28 March 2018

ในช่วงเวลาที่เด็กหนุ่มสาวส่วนใหญ่กำลังคร่ำเคร่งกับการเรียนในห้องเรียน Silas Woods เด็กหนุ่มวัย 17 ปีผู้อาศัยอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งของรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา กำลังทำงานอยู่ใต้ท้องรถในอู่ซ่อมรถ Woods มีสถานะเป็นนักเรียนคนหนึ่งในระดับชั้นไฮสคูล การทำงานในอู่ซ่อมรถแห่งนี้ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้รับการนับเป็นชั่วโมงเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย

นี่คือแนวทางการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อรองรับงานในอนาคตซึ่งต้องการทักษะที่ลึกและกว้างกว่าเดิม ด้วยแนวทางการศึกษาที่เรียกกันว่า work-based learning

การขยายตัวของการศึกษาที่เรียกว่า work-based learning นี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประธานาธิบดี Donald Trump ที่ให้ภาคธุรกิจเอกชนสนับสนุนโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปทำงานจริง และนับเป็นส่วนหนึ่งของชั่วโมงเรียน เพื่อสร้างทักษะในการทำงานในอนาคตที่เคยเป็นปัญหาจากระบบการศึกษาไม่สามารถตอบสนองธุรกิจได้ตรงตามความต้องการ การอบรมพนักงานใหม่ที่มีทักษะเป็น 0 ต้องใช้ทั้งงบประมาณและระยะเวลาที่เป็นต้นทุนขององค์กรทั้งสิ้น

ที่ผ่านมามีโรงเรียนระดับมัธยมหลายแห่งในสหรัฐเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปทำงานเพื่อฝึกทักษะในระหว่างหลักสูตรตั้งแต่ปี 2007-2008 แต่ไม่ได้มีการนับเป็นชั่วโมงเรียน เด็กนักเรียนหลายคนพบว่าการได้ไปทำงานที่สนใจทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างชัดเจนว่าจะเลือกเรียนต่อสาขาวิชาใด หรือได้ค้นพบความสามารถที่แท้จริงของตนเอง

Caleb Eurich เรียนสาขาการเงินที่ Harwood โครงการ work-based learning เขาได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน ใน Montpelier ได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ การซื้อ-ขายหุ้นกู้ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำวันและมีส่วนร่วมในการทำเอกสารต่างๆ ซึ่ง Eurich นำไปนับเป็นชั่วโมงเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์ของเขาได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือการเปิดมุมมองทางด้านอาชีพในอนาคต ทำให้เขาตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่ Bowdoin College ในสาขาเศรษฐศาสตร์และการเงิน

นักเรียนระดับไฮสคูลกล่าวว่าประสบการณ์ทำงานในระหว่างเรียนทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป Anna White นักเรียนอีกคนหนึ่งของ Harwood ซึ่งเรียนในสาขาวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์ การได้ไปฝึกงาน 2 วันต่อสัปดาห์ที่ Creative Micro Systems ทำให้เธอหลงรักในงานเขียนโปรแกรมและตัดสินใจไปเรียนต่อทางด้านนี้ในระดับมหาวิทยาลัยแทนที่จะไปเรียนต่อด้านวิทยาศาตร์หรือคณิตศาตร์ตามที่เคยวางแผนไว้

ทักษะแรงงานกำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ประเทศที่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดีจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอันดับต้นของการก้าวไปสู่ Ind.4.0 จากรายงานของ World Economic Forum ด้านทุนมนุษย์ในปี 2016 ระบุว่าสวีเดน เยอรมนี สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีสัดส่วนแรงงานฝีมืออยู่ระหว่าง 43% ถึง 55% ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 14.4%

ในงานวิจัย “ช่องว่างทักษะ” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาช่องว่างทักษะรุนแรงเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเลือกมาให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง การผลิตลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตยานยนต์ เเละซอฟต์เเวร์ เป็นต้น

คณะผู้วิจัยได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขไว้ว่าต้องสร้างโมเดล 3 ประสาน ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องทำหน้าที่ประสานงานดึงเอาภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันคิดว่าต้องยกระดับหรือเพิ่มทักษะใดบ้าง

ซึ่งหมายความว่าการผูกขาดด้านการศึกษาของภาครัฐควรจะยกเลิกไปได้แล้ว เพราะท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคมีความต้องการทักษะแรงงานที่ต่างกัน หลักสูตรที่กำหนดจากหน่วยงานการศึกษาของภาครัฐจึงไม่สามารถตอบโจทย์นี้ และคือสาเหตุหลักของปัญหาทักษะแรงงานมายาวนาน

work-based learning การเรียนจากชีวิตทำงานจริง คงทำให้การสูญเปล่าที่ยาวนานของประเทศไทยดีขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

ข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.prachachat.net/csr-hr/news-103487

http://hechingerreport.org/one-state-students-ditching-classrooms-jobs/

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น