9 September 2015

 

STEEP_Thacharin

 

สิ่งต่างๆในโลกมีทั้งคุณและโทษ เปรียบเสมือนดาบสองคม เทคโนโลยีก็เช่นกัน แม้ว่าจะสร้างคุณให้กับมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน หากใช้อย่างขาดความระมัดระวังก็อาจกลายเป็นโทษได้ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเราเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ โอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆก็เพิ่มขึ้นด้วย Hilary Ledwell ได้เขียนบทความเกี่ยวกับความผิดพลาดในการใช้เทคโนโลยี “หุ่นยนต์” จากเหตุการณ์ที่หุ่นยนต์ตัวหนึ่งได้ฆ่าคนตายจนเป็นข่าวโด่งดังช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงงานโฟล์คสวาเกน ประเทศเยอรมนี..ที่ยังคงมีข้อสงสัยอยู่ว่า…ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ!

หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาติตะวันต่างตระหนักถึงการที่เครื่องจักรเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคน นักเศรษฐศาสตร์พยายามที่จะคาดการณ์ถึงปริมาณงานที่จะถูกแทนที่ แต่ก็ไม่สามารถทำนายอย่างมั่นใจได้ ซึ่งเป็นเหตุให้คนทำงานเกิดความกังวลต่อความมั่นคงในงาน แต่ดูเหมือนหุ่นยนต์ไม่เพียงแต่จะแย่งงานคนเท่านั้น เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่โรงงานโฟล์คสวาเกน ประเทศเยอรมนี หุ่นยนต์ตัวหนึ่งได้ฆ่าคนตายจนเป็นข่าวโด่งดัง..

หุ่นยนต์ตัวนี้อยู่ในกระบวนการประกอบรถยนต์ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่จำกัด มีหน้าที่จับชิ้นส่วนและประกอบเข้าในจุดที่ได้โปรแกรมไว้ล่วงหน้า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อทีมพนักงานติดตั้งระบบ ได้เข้าไปตั้งโปรแกรมการทำงานให้กับหุ่นยนต์ และพนักงานคนหนึ่งในทีม วัย 22 ปีถูกหุ่นยนต์ลากตัวของเขาอัดกระแทกกับแผ่นเหล็กจนเสียชีวิต

Heiko Hillwig โฆษกของโฟล์คสวาเกน แถลงว่า เป็นเรื่องความผิดพลาดของคนมากกว่าการทำงานของหุ่นยนต์ตามที่ได้มีการพูดถึงกันในโลกออนไลน์ ที่วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา จนหลายคนเกิดความกลัวถึงโลกอนาคต

มันอาจจะถึงเวลาแล้ว กับโลกของหุ่นยนต์..! จากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่พวกเราคุ้นเคยกัน ดูเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างมนุษย์จากเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิต และดูเหมือนว่าตอนนี้ เรายอมรับว่าเครื่องจักรเหล่านี้เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเราโดยไม่รู้ตัว สังเกตได้ว่าเมื่อเครื่องจักรทำงานให้เราผิดปกติ เราจะโกรธและตำหนิมัน

ในแง่มุมทางกฎหมายก็เป็นเรื่องซับซ้อน เนื่องจากไม่มีแนวทางการตัดสินในกรณีที่หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติจนเป็นสาเหตุให้คนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ยิ่งเทคโนโลยีเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์หรือโปรแกรมสามารถพัฒนาระบบการทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดจากการทำงานแล้วก็ยากที่จะหาผู้รับผิดชอบกับความผิดพลาดนั้น มีตัวอย่างหนึ่งที่ระบบแท็กภาพอัตโนมัติของ Google ได้แท็กชายผิวดำเป็นกอริลล่า ซึ่งความผิดพลาดนี้ก็ยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้

กรณีของโฟล์คสวาเกน ได้มีผู้เรียกร้องถึงการพิจารณาทางกฎหมายเพื่อหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งผลการตัดสินครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรมและส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานหุ่นยนต์ต่อไป ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ฟ้องร้องควรกล่าวโทษใคร ระหว่างเจ้าของธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของหุ่นยนต์ ผู้ออกแบบหุ่นยนต์ ผู้พัฒนาโปรแกรม หรือตัวหุ่นยนต์เอง ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องประหลาดที่จะฟ้องร้องหุ่นยนต์ แต่ถ้าหากจะให้เจ้าของธุรกิจต้องรับผิดชอบแทนหุ่นยนต์ทุกตัวในโรงงาน ก็ฟังดูไม่สมเหตุผลเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาได้วางมาตรการป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว

หากเทียบเคียงกับการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ คงมีคนจำนวนไม่มากที่กล่าวโทษบริษัทผลิตรถยนต์ หรือผู้ออกแบบ แต่โดยทั่วไปตามหลักสามัญสำนึกแล้ว คนส่วนมากก็จะกล่าวโทษผู้ขับขี่ เนื่องจากว่าเขาเป็นผู้ควบคุมการทำงานของรถ ในกรณีเหตุการณ์ที่โฟล์คสวาเกน ผู้ที่มีพฤติกรรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ก็คือตัวหุ่นยนต์เอง ดังนั้นผู้ที่ควรรับผิดก็ควรเป็นหุ่นยนต์มากกว่าพนักงานที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ อย่างไรก็ดีแนวคิดนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน แต่สิ่งสำคัญ คือ โอกาสที่หุ่นยนต์จะเป็นผู้ทำผิดนั้นก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ในอนาคตอันใกล้ โอกาสที่เราจะทำงานใกล้ชิดกับหุ่นยนต์ มีมากขึ้น เราอาจหวาดกลัวกับการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์และปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา เช่น กลัวว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน กลัวว่าจะเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของหุ่นยนต์ กลัวว่ากฎหมายจะไม่สามารถป้องกันและเอาผิดกับความผิดพลาดนั้น บทความในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็กล่าวถึงเรื่องของหุ่นยนต์และเครื่องจักร ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกในระยะเวลาอันใกล้ คงจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงการทบทวนกำหนดกฎหมายที่สอดคล้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21

แหล่งที่มา:http://religiondispatches.org/robot-kills-a-worker-in-germany-whos-to-blame/




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ