3 November 2017

“เริ่มต้นพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีนวัตกรรมได้อย่างไร” โจทย์ที่ได้รับเพื่อบรรยายให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้รับฟัง ในงานสัมนาผู้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 11 เนื่องจากคำว่านวัตกรรมมักทำให้คิดถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ การจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด การพัฒนาแอพพลิเคชั่นจองที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น จนดูเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก หากผู้ประกอบการเล็กๆ หรือชุมชนหนึ่งอยากนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของตนเองอย่างมีนวัตกรรม ทั้งๆที่ในความเป็นจริง การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มสีสัน และคุณค่าให้กับรูปแบบการท่องเที่ยวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมในด้านการท่องเที่ยว โดยหากรูปแบบการท่องเที่ยวยังคงเหมือนเดิม การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็เพียงช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย ดังนั้นการทำให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีนวัตกรรมจึงต้องเริ่มจาก การค้นหาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นแก่นของวิถีความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิต รวมถึงลักษณะการแสดงออกเฉพาะของสถานประกอบการนั้นๆ นำออกมาทำให้เกิดคุณค่าผ่านรูปแบบแปลกใหม่นำเสนอแก่นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม เช่น “นำพฤติกรรมการแชร์ในโลกออนไลน์ สู่การแบ่งปันในโลกแห่งความจริง” ด้วยการนำอัตลักษณ์ของชุมชนเกาะเกิด ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพผู้คนในชุมชน ความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายของวิถีริมน้ำ เป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้คนในชุมชนออนไลน์ เข้าหาบรรยากาศของความห่วงใย เอื้อเฟื้อแบ่งปันที่แท้จริง ซึ่งกำลังสูญหายไปจากสังคมเมือง โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่โหยหาบรรยากาศของบ้านใกล้เรือนเคียง และชีวิตริมน้ำ ทำให้มองเห็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเยี่ยมเยือน เรือนชาน แบบรวมญาติสนิท มิตรสหาย ได้มาอาศัยในชายคาเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องพบป่ะกันแต่ในกลุ่มไลน์หรือเฟสบุ๊ค ได้มาบอกเล่าเรื่องราว อย่างเป็นกันเองตามประสาเครือญาติ ทำให้เกิดสายใยเล็กๆ ของความผูกพัน

การนำอัตลักษณ์มาเป็นกรอบแนวคิดสร้างสรรค์รูปแบบการท่องเที่ยวให้แตกต่างจากเดิมต้องสามารถเชื่อมโยงอัตลักษณ์ให้ตอบความต้องการที่แท้จริงของนักท่องเที่ยว เช่น อัตลักษณ์ความรักของกลุ่มคนสามวัฒนธรรม ในชุมชนบ้านแหลมสัก ไปเชื่อมโยงกับความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ทั้งช่องหินรูปหัวใจ ภาพเขียนโบราณรูปคนคู่ วิถีท้องถิ่นที่ต้องจับมือร่วมกันทำ นาไปสู่การสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวในดินแดนแห่งรัก สำหรับคู่รัก เพื่อนรัก คนรัก หรือนักรัก มาเที่ยวตั้งแต่เริ่มค้นหาความรัก เมื่อรู้จักความรัก หรือเริ่มเข้าใจความรัก จนกระทั้งความรักสุกงอม หรือแม้แต่มีรักครั้งใหม่ รูปแบบสินค้าก็นำเสนอเป็นคู่ เป็นกลุ่มผูกความสัมพันธ์ หรือชุมชนตลาดน้ำวิถีพุทธคลองแดน ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดและการกระทำที่สะอาด บริสุทธิ์ ทั้งความห่วงใย อาทร จนนึกถึงบรรยากาศการอยู่ร่วมกันแบบพี่ป้าน้าอา ทำให้น่าจะได้ไปเยือน ยามต้องการความสงบ ปล่อยวางจากความวุ่นวายในเมือง ชะล้างความคิดให้สะอาดบริสุทธิ์ เติมน้ำใจที่เริ่มเหือดแห้งจากเอาตัวรอดในเมืองใหญ่ ด้วยการไปเป็นผู้ให้ด้วยใจอาสา

จะเห็นได้ว่า เพียงเปลี่ยนมุมมองอัตลักษณ์ เปลี่ยนวิธีคิดจากกรอบความเชื่อเดิมๆ ย่อมทำให้ได้รูปแบบการท่องเที่ยวซึ่งแปลกแตกต่าง ให้คุณค่าโดยไม่ทิ้งวิถีของการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา และพยายามรักษาคุณค่าของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ให้ยังคงอยู่อย่างมั่นคง จึงจะเป็นการสร้างนวัตกรรมท่องเที่ยวที่ไม่ทำลาย และมองข้ามความงดงามซึ่งมีอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้น อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศ ในยุค 4.0 อาจทำให้เราเข้าใจผิด ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอำนวยความสะดวกสบาย จนละเลยคุณค่าที่แท้จริงของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องได้เรียนรู้ สัมผัส ค้นหา ด้วยตัวเอง โดยคนในชุมชนก็ต้องไม่เผลอคล้อยตามไปกับกระแสจนหลงลืมตัวตนของตัวเอง ซึ่งเป็นความสวยงามที่ไม่อาจหาที่ใดเหมือนได้ แม้จะเป็นทะเลเหมือนกัน แต่เมื่อวิถีต่างกัน นั่นย่อมบ่งชี้ว่า ความพิเศษย่อมต่างกัน ซึ่งต้องถูกถ่ายทอดออกมาให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ ทำให้เขาซึมซับคุณค่าของอัตลักษณ์จนทุกคนจดจำ และต้องกลับมาเยี่ยมเยือนสถานที่ ซึ่งรอการค้นหาความท้าทายใหม่ๆ แค่ “กล้าที่จะคิดให้แตกต่าง”

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ