เมื่อเร็ว ๆ นี้มีบทความชิ้นเล็ก ๆ ที่น่าสนใจของ BBC เกี่ยวกับเด็กชายวัย 10 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในเมือง Ashland, รัฐ Oregon สหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมจนเป็นผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง
เรื่องราวเริ่มต้นที่แม่ของ Charlie ให้ดูวิดีโอใน You Tube เป็นสารคดีสั้น ๆ เกี่ยวกับฝูงนกที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาด บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือซึ่งนอนตายกันเกลื่อนกลาดเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป ซากนกที่เน่าเปื่อย เห็นภายในกระเพาะอาหารอัดแน่นด้วยขยะพลาสติก เป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจให้สองแม่ลูกเป็นอันมาก ด้วยคำถามเชิงรำพึงจากแม่ว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ทำให้เด็กชายเริ่มต้นคิดถึงการลดการใช้ภาชนะพลาสติกในโรงเรียนของเขา โดยการเขียนจดหมายถึงหัวหน้าฝ่ายจัดการโรงอาหารให้เปลี่ยนภาชนะที่ใช้แล้วทิ้งซึ่งเป็นพลาสติกมาใช้ภาชนะโลหะ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่เมื่อหัวหน้าฝ่ายจัดการฯ ตอบจดหมายเขาว่าโรงอาหารสามารถทำได้ แต่เด็กนักเรียนเองนั่นแหละที่เคยชินกับการใช้แล้วทิ้ง หากเป็นเช่นนั้นการเปลี่ยนเป็นภาชนะโลหะก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้น Charlie DeSalvo จึงไปที่สภานักเรียนเพื่อนำเสนอในเรื่องนี้ เด็ก ๆ ร่วมมือกันไปคุยกับผู้บริหารโรงเรียน พร้อมกับนำถังขยะที่เต็มไปด้วยภาชนะพลาสติกไปให้ดู เมื่อทางโรงเรียนเห็นว่าเด็ก ๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง โรงเรียนก็ยินดีที่จะทำตามข้อเสนอนั้น
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรได้บ้าง
เมื่อพูดถึง CSR หลายคนจะคิดไปถึงการทำกิจกรรมที่มีเงินเป็นตัวตั้ง หากถามต่อไปว่ากิจกรรมใหญ่ ๆ ที่ผ่านมานั้น สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อสังคมได้บ้าง และถ้าไม่มีงบประมาณสนับสนุน คนขององค์กรนั้นยังคงเดินหน้าทำกันต่อไปด้วยตนเองหรือไม่ ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างที่ประชาสัมพันธ์เอาไว้
ในกระบวนการของ CSR นั้นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในกระบวนการก็คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
รูปธรรมก็คือสิ่งที่จับต้องได้และมองเห็นได้ เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ มีกระบวนการจัดการของเสียที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการสร้างความตระหนัก ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในองค์กรไปพร้อมกัน
ทำไมเด็กชายชาลีเมื่อได้เห็นวิดีโอชุดนั้นจึงรู้สึกทันทีว่าต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่างแล้ว ขณะที่ใครหลายคนที่ได้ชมวิดีโอชุดนี้ไม่เคยคิดว่าจะทำอะไร
การสร้างปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบจึงต้องทำพร้อมกับการสร้างความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ด้วย ทำให้คนกล้าคิด กล้าทำ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อองค์กรในอีกหลาย ๆ ด้าน เพราะองค์กรที่มีคนกล้าเปลี่ยนแปลงก็คือองค์กรที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา
ระบบการศึกษาของตะวันตกสอนให้เด็กของเขาเป็นเช่นนั้น แม้ว่าของเราจะไม่ใช่ แต่องค์กรก็ยังสามารถสร้างได้
การทำ CSR ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีวันที่จะไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง นั่นคือการร่วมมือกันฟื้นฟูโลกใบนี้ให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุขด้วยการเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เริ่มจากมือเล็ก ๆ ในองค์กรแต่ละองค์กรที่มารวมกัน แล้วคงสักวันโลกจะต้องเปลี่ยนแปลง
ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2557