก SCG มองเรื่อง “คน” เป็นปัจจัยสำคัญ คุณพิชาติ กล่าวว่า “เพื่อให้สามารถปิด gap ที่เราพบจากการทำดัชนีชี้วัดระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาคนให้มีวิธีคิด ให้สามารถคุมหรือใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การจะพัฒนาใคร เราต้องตั้งโจทย์ แล้วค่อยส่งคนไปพัฒนา ต้องโฟกัสให้ถูกเรื่อง ส่วน Mr.Ralf จาก Fraunhofer Institute กล่าวถึงการจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็น 4.0 ว่า “เมื่อพูดถึง 4.0 หลายองค์กรมักกลัวว่า จะต้องใช้เงินเยอะ คนไม่มีทักษะ คนไม่พอ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ การทำ 4.0 ไม่ใช่ปฏิวัติแบบทันที แต่เป็นการทำแบบมีวิวัฒนาการ มีระยะเวลาในการพัฒนา อาจจะ 5 ปี 10 ปี แต่ถ้าองค์กรคุณไม่เริ่มพัฒนาเลย อีก 10 ปี องค์กรคุณก็อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้ คุณต้องกำหนดวัตถุประสงค์องค์กรให้ชัด จัดลำดับความสำคัญ จัดแบ่งระยะในการพัฒนา เพราะ 4.0 ไม่ใช่หมายถึงเรื่อง technology เท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นอีกด้วย ทั้งเรื่องกระบวนการ ซอฟแวร์ เป็นต้น”