เราทุกคนล้วนใช้สมองคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องราวมากมายในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องในอดีตที่อยู่ในความทรงจำ หรือความผิดหวังที่อยากลืมเลือน ภาพในอนาคต ที่อยากเห็น หรือความกลัวในสิ่งที่กำลังจะเจอ ซึ่งในบางช่วงเวลา ถ้าเราคิดเรื่องราวที่ทำให้ มีความสุข ก็จะรู้สึกกระฉับกระเฉง และกระตือรือร้นที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจก็ส่งผลให้รู้สึกห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวแรงที่จะก้าวไปข้างหน้า
จึงอาจกล่าวได้ว่า ความคิดส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด และระดับการเต้นของหัวใจ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อน และกระตุ้นให้เกิดพลังที่จะแสดงออก แต่เรามักมีอุปสรรคในการคิดจากการสะสมข้อมูลที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และการเลือกนำข้อมูลมาใช้โดยพิจารณาถึงเหตุและผลหรือความรู้สึกเยอะเกินไป จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้นเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดระเบียบการคิดให้พร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ “การคิดต่าง และสร้างใหม่”
เมื่อจะคิด ก็ต้องมีเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น คิดจะแก้ปัญหา ย่อมต้องรู้สาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไข หรือคิดจะตัดสินใจในเรื่องใด ก็ต้องการตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เป็นต้น แต่ผลลัพธ์ของการคิดอาจไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เพราะขาดวัตถุดิบในการคิดที่มีคุณภาพ ได้แก่ ข้อมูลไม่ถูกต้อง ประสบการณ์ และความรู้ไม่เพียงพอ รวมถึง ขาดวิจารณญาณในการกลั่นกรองทั้งด้วยเหตุผลและความรู้สึกส่วนตัว นอกจากนี้ปริมาณของวัตถุดิบที่มากเกิน ความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับ เป้าหมาย ก็ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนไป
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องจัด ระบบการคิดอย่างมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การเก็บรวบรวมวัตถุดิบให้มากพอ การแยกแยะวัตถุดิบที่ไม่ตรงกับความต้องการ และจัดหมวดหมู่ของวัตถุดิบให้นำไปวิเคราะห์ได้ง่ายและถูกต้อง ก่อนจะได้มา ซึ่งแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นระบบการคิด จะช่วยให้เราใช้สมองอย่างมีประสิทธิภาพและเหลือที่ว่างมากพอที่จะ “คิดอย่างเป็นระบบ ครบทุกประเด็น” เพื่อให้ เกิดประสิทธิผลสูงสุด
“มีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด” เป็นคำสอนที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการคิด ทำให้ไม่สามารถนำเสนอแนวทางที่เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมวัตถุดิบที่อาจเน้นข้อเท็จจริงอย่างเดียว จนทำให้ปฏิบัติในแนวทางเดิมๆ จนขาดการสร้างสรรค์ เช่น ปลูกผักต้องใช้ดินเท่านั้น ก็คงไม่มี ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น หรือการเน้นแต่รายละเอียดที่ยังมาไม่ถึง หรือเรื่องราวในจินตนาการ ก็จะทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ แต่อาจไม่ได้รับการเชื่อถือ เช่น การผลิตขนมจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะทานได้จริง เป็นต้น
ขั้นตอนถัดมาในการแยกแยะวัตถุดิบ ถ้าใช้เหตุและผลเท่านั้น อาจทำให้ละเลยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เช่น การนำเสนอข่าวร้าย เพื่อต้องการเตือนภัย แต่อาจลืมคำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจของคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เป็นต้น หรือใช้ความรู้สึกตัดสิน ก็อาจละเลยความ ถูกต้อง เช่น นักเรียนลอกการบ้าน แต่ไม่ถูกลงโทษ เพราะเป็นเด็กน่าสงสาร เป็นต้น ซึ่งทั้ง ขั้นตอนการเก็บรวบรวมและแยกแยะวัตถุดิบจะทำให้ขั้นตอนการจัดกลุ่มขาดประเด็นที่ หลากหลาย ส่งผลให้การวิเคราะห์ได้แนวทางที่ไม่ครอบคลุมในทุกประเด็น และไม่สามารถระบุลำดับความสำคัญที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลให้ “การคิดไม่เป็นระบบ” เปรียบเสมือน มีงานล้นมือ แต่เลือกทำงานที่ชอบก่อนงานที่ต้องทำ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อการดำเนินงานทั้งระบบ
“การจัดทำแผนการปฏิบัติงาน” หรือ TO DO LIST เป็นรูปแบบการนำทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ มาระบุรายการงานทั้งหมดที่จะต้องทำในแต่ละช่วงเวลา และพิจารณาลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งต้องมองจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมของการดำเนินงาน ดังนั้น “การคิดเป็นระบบ ช่วยทำให้เราทำงานอย่างมีแบบแผน”
“การมองภาพใหญ่ การมองจากที่สูง หรือการมองในมุมกว้าง” เป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธ์ขององค์กรที่ต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ในระบบธุรกิจอย่างครบถ้วน เพื่อให้สามารถ มองเห็นโอกาส และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น และสามารถกำหนดแนวทางต่างๆ ในการดำเนินงาน ที่จะสร้างผลประโยชน์จากการแข่งขันได้อย่างชัดเจน ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องใช้ทักษะ “การคิดให้เป็นระบบ” เป็นพื้นฐานสำคัญ
โดยการระบุเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งในด้านบวกและด้านลบอย่างชัดเจนภายในสถานการณ์ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ เช่น การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนทำให้คู่แข่งจากต่างชาติเพิ่มขึ้น แรงงานจะขาดแคลน ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น หรือโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเมื่อมองทั้งระบบของการเปิดเสรีทางการค้า องค์การอาจได้รับผลกระทบจากเรื่องแรงงานเป็นอันดับแรก รองลงมาคือราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวทำให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคิดให้เป็นระบบ ยังทำให้เห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมขององค์กร จากการประเมินประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบธุรกิจอย่างครบถ้วน เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลเกี่ยวข้องกับระบบ การให้บริการสุขภาพ ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาโรค การส่งเสริมสุขอนามัย การติดตามดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น ทำให้เห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลสามารถนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในประเด็นการติดตามดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำเสนอแอพพลิเคชั่นบนมือถือในการติดตามดูแลสุขภาพผู้ใช้บริการ โดยการแจ้งผลการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณน้ำตาล หรือน้ำหนัก อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทักษะ “การคิดให้เป็นระบบ” นำไปสู่ “การสร้างองค์กรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม จะคิดให้เป็นระบบ ก็ต้องเริ่มจากจัดระบบการคิดให้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และนำวัตถุดิบการคิดมาใช้อย่างเหมาะสมในแต่ละขั้นตอน ซึ่งในการฝึกอบรมเชิงรุก ผู้เรียน จะได้รับการสอนและฝึกให้จัดระบบการคิด ก่อนการเข้าสู่บทเรียนต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาที่ได้รับการถ่ายทอด ไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ที่มีบริบทแตกต่างกัน
ที่มา : คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557