16 December 2015

social

ปัจจุบันโลกแห่งเทคโนโลยี ทำให้คนไกลติดต่อคนใกล้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสะดวก และรวดเร็วด้วย แม้ว่าปัจจุบันการติดต่อสื่อสารจะสะดวกขึ้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่มีผลกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังที่ Eleonora Patacchini ได้เขียนงานวิจัยใน World Economic Forum เรื่องระยะทางมีผลกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

หลายคนกล่าวไว้ว่า การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระยะทางหดสั้นลง  คนเราสามารถพูดคุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องพบหน้ากัน และด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ของโลกที่ไร้พรมแดน (Green and Ruhleder 1995, Farazmand 1999)

แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น..!  ตัวอย่างงานวิจัยของ Goldberg and Levy (2009) ที่ได้สำรวจการใช้งานของผู้ใช้ Facebook 100,000 คน พบว่า ปริมาณการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขากับผู้รับที่อาศัยอยู่ไกลๆ จะลดลง

Kaltenbrunner และคณะ (2012) ก็ได้ผลคล้ายๆ กัน จากการเก็บข้อมูลการใช้บริการส่งลิงค์และข้อความ ผ่านแอพพลิเคชั่น Tuenti ของสเปน โดยพบว่า ตำแหน่งที่อยู่ของคนจะส่งผลอย่างมากต่อการติดต่อกันในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ที่ใช้งานประจำมีแนวโน้มที่จะเลือกติดต่อกับคนที่อยู่ในระยะใกล้ๆ มากกว่า

การวิจัยเชิงทฤษฎี

หากจะทำความเข้าใจถึง หัวข้อ “ระยะทางมีผลกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไร” รายงานล่าสุดของ Picard และคณะ (2015) ได้พัฒนาตัวแบบทางทฤษฎี (Theoretical Model)  เพื่อศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและมีเครือข่ายทางสังคมในเขตเมือง  พบว่า แต่ละคนจะใช้ความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น เมื่อเห็นคุณค่าของการติดต่อนั้น  ซึ่งคุณค่าในที่นี้ หมายถึง ทุนทางสังคมของคนที่ติดต่อด้วย

“ทุนทางสังคม” (Social Capital) ได้รับการนิยามว่า คือ ความสัมพันธ์ในสังคมที่เข้มข้น กว้างขวาง ลึกซึ้ง มากกว่าการปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคลทั่วไป มีการสะสม เหนียวแน่นในเชิงสัมพันธภาพ ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

คนเราจะติดต่อสื่อสารกับคนอื่นมากน้อยแค่ไหนนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ปัจจัย คือ การเพิ่มทุนทางสังคม โดยอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับคนนั้นอย่างสม่ำเสมอ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนนั้น  การอาศัยอยู่ในศูนย์กลางของเครือข่ายจะช่วยเพิ่มทุนทางสังคมให้กับคนๆ นั้นด้วย   นอกจากนี้ผลลัพธ์จากงานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า

  • ต้นทุนในการเดินทางไปมาหาสู่ที่ต่ำ จะสามารถเพิ่มทุนทางสังคมให้กับทุกคน
  • ความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนสองคน จะเพิ่มขึ้นตามทุนทางสังคมระหว่างสองคนนั้น และลดลงตามความห่างไกลของระยะทางระหว่างกัน
  • เมืองที่มีการพักอาศัยกระจายตัวกันทางภูมิศาสตร์ จะมีทุนทางสังคมของคนในสังคมต่ำลง

การวิจัยเชิงประจักษ์

ในการทดสอบตัวแบบ (Model) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความลึกซึ้งของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทุนทางสังคมของกลุ่มตัวอย่าง และระยะทางระหว่างกัน โดยใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจเก็บข้อมูลระยะยาว ด้านสุขภาวะวัยรุ่น (AddHealth) พบว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะหาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับระยะทางระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะทางเศรษฐกิจสังคม โดยข้อมูล 3 แบบ จาก AddHealth ที่มีความเฉพาะและได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์นี้  คือ

  • ข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน และสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดการติดต่อที่แม่นยำยิ่งขึ้น
  • ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความลึกซึ้งของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างเพื่อนแต่ละคู่ในเครือข่าย
  • ข้อมูลสถานที่อยู่ของคนที่อนุญาตให้สามารถวัดระยะทาง ระหว่างเพื่อนแต่ละคู่

จากผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่อาศัยอยู่ไกลจากเพื่อนๆ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ต่ำ และนักเรียนที่อยู่ศูนย์กลางของเครือข่ายความสัมพันธ์ มีแนวโน้มจะมีทุนทางสังคมมากกว่านักเรียนที่ไกลออกไป ซึ่งหมายความว่าระยะทางมีส่วนในการขัดขวางการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า เพศและเชื้อชาติก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์อีกด้วย

ความเกี่ยวข้องเชิงนโยบาย

งานวิจัยนี้ ได้เสนอแนะเกี่ยวกับ การพัฒนาระบบการขนส่งในเมืองที่ดีสามารถทำให้ทุนทางสังคมของคนในเมืองดีขึ้น  เพราะจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน  นโยบายลักษณะนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับมุมมองที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสามารถส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมได้




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ