24 November 2016

%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%90%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%99

ในการคิดปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงานจนถึงรูปแบบธุรกิจนั้น เราต้องเริ่มด้วยการลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนจากแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง คือไม่ชัดเจนในเหตุและผลของสิ่งที่ทำ บางคนจึงทำได้ไม่ดี เพราะไม่รู้ว่าต้องให้ความสนใจตรงไหน ต้องระมัดระวังอย่างไร แสดงให้เห็นว่า พื้นฐานทักษะความรู้ยังไม่แน่น ยังคลุมเครือ จึงไม่สามารถทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี น่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐาน แน่นอนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การจะทำให้ดีขึ้นก็เป็นไปได้ยาก หรือแม้จะพยายามทำให้ดีขึ้นได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

ตัวอย่างองค์กรจำนวนมากเลือกสร้างความก้าวหน้าให้ธุรกิจด้วยการนำแนวคิดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงองค์กรขนาดใหญ่ที่ได้รับการยอมรับ โดยไม่ได้คิดปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจทั้งในแนวทางปฏิบัติเดิม และความรู้ใหม่ๆ ทำให้แทนที่จะส่งผลให้องค์กรเติบโตต่อเนื่องอย่างที่คาดหวัง กลับยิ่งสร้างปัญหาต่างๆ เช่น การใช้งานอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือไม่เต็มประสิทธิภาพและไม่เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย เกิดความสูญเสียจากความเสียหายของเครื่องจักร ปริมาณของเสียเพิ่มขึ้นจากการทำงานที่ไม่ถูกต้องของพนักงาน หรือแม้แต่ความขัดแย้งจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของทีมงาน รวมถึงการขาดความมุ่งมั่นของบุคลากร เป็นต้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อรองรับการเติบโต โดยเฉพาะการจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลง องค์กรต้องวางแผนสร้างพื้นให้พร้อมทั้งด้านองค์ความรู้และสภาพจิตใจ

แนวคิดนี้ยังครอบคลุม การคิดสร้างธุรกิจแบบเร่งรัดที่กำลังได้รับการส่งเสริมจากรัฐ และการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่เน้นการเติบโตและขยายตัวแบบทวีคูณ หากผู้ประกอบการได้รับการวางรากฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทันสมัย สามารถประเมินสถานการณ์รอบด้านจนมองเห็นโอกาสอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงได้รับบ่มเพาะให้มีความมุ่งมั่น อดทนที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจได้อย่างดีและมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์คุณค่าให้กับทั้งตนเอง ทีมงาน ลูกค้า อยู่เสมอ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่จะค่อยๆเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่งคง และยั่งยืน

ซึ่งเราทั้งหลายได้รับการสั่งสอนแนวคิดนี้จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านแนวทางการดำเนินโครงการในพระราชดำริจำนวนมากที่มุ่งเน้นสร้างรากฐานที่แข็งแรงของประเทศเป็นอันดับแรก  เพราะเมื่อประเทศมี รากฐาน และพื้นฐาน ให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนก็จะมีความพร้อมอย่างแท้จริงในการที่จะพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ มีการดำเนินงานจัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือร่วมใจดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

หรือโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตรต่างๆ มีการดำเนินงานส่งเสริมให้ราษฎรมีจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ประชานในพื้นพี่เกิดความเข้าใจคุณประโยชน์ของการรักษาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขจนถึงรุ่นลูกหลาน

หรือโครงการพระราชดำริฝนหลวงที่มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ และทุกสภาพภูมิอากาศ

หรือโครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ที่มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้มีความรู้ความสามารถและ จริยธรรมทัดเทียมกันทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานคำสอนที่มุ่งเน้นเรื่องของการสร้างรากฐาน พื้นฐานที่แข็งแรงผ่าน พระราชดำรัสที่พระราชทานในวาระต่างๆ ดั่งเช่น พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖

“ต้องพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอาชีพไม่ใช่เพียงแต่ปลูกผัก ถั่ว งาให้หลานเฝ้า แต่เป็นเรื่องของความอยู่ดีกินดี ความรู้การศึกษาที่กล่าวว่า ต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น เพราะถ้าการศึกษาไม่ดี คนไม่สามารถทำงาน การศึกษาต้องได้ทุกระดับ ถ้าพูดถึงระดับสูง หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ถ้าไม่มีการเรียนขั้นประถม อนุบาล ไม่มีทางที่จะให้คนไทยขึ้นไปเรียนขั้นสูง หรือเรียนขั้นสูงไม่ดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ดี เพราะขั้นสูงนั้นต้องมีรากฐานจากขั้นต่ำ ถ้าไม่มีก็เรียนขั้นสูงไม่รู้เรื่อง”

หรือราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการสัมนาของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรม และจิตใจ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๖

“จิตใจและความประพฤติที่สะอาด และมีระเบียบเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตจิตใจทั้งความประพฤติ ดังนั้นใช่จะเกิดขึ้นเองได้ หากแต่จำเป็นต้องฝึกหัดอบรม และสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งเพื่อให้สามารถรักษาตัว และมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุขสงบ”

ด้วยคำสอนและแนวปฏิบัติที่พระองค์ทรงมอบให้นี้ คือเครื่องมือสำคัญที่จะนำเราทั้งหลายให้ไม่หลงไปกับการพัฒนาที่รวดเร็ว โดยไม่พิจารณาตัวเองให้เกิด “ความพร้อมอย่างแท้จริง

 

ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์ฺกรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ