12 April 2016

CSR_1

“ใบไม้ป่าร่วงแล้วได้เลี้ยงป่า ทิ้งลงมาเลี้ยงรากเลี้ยงลำต้น เหมือนแม่ให้นมลูกฝังปลูกจน ลูกเติบตนโตแทนเต็มแผ่นดิน”

เนาวรัตน์  พงศ์ไพบูลย์

ถึงแม้ว่าบทกวีใบไม้ป่าที่กวีรัตนโกสินทร์คือคุณเนาวรัตน์เขียนไว้นี้ ท่านไม่ได้สื่อความหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะท่านเขียนอุทิศให้นักคิด นักเขียนคนสำคัญของประชาชนคือจิตร ภูมิศักดิ์ แต่แนวคิดในการกลับคืนสู่ธรรมชาตินี้กำลังเป็นเรื่องที่ได้รับการขานรับในสังคมโลก ทั้งภาคสังคมและภาคธุรกิจ ซึ่งบทกวีนี้สะท้อนภาพแนวคิดนี้ได้ชัดเจนยิ่ง นั่นคือแนวทางที่ฝรั่งเรียกว่า “Cradle to Cradle”

Cradle ความหมายตรงๆ ก็คือ แหล่งกำเนิด  แนวคิดนี้จึงใช้กลวิธีของธรรมชาติ ในการนำสิ่งที่สิ้นสภาพการใช้งานกลับไปเป็นประโยชน์กับธรรมชาติได้ หรือกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยคุณภาพไม่สูญหายไป เจ้าของแนวคิดนี้คือ William  McDonough และ Dr. Michael  Braungart  นักออกแบบและนักเคมี ที่เขียนหนังสือชื่อ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things  เมื่อปี ค.ศ. 2002  ปัจจุบันได้ตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกและให้การรับรองในการประเมินวัสดุและกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์นี้

กรอบการประเมินของ Cradle to Cradle ประกอบด้วย 5 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถเป็นธาตุอาหารได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่เป็นขยะ หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สอง มีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง สาม มีการใช้พลังงานหมุนเวียน สี่ มีการใช้น้ำอย่างคำนึงถึงคุณค่า ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ห้า ต้องสร้างความเป็นธรรมต่อสังคมซึ่งหมายถึงทั้งในส่วนประชาคมและสิ่งแวดล้อม

จะเห็นว่าการนำเอาแนวคิดนี้มาปฏิบัติก็คือการต่อยอดจากแนวคิดธุรกิจสีเขียวที่ทำกันมามากกว่าสิบปี แต่ก็พบว่าองค์กรแต่ละแห่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่างกันออกไป  ซึ่งดังที่ได้กล่าวมาหลายครั้งในบทความก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเลย

กรอบของ Cradle to Cradle น่าจะมีส่วนช่วยให้แนวทางปฏิบัติมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งได้รับการขานรับจากผู้ผลิตแบรนด์ดังระดับโลก ได้แก่ Puma, H&M, Mark & Spencer และ DESSO ผู้ผลิตพรม เป็นต้น

Puma ได้เริ่มต้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดนี้เป็น 2 วงจรคือ ทางเทคนิคและทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยการใช้แนวคิดนี้ทางเทคนิคคือการใช้วัสดุหมุนเวียน เช่น การนำเอารองเท้าเก่าของ Puma มาทำเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ใช่รองเท้า  ส่วนการออกแบบทางชีวภาพคือ การใช้วัสดุที่สามารถนำไปเป็นปุ๋ยได้ ในปี ค.ศ. 2003  Puma ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ InCycle ซึ่งผลิตในระบบวงจรปิด เพื่อให้ของเสียในระหว่างกระบวนการผลิตสามารถนำมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นอกจากนั้น Puma ยังให้นโยบายนี้ไปปฏิบัติในองค์กรที่เป็นหุ้นส่วนธุรกิจด้วย

H&M และ Mark & Spencer ใช้วิธีการคล้ายๆ กันคือจัดทำโครงการรวบรวมเสื้อผ้าเก่าจะลูกค้าเพื่อนำมา Reuse ขายใหม่ โดยให้เครดิตคืนลูกค้าที่ร่วมโครงการนี้ ทำให้เสื้อผ้าเหล่านี้ไม่เป็นขยะในสถานที่ฝังกลบ Patagonia แบรนด์สินค้าสำหรับนักผจญภัย ทำโครงการรณรงค์ให้ผู้บริโภคงดซื้อสินค้าใหม่ แต่ให้นำผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่เดิมมาซ่อมด้วยตนเอง โดยให้คำแนะนำชี้แนะ และดูแลผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดเพื่อยืดอายุการใช้งาน

DESSO ก็ทำในแนวทางเดียวกันคือการนำพรมที่ใช้แล้วกลับคืนมาและนำเอาวัสดุกลับมาใช้ในการผลิตพรมใหม่

ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมไทยคงต้องหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปรับตัวให้ทัน ซึ่งแนวคิด Cradle to Cradle นี้คือหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่สิ่งที่ทุกองค์กรกำลังใฝ่หาอยู่ นั่นคือการสร้างความยั่งยืน ถ้าพิจารณาให้ดี แนวคิดนี้ก็คือการกลับสู่วิถีธรรมชาติ ซึ่งด้วยสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีอยู่ โจทย์นี้ไม่น่าจะยาก แค่ละทิ้งความมักง่ายมาแสวงหาความงอกงามเท่านั้นเอง

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก TTIS Textile Digest, Vol.23 September-October 2014

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น