22 February 2017

กล้า

มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม “แคมป์พัฒนาผู้นำนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง” ด้วยรูปแบบเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ในฐานการเรียนรู้สี่เรื่องสำคัญ ได้แก่ Big Data, Core competency, Technology 4.0 และ Mega Trends โดยนักศึกษาต้องนำข้อมูลที่ได้รับในแต่ละฐานมาสร้างแนวคิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ให้แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบันและสามารถตอบสนองความต้องการลึกๆของลูกค้าทั้งในด้านรูปลักษณ์ องค์ประกอบ กระบวนการ หรือแม้แต่การบริหารจัดการ ซึ่งผลงานของหลายทีมสร้างความประหลาดใจในวิธีคิดและตื่นเต้นกับการนำเสนอให้เห็นประโยชน์การนำไปใช้จริงผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ

แต่ความน่าสนใจของรูปแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน “กล้า” ที่จะก้าวออกมายืนบน “ความจริง” ที่ต้องการ “การะบวนการคิด” วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือสร้างสรรค์ มุมมองใหม่จากข้อเท็จจริงที่ได้รับ หรือประยุกต์หลักการ ทฤษฎีได้อย่างเหมาะสม

กล้า” นำเสนอความคิดอย่างมีเหตุมีผลสู่สาธารณะ ด้วยความเชื่อมั่นจากความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต บูรณาการร่วมกับองค์ความรู้มากมายที่ร่ำเรียนมาในห้องสี่เหลี่ยม

กล้า” รับฟังความคิดเห็นของทีมงาน และสาธารณะทั้งที่เป็นข้อเสนอแนะ ติติง และสนับสนุน ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อให้เกิดเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งชัดเจน

กล้า” ที่จะมองต่าง จากคนอื่นๆ ด้วยข้อมูลที่ละเอียดหลากหลาย และประสบการณ์ที่แตกต่าง ทำให้การอภิปรายเกิดแนวคิดที่ออกนอกกรอบเรื่องราวที่คุ้นเคย

กล้า” ที่จะท้าทาย สมมุติฐาน หรือความเชื่อเดิมๆ ลบล้างความคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาจากภาพในจินตนาการ จนเกิดขึ้นได้จริง

และ “กล้า” แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างกัน ในมุมมองที่หลากหลาย และแตกต่าง ด้วยความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น

เมื่อมีความกล้าอย่างมีเหตุผล ก็ผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่น มุมานะ ที่จะทำให้ได้เป้าหมายดีที่สุดอย่างที่คาดหวัง ซึ่งเห็นจากการนั่งสร้างสรรค์ผลงานจนถึงตีสอง ตีสาม ของกลุ่มนักศึกษา จนอดคิดไม่ได้ว่า “พลังความกล้า” สามารถทำลายความเบื่อหน่าย ท้อถอย สิ้นหวัง จนหมดสิ้น และส่งเสริมให้เห็นพัฒนาการของหลายผลงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนจากความ “กล้า” คิดของคนหนึ่งคน สู่การ” กล้า” ระดมสมองของทีมงาน จนถึงการ “กล้า” เปิดรับความคิดเห็นของสารธารณะในที่สุด จากผลงานที่เริ่มจากคิดเล่นๆเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ค่อยๆเพิ่มพูนรายละเอียดและมุมมองสู่ความเป็นจริง และได้รับปรับแต่งจนกลายเป็นผลงานยอดนิยม

ความกล้า ไม่เพียงเกิดขึ้นเพื่อให้เราฮึกเหิมเท่านั้น ยังเป็นแรงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระตือรือร้นที่จะพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพียง “กล้าที่จะยืนขึ้นพร้อมปรบมือแสดงความชื่นชมเจ้าของผลงานด้วยความเต็มใจ” โดยไม่ลังเล ก็จะเป็นการสร้างกำลังใจมหาศาลให้กับเจ้าของผลงาน

อย่างไรก็ตามการจะกระตุ้นให้เกิดความกล้า ก็ต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ในแต่ละกิจกรรม จนสามารถผลักดันให้เกิดการแสดงออกอย่างชัดเจน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมอย่างแท้จริงตามความมุ่งหวังของผู้จัดกิจกรรม เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการบ่มเพาะผ่านโครงการในพระราชดำริ จน “กล้า” ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สามารถพึ่งพาตัวเองและครอบครัว อย่างมีความสุขในทุกวันของชีวิต โดยไม่ยึดติดกับแนวคิดบริโภคนิยมที่มุ่งเน้นสร้างฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงการเจริญเติบโต อย่างไม่ยั่งยืน เพราะมีองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้นแบบแห่งความ “กล้าหาญ” เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกพื้นที่ทุรกันดาร เพื่อทำให้ราษฎรมีชีวิตความอยู่เป็นดีขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนของพระองค์ยืนหยัดต่อสู้อุปสรรคต่างๆ อย่างขยันขันแข็ง และพระราชดำริของพระองค์ในหลายเรื่องได้แสดงให้เห็น ความกล้าหาญ ท้าทายสมมติฐานเดิมๆ ที่ไม่มีใครกล้าคิดว่าจะเป็นไปได้ ด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง ซึ่งผลลัพธ์จากความกล้าหาญของพระองค์ท่าน ได้สร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ อย่างยั่งยืน ดังนั้น ความกล้าอย่างมีเหตุผลจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและสังคม

ฉะนั้นหากตั้งต้นที่ กล้า ลงท้ายคงต้องพบ “ความสุข” เสมอ

ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ