3 May 2016

plus

ประวัติศาสตร์เอเชียในยุคศตวรรตที่ 18-19 ซึ่งอยู่ในช่วงจักรวรรดินิยมตะวันตกขยายอำนาจเข้ามาเพื่อแสวงหาวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม เป็นช่วงเวลาที่มีบทเรียนให้คนรุ่นหลังหลายประการ

ประการที่หนึ่งประวัติศาสตร์บอกเราเสมอว่าความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ อาณาจักรที่มีอารยธรรมที่แข็งแกร่ง มีอำนาจแผ่อาณาเขตไปกว้างไกลก็ถึงวันสูญเสีย และล่มสลายได้ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน เวียดนาม กัมพูชา พม่า ฯลฯ

ประการที่สอง ผลประโยชน์คือปัจจัยที่สร้างความซับซ้อนได้มากที่สุด แม้ว่าจักรวรรดินิยมจะเริ่มต้นที่ความต้องการขยายอำนาจของรัฐ แต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายวงไปสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐได้มากกว่า และผลประโยชน์นั่นเองที่ทำให้เกิดภาวะหนอนบ่อนไส้กัดกินตัวเองของบรรดาข้าราชการในอาณาจักรนั้น โดยการปิดบัง บิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองจนเกิดความเสียหายกับราชอาณาจักร

ประการที่สาม ความไม่รู้ และไม่ยอมเรียนรู้นำไปสู่ความประมาท ยะโส โอหัง จนเกิดความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง ราชวงศ์แมนจูของจีน ราชวงศ์คองบองของพม่าเป็นบทเรียนที่ดี

อันที่จริงบทเรียนทั้งสามประการก็คือธรรมชาติที่มนุษย์เราต้องเผชิญและมีอยู่ในตัวตน ถ้าหากหันมาตระหนักถึงความเป็นจริง ก็อาจพลิกด้านลบให้กลายเป็นบวกได้ไม่ยาก

Dan Gregory และ Kieran Flan นักวิจัยด้านพฤติกรรมและกลยุทธ์ ได้เขียนหนังสือชื่อ Selfish, Scared & Stupid เพื่อจะบอกผู้บริหารองค์กรว่าให้มองคนในองค์กรตามความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์มากว่าความสมบูรณ์แบบ เพื่อที่จะสร้างผลการดำเนินการที่ดีด้วยความผูกพันของคนในองค์กร

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเมื่อองค์กรต้องการสร้างผลดำเนินการที่ดี ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะที่เป็นเลิศของคนในองค์กร และพยายามหาวิธีการที่จะปั้นคนในองค์กรให้มีคุณสมบัติเหล่านั้น โดยมองข้ามความเป็นจริงที่เป็นตัวตนของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่

ผลดำเนินการที่ดีไม่ได้มาจากคนทำงานที่มีความรู้ ความสามารถเพียงอย่างเดียว สำคัญกว่านั้นคือการทำงานอย่างทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจด้วยความผูกพันหรือ Engagement ต่อองค์กร ซึ่ง Dan Gregory และ Kieran Flan มีความเห็นว่าถ้าผู้บริหารมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ควรจะนำสิ่งที่เป็นเสมือนด้านลบของคนมาแปลงให้เป็นพลังในเชิงบวกเสียจะได้ผลกว่าการคาดหวังในความสมบูรณ์แบบที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

ให้ยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัว ดังนั้นในการทำงานผู้บริหารต้องตอบให้ได้ว่า “ทำแล้วจะได้อะไร” แน่นอนว่าความต้องการของคนแต่ละคนนั้นไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้บริหารจึงต้องหาความต้องการในส่วนลึกของคนแต่ละประเภทในองค์กร แล้วหาทางตอบสนองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มนุษย์มีความกลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้เสมอ เมื่อเกิดความกลัวก็จะไม่กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นจึงต้องให้คนได้เรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้อย่างมีความสุขเหมือนกับการเล่นเกม มีความสนุก ตื่นเต้น เมื่อแพ้ก็อยากจะแก้มือ สามารถทำซ้ำๆ ได้ไม่เบื่อ การทำซ้ำๆ ในที่สุดจะกลายเป็นความเชี่ยวชาญ สามารถค้นพบแนวทางใหม่ๆ ได้ในที่สุด

สุดท้ายคือทุกคนชอบความง่าย สะดวกสบาย เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก็เพื่อจะตอบสนองในจุดนี้ของมนุษย์ ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน โจทย์ยากๆ อาจเป็นความท้าทายของคนบางคน แต่คนส่วนใหญ่จะถอยออกไป ผู้บริหารที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ ในองค์กร จึงควรวิเคราะห์และสังเคราะห์เลือกวิธีการที่เหมาะสม ง่ายต่อการดำเนินการก่อนจะนำลงไปสู่การปฏิบัติ

ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม บริการใหม่ๆ ที่ลูกค้าให้การยอมรับ ตอบสนองโจทย์สำคัญของการใช้ชีวิตนั้นคือความง่าย และสะดวกสบายทั้งสิ้น การคิดอย่างโง่ๆ จะกลายเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจทันทีเช่นกัน

การบริหารจัดการในความไม่แน่นอนของอนาคต ถ้าทำความเข้าใจในความเป็นจริงทางจิตวิทยาของมนุษย์ และจัดการอย่างถูกวิธี ก็จะกลายเป็นโอกาสมากกว่าที่จะปฏิเสธหรือมองข้ามไป

บทเรียนในประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำหรือกษัตริย์ที่นำอาณาจักรไปสู่การล่มสลาย มักจะหลงคิดไปว่าข้าราชบริพารที่แวดล้อมอยู่นั้น มีแต่ความจงรักภักดี ยอมอยู่ภายใต้อำนาจ ลืมไปว่าพวกเขาล้วนแต่เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความต้องการด้วยกันทุกคน ในขณะที่ตนเองก็ไม่เคยเปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยังขังตัวเองอยู่ในโลกทรรศน์ และความเชื่อเก่าๆ ไม่ได้เห็นโลกตามความเป็นจริง

ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจก็เช่นเดียวกัน Management by Fact ไม่ได้หมายความแค่การใช้ข้อมูลจริงในการบริหารจัดการ แต่ยังหมายรวมถึงความเข้าใจในความเป็นจริง ไม่ติดกับดักของความหลงผิด โดยเฉพาะกับดักของความสำเร็จในอดีต ยิ่งเข้าใจในด้านลบมากเท่าไร ก็ยิ่งง่ายต่อการจัดการมากเท่านั้น Dan Gregory และ Kieran Flan จึงนำเสนอมุมมองในการนำเอาแรงขับภายในจิตใจของมนุษย์มาสร้างให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยคำจำกัดความง่ายๆ ว่า “อย่าปฏิเสธมัน แต่จัดการมันซะ”

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น