29 July 2016

economic

            การเปลี่ยนมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ดีอย่างไร?                                หมุนเวียน

จากผลการศึกษาของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่จะช่วยสร้างประโยชน์และความยั่งยืนแก่องค์กร โดยเว็บไซต์ environmentalleader.com ได้เขียนถึงบทความเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้

ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตสินค้าสำหรับการบริโภค และจะถูกทิ้งไปเมื่อหมดประโยชน์หรือไม่มีความต้องการใช้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน และส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากรายงานของ World Economic Forum ในระหว่างปี 2002 และปี 2010 พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นกว่า 150%

Jenifer Gerholdt ผู้อำนวยการโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิหอการค้าสหรัฐอเมริกา รายงานว่า “หากเรายังคงดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการตามปกติ ทั้งบริษัทและสังคมจะต้องเผชิญกับภาวะความแปรปรวนที่รุนแรงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวนของราคา ภาวะเงินเฟ้อของสินค้าโภคภัณฑ์หลัก รวมถึงการขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่สำคัญ” สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานี้ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในการผลิตที่มาจากการนำสินค้ากลับมาใช้ซ้ำ (reuse) การนำสินค้าที่ใช้งานแล้วมาแปรสภาพให้มีคุณสมบัติการใช้งานเหมือนใหม่ (remanufacturing) หรือการนำขยะ/ของเสียกลับเข้ากระบวนการผลิตใหม่ (recycle) ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและขจัดความสูญเปล่า

เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มยอดขาย

หลายบริษัทได้มีการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Dell ที่ได้ร่วมมือกับมูลนิธิ Ellen MacArthur ริเริ่มการดำเนินงานแบบวงจรแบบปิด (closed loop) ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มองว่าการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเพียงแค่การลดสิ่งที่สูญเปล่า และปรับปรุงประสิทธิภาพให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังมองถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการเพิ่มยอดขายด้วย

อย่างกรณีของ Dell ที่มีการใช้ห่วงโซ่อุปทานแบบวงจรปิดในการรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งพบว่าบริษัทมีการรีไซเคิลพลาสติกแบบวงจรปิด (closed loop) แล้วถึง 4.2 ล้านปอนด์ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าใหม่ให้กับ Dell และกรณีของ Tetra Pak ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแพ็คเกจจิ้งสำหรับอาหาร เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ได้นำหลักการของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้ในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับนำมาใช้ในการผลิตแพ็คเกจจิ้ง และเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้มีการนำแพ็คเกจจิ้งกลับมาผลิตเป็นสินค้าทดแทนให้กับลูกค้าทั่วโลก

จากรายงานของหอการค้าสหรัฐฯ นำเสนอโดยมูลนิธิ Ellen MacArthur ได้แสดงตัวอย่างของวิธีการปฏิบัติที่ดีของบริษัทในการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าบริษัทเหล่านี้ทำอย่างไรจึงได้ประโยชน์จากการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาใช้

การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านเหรียญ

“การเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030” Gerholdt ได้กล่าวกับผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ทำให้หลายบริษัทได้เห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้สามารถรับมือกับความท้าทายซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การผลักดันประสิทธิภาพ ศักยภาพในการแข่งขัน และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาและการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

Nellie Cohen ผู้ประสานงานโครงการ Worn Wear ของแบรนด์ Patagonia ได้กล่าวว่าบริษัทถูกจดจำมาเป็นเวลานานในเรื่องของการใช้วัตถุดิบ, การผลิตและ การกำจัด ซึ่งบริษัทของเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเรายังคงทำงานหนัก และใช้ความพยายามอย่างมากในการหาวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อให้เพียงพอกับกำลังการผลิต นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทตัดสินใจหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เพราะถ้าหากยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิมต่อไป ท้ายที่สุดแล้วบริษัทก็จะพบกับเส้นทางหายนะ

การปิดวงจรธุรกิจ

Nichola Mundy วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัท Axion Consulting ได้กล่าวกับผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบธุรกิจให้เป็นแบบวงจรปิด โดยเศรษฐกิจจะยังสามารถเติบโตได้ขณะที่ปราศจากการเพิ่มต้นทุนในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้า รูปแบบธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ใช้การเช่าทรัพยากร ยอมให้มีการสืบหาที่มาของวัตถุดิบได้อย่างเต็มรูปแบบ และยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยการประหยัดการใช้ทรัพยากร”

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ Axion Consulting ได้ประกาศถึงความร่วมมือระหว่างบริษัท Philips ซึ่งเป็นผู้จัดหาระบบการถ่ายภาพทางการแพทย์และอุปกรณ์ในการรักษา และมูลนิธิ Ellen MacArthur ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหาว่าจะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากการเลือกใช้รูปแบบธุรกิจในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นกับอุปกรณ์การถ่ายภาพทางการแพทย์ และอุปกรณ์ในการอัลตร้าซาวด์ รวมถึงการเสนอถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้สามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างมหาศาล

โครงการนี้มีชื่อว่า “CircMed” ใช้เวลา 6 เดือน โดยมีผู้ร่วมทุนคือ UK’s innovation agency ได้เสนอการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาปรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในกลุ่มธุรกิจ Healthcare ของสหราชอาณาจักร การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจะมุ่งเน้นที่อุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์ รวมถึง MRI สแกนเนอร์ อุปกรณ์อัลตร้าซาวด์ CT สแกนเนอร์ อุปกรณ์ interventional X-ray และห้องผ่าตัดเคลื่อนที่

Mundy ได้กล่าวว่า โครงการนี้ต้องใช้ความพยายามสูง และจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มธุรกิจ Healthcare ของสหราชอาณาจักร เพื่อให้อนาคตมีความยั่งยืนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความสามารถในซื้ออุปกรณ์วินิจฉัยที่สำคัญของโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรด้วย

การเก็บรักษาวัตถุดิบไว้

การเก็บรักษาคุณภาพของวัตถุดิบหลักที่มีความสำคัญให้คงคุณภาพเดิมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัท เช่น Gallium ใน LCD สกรีน และวงจรรวม (IC) และ Beryllium ในเครื่อง CT สแกนเนอร์ และ Niobium ในตัวนำแม่เหล็ก และ Helium สำหรับเครื่อง MRI สแกนเนอร์ ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นกรณีของเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง แต่ในรายงานเรื่อง 2014 Towards the Circular Economy ของ World Economic Forum โดย Dominic Waughray ได้บอกถึงกำไรทางเศรษฐกิจจะรับรู้ได้จริงถ้าธุรกิจเป็นแบบ multiple business โดยมีผู้กำหนดนโยบาย ที่เน้นให้รูปแบบเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง ทั้งนี้รูปแบบธุรกิจจะมีขอบเขตที่กว้างมาก และเป็นธุรกิจที่เน้นความร่วมมือระหว่างกัน

ที่มา : http://www.environmentalleader.com/2015/11/19/the-profitable-shift-to-a-circular-economy/#ixzz3seZlWkUi




Writer

โดย ศิริพร เพชรคง

นักวิจัย ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ