17 June 2015

StoryTelling

“พวกเราไม่ใช่ส่วนเล็ก ๆ ในความสำเร็จที่เกิดขึ้นขององค์กร แต่องค์กรต่างหากที่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่มีโอกาสได้สนับสนุนให้พวกเราประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวัง จงภูมิใจในความรู้และความสามารถที่พวกเราได้ทุ่มเท ล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรจะจดจำและถ่ายทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น”

ถ้อยคำสั้น ๆ ที่บ่งบอกความชื่นชมในตัวพนักงานที่ร่วมกันสร้างผลการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย ซึ่งจะกลายเป็นพลังใจที่ยิ่งใหญ่ขับเคลื่อนให้พนักงานเกิดพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะสื่อเรื่องราวไปสู่ผู้รับสารให้เกิดความเข้าใจและแปลเจตจำนงตรงตามความต้องการของผู้ส่งสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผู้รับสารทั้งทางความคิดและจิตใจ ดังนั้น “เรื่องราวดี ๆ ของใครคนหนึ่งจึงอาจเป็นเพียงข้อมูลที่ทุกคนรับรู้ โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากพลังเชิงบวกที่ซ่อนอยู่ภายใน

การเล่าเรื่อง (Storytelling) จึงเป็นทักษะที่ถูกนำมาช่วยพัฒนาความสามารถของผู้นำในการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากผู้เล่าต้องสามารถถ่ายทอดรายละเอียดให้ผู้ฟังเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เกิดการเข้าใจประเด็นที่ต้องการนำเสนออย่างถูกต้อง ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องมีหลากหลายรูปแบบ แต่มีวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างกัน คือ สร้างความน่าสนใจ  ง่ายต่อการจดจำ สร้างอารมณ์ร่วม ทำให้เกิดการคิด ติดตาม ค้นหา และสร้างแรงบันดาลใจ

นิทาน” ที่เนื้อเรื่อง สั้นบ้าง ยาวบ้าง เป็นวิธีการถ่ายทอดจินตนาการของผู้เล่าผ่านการบรรยายรายละเอียดให้ผู้ฟังมองเห็นภาพการเชื่อมโยงกันของลำดับเหตุการณ์และตัวละครทำให้จดจำเรื่องราวได้ง่ายและเป็นเวลานาน อย่างที่คนรุ่นหนึ่งยังใช้นิทานอิสป หรือนิทานชาดก สั่งสอนลูกหลานอยู่เนือง ๆ

ชีวประวัติ” ทั้งบุคคลสำคัญ ผู้มีชื่อเสียง หรือมีความเป็นมาน่าสนใจ ซึ่งมักเป็นการผูกเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต โยงเข้ากับภาพความสำเร็จในปัจจุบัน หรือปูเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นความมุมานะ อดทน มุ่งมั่น และการพัฒนาตนเองจนบรรลุเป้าหมาย โดยชักนำผู้ฟังเสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นกำลังเพชิญอยู่ จนเกิดความเชื่อและยอมรับให้บุคคลนั้นกลายเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลในการดำเนินชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่ ประวัติเจ้าของธุรกิจที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจนประสบความสำเร็จ มักเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากได้ยินเมื่อกำลังใจใกล้หมด

บทเพลง” การร้อยเรียงเรื่องราว เล่าผ่านท่วงทำนอง ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สามารถดึงดูดผู้ฟังให้คล้อยตามจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อร้อง ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เน้นภาษาเข้าใจง่าย มีการลำดับเรื่องราวอย่างชัดเจนไม่เพียงสร้างภาพจินตนาการ แต่ยังสร้างความรู้สึกร่วม จากน้ำเสียงสูง ต่ำ หนัก เบา เสียงเอื้อนในบทเพลงไทยเดิม หรือการใช้ลูกคอในบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวที่ดำเนินไปในมิติของความช้า เร็ว สนุกสนาน เจ็บปวด ทรมาน อย่างที่เรียกว่าบาดลึกถึงหัวใจข้างซ้าย ดังรายการโทรทัศน์ “ตัวจริง เสียงจริง” ที่โด่งดังด้วยการคัดเลือกนักร้องเสียงดีจากการฟังน้ำเสียงและวิธีการร้องเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเดียวกัน ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

การเล่าข่าว” เป็นการถ่ายทอดข่าว ให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ เน้นให้เห็นประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในข่าว มีการวางโครงเรื่องให้มีความน่าสนใจและสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเหตุการณ์ จนผู้ฟังต้องติดตามหาคำตอบจนจบข่าว อย่างไรก็ตามการเล่าข่าวต้องอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ให้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังมากยิ่งขึ้น การเล่าข่าวจึงสร้างอัตรส ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวผู้ฟัง

บทภาพยนตร์” หรือบทละคร ใช้นักแสดง หรือตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่อง โดยเน้นการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทาง และกระตุ้นผู้ชมให้สวมบทบาทเป็นตัวละครนั้น ๆ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้รู้สึกร่วมอยู่ในเหตุการณ์ จนบางครั้งผู้ชมแสดงความไม่พอใจในการตัดสินใจของตัวละครที่ไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองคิด ดังนั้นหากบทบาทมีความชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายก็จะส่งผลให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้น จนจบ

แม้รูปแบบการเล่าเรื่องจะมีหลากหลายแต่ก็ต้องเริ่มต้นให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมกับเนื้อเรื่อง ด้วยการสร้างความรู้สึก“ว้าว” ตื่นเต้น หรือหวาดกลัว “จากนั้นผู้เล่าวางโครงเรื่อง โดยถามตัวเองถึง ประเด็นหลักที่ต้องการสื่อสารคืออะไร หรือผลลัพธ์ของเรื่องที่เล่าคืออะไร และจะต้องทำให้ผู้ฟังเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต่อมาจึงอธิบายรายละเอียด รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อบรรยายประเด็นหลักให้เกิดความชัดเจน ดังเช่นสุนทรพจน์ของ่ทานผู้นำ “ถ้าดูในวีทีอาร์จะเห็นแววตาของเด็ก เห็นไหม เป็นแววตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ แล้วเขาต้องการอะไร เขาต้องการที่จะมีอนาคตที่ดีต่อไปในวันข้างหน้าใช่ไหมครับ ถ้าเราลองนึกไปถึงคนอีกประเภทหนึ่งคือชาวไร่ชาวนา เห็นหน้าตาเหี่ยวย่น บางคนอายุไม่เท่าไร เรียกเขาป้า ๆ เขาบอกดิฉันอายุ 40 กว่าเอง แต่หน้าเขาแก่หน้าเขาเหี่ยวย่นเพราะเขาตรากตรำ ริ้วรอยแห่งชีวิตเขามีความยากลำบากมหาศาล เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นแรงกดดันกับสังคมด้วย แล้วก็กับรัฐบาลด้วย” โดยประเด็นหลักคือ ท่านผู้นำ ต้องการให้ทุกคนเข้าใจภาระหน้าที่สำคัญของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้มีชีวิตที่ดี

ดังนั้นผู้นำต้องฝึกฝน เล่า…ให้เป็นเรื่อง ที่ทีมงานเกิดความรู้สึกร่วม เกิดแรงบรรดาลใจให้ทีมงานมุ่งมั่นที่จะทำงานไปสู่เป้าหมาย เกิดแรงผลักดันให้ทีมงานคิดหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ หรือเกิดความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่แม้เป็นเพียงภาพในอนาคต แต่หากผู้นำคิดเพียงแค่เล่าเรื่องคั่นเวลา อาจกลายเป็นการ เล่า…จนได้เรื่อง

 

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2557




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ