29 September 2016

%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b8

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในหลายประเทศ ในขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลง ทำให้เกิดปัญหาในภาพรวมว่าประชากรวัยทำงานที่มีจำนวนน้อยกว่าต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับ สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน

การมองในมุมนี้ดูเหมือนว่าผู้สูงวัยจะสร้างภาระให้กับสังคมอย่างน่าวิตก แต่จากงานวิจัยของ McKinsey Global Institute (MGI) พบว่า ในระหว่างปื 2015-2030 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลก กลุ่มผู้สูงวัยนี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อรูปแบบการบริโภค และเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ตัวเลขของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 11 (ปี 2010) จากการที่มีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าในปี 2020 ตัวเลขผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 1 พันล้านคนและจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านคนในปี 2050

MGI ระบุในงานวิจัยว่ากลุ่มวัยเกษียณและผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มนี้มีการเติบโตจาก 164 ล้านคนในปี 2015 มาเป็น 222 ล้านคนในปี 2030 คิดเป็นจำนวน 51 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคในเมืองและ 19 เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตในกลุ่มผู้บริโภคของโลก ตัวอย่างกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่มีปริมาณเป็นจำนวนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของคนเมืองก็คือกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก และเอเซียตะวันออก (ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)

คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายต่อหัวมากกว่าคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ และยังพบว่าในสหรัฐอเมริกามากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ มีการบริโภคที่เติบโตในกลุ่มอสังหริมทรัพย์ การขนส่งและความบันเทิงด้วย

ในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะมีกำลังซื้อที่หลากหลายมากกว่าปัจจุบัน เพราะผู้สูงอายุจำนวนมากมีความมั่งคั่งที่ยังไม่มีใครมองเห็น และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความมั่งคั่งนี้ก็มีตัวเลขเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ปี 2011 ผู้สูงอายุจำนวน 2 ใน 3 ซื้อรถคนใหม่ และ 1 ใน 3 มีการใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้าน เนื่องจากแนวโน้มในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง จึงต้องมีการจัดการที่อยู่อาศัยให้มีความสะดวกสำหรับสภาวะที่เปลี่ยนไปตามวัย

World Health Organization วางกลยุทธ์สำคัญในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนึ่งในสองเรื่องก็คือ การที่จะให้ทุกประเทศดำเนินการในเรื่องสุขอนามัยของผู้สูงวัย โดยจะมีตัวชี้วัด ติดตามประเมินผลรวมถึงการวิจัย โดยให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในแนวทางการดำเนินการอย่างเท่าเทียมตามสิทธิมนุษยชน

งานวิจัยสาธารณสุขในประเทศอังกฤษระบุว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้มีการออกแบบใหม่ในเรื่องการดูแลสุขภาพใน 20 ปีข้างหน้า โดยที่บทบาทหลักไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลอีกต่อไป ส่วนหนึ่งก็คือความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ จากสื่อออนไลน์ต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ ธุรกิจด้านสุขภาพจึงต้องนำเสนอรูปแบบ ที่มุ่งเน้นในการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะ สร้างความสัมพันธ์ในการดูแลสุขภาพมากกว่าการรักษาพยาบาล โดยค้นหาความต้องการของลูกค้านำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบ

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าตลาดสินค้าประเภทเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นระบุว่าในทศวรรษหน้ามูลค่าของตลาดหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 1 พันล้านดอลล่าร์จากปัจจุบัน 140 ล้านดอลล่าร์ ในสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยระบุว่าจะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นรองรับกลุ่มผู้สูงอายุมีมูลค่า 292 ล้านดอลล่าร์ในปี 2020

แรงขับเคลื่อนอีกประเด็นหนึ่งก็คือความเป็นเมือง (Urbanization) ที่ขยายตัวขึ้นทั่วโลก คาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีคนเมืองรวมกันทั้งโลกอยู่ที่ 1500 ล้านคนและในปี พ.ศ. 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3000 ล้านคน โดยคาดว่าประชากร 7 ใน10 คนจะอาศัยอยู่ในเมือง เนื่องมาจากความเป็นเมืองนั้นนำสู่โอกาสใหม่ๆ โดยมีอิทธิพลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 80%

ความเป็นเมืองทำให้วิถีชีวิตครอบครัวเดี่ยวสูงขึ้น ผู้สูงอายุจะต้องช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อชีวิตวันเกษียณมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีเงินจับจ่ายสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งก็หมายถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจสำหรับรองรับคนกลุ่มนี้ ที่จะต้องหาความต้องการที่ชัดเจนเพื่อนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการต่อไป

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น